วัดพระธาตุลำปางหลวง โดย คุณ moofight ถ่ายราวๆปี 2551 ภาพจาก http://www.pixpros.net/forums/showthread.php?t=25898

Sunday, June 22, 2008

free copy ลำปาง บ่งบอกความมีอะไรในสังคม


พริบตา ฉบับที่ 1 พฤษภาคม-มิถุนายน 2551 : ศักดิ์สิทธิ์ คำหลวง, บรรณาธิการบริหาร


ซะป๊ะแม็กกาซีน ปีที่1 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2551 : ศรัณย์ ปันทะโชติ, บรรณาธิการบริหาร


STEP magazine Vol.1 Issue 4 June 2008 : พงศ์นรินทร์ สุวรรณวัฒน์, บรรณาธิการบริหาร

การบริโภคสื่อที่หลากหลายของคนลำปาง เป็นที่ตั้งข้อสังเกตมานาน หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในลำปางมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 5 ตอนนี้อีกกระแสหนึ่งที่กำลังตามมาก็คือ นิตยสารแจกฟรี

ก่อนหน้านี้มิใช่ว่าจะไม่มีเอาเสียเลย แต่ที่มีทิศทางทางการตลาด และกลุ่มเป้าหมายชัดเจนพึ่งมาแจ่มชัดในช่วงนี้สอดคล้องกับการขยายตัวการบริโภคสินค้าและการใช้บริการที่หลากหลายมากขึ้น

เท่าที่สังเกตเห็น ตอนนี้มีอยู่ 3 นิตยสารที่แจกกระจายไปทั่วเมืองลำปางได้แก่ ซะป๊ะแม็กกาซีน, STEP และ พริบตา

แต่ละเล่มก็มีคาแรคเตอร์ที่แตกต่างกันไป
-ซะป๊ะฯ ก็รวมสรรพะ เปรียบเสมือนแกงโฮะที่ใส่ทุกอย่างที่จะทำได้ลงไป คล้ายกับเป็น สมุดหน้าเหลืองที่มีภาพประกอบ ด้วยความอัดแน่นของโฆษณาทำให้นิตยสารเล่มนี้เป็นสี่สีทั้งเล่ม ขนาดใหญ่เกือบ กระดาษเอสามได้ ฐานของลูกค้ามีกว้างมาก ล่าสุดก็ออกหนังสือพิมพ์ในเครือชื่อว่า เขลางค์โพสต์ มีสาระหลากหลาย ถือเป็นผู้อาวุโสที่สุดในสิ่งพิมพ์ทั้งสามเล่ม อย่างน้อยก็ผลิตผลงานออกมาได้ข้ามปีแล้ว

-STEP
นิตยสารที่มีบุคลิกของคนรุ่นใหม่ แต่ก็ยังมีสาระความรู้เบาๆ น่าจะเจาะตลาดวัยรุ่นและวัยเริ่มต้นทำงานได้ไม่ยาก หากเปรียบกันกับนิตยสารระดับชาติ ก็คงอยู่ในอารมณ์ของ A DAY หรือ ไปในแนวของ Compass หรือ HIP นิตยสาร free copy ที่เชียงใหม่ ขนาดกระดาษอยู่ที่ เอสี่ มีต้นทุนที่สำคัญคือ โรงพิมพ์ลำปางบรรณากิจพริ้นติ้ง เป็นแบ็คอัพ ขณะที่เนื้อโฆษณาภายในก็เริ่มสอดไส้ส่วนลดร้านอาหารต่างๆ เพื่อจูงใจลูกค้า ได้อย่างไม่ขาดไม่เกิน

-พริบตา
เป็นนิตยสารที่บางเฉียบที่สุดหากเทียบกัน แต่ในทางตรงกันข้าม เนื้อหาค่อนข้างหนักแน่น เน้นไปทาง design และ Brand Marketing ความเคร่งขรึม ครุ่นคิดของบรรณาธิการ ทำให้เรานึกถึงตำนานหนังสืออย่าง OPEN ที่ปิดตัวการเป็นนิตยสารไปแล้ว แต่ก็เดินหน้าไปด้วยความเป็นสำนักพิมพ์ ตีพิมพ์ผลงานที่เข้มมาอย่างสม่ำเสมอ พริบตามีขนาดมาตรฐานเอสี่เช่นเดียวกัน แต่จะสังเกตว่ามีชื่อ GRAM อยู่ด้วยเนื่องจากว่า บรรณาธิการคนเดียวกัน ต้องการใช้เลขมาตรฐาน ISSN เดิมจึงใช้หัวหนังสือเดิมควบคู่ไปด้วยกัน และที่แตกต่างคือ เป็นนิตยสารรายสองเดือน ขณะที่ทั้งสองเล่มบนออกรายเดือน

ความคึกคักและเติบโตของนิตยสารเหล่านี้ก็เป็นหมุดหมายที่ทำให้เราเห็นว่าลำปางเติบโตขึ้น และมีการผลิต และการบุกเบิกธุรกิจที่หลากหลายและกว้างขวางขึ้น

นับเป็นนิมิตหมายอันดีมิใช่หรือ...
.......
ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง


อาทิตย์ 22
มิถุนา 51

บ้านไหล่หิน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แรงงาน ภาพถ่าย และความทรงจำ


ป้ายนิทรรศการ "หยาดเหงื่อแรงงานของคนไหล่หิน"


ป้ายนิทรรศการ "จากไหล่หินสู่แดนไกล"


ภาพลูกชายอายุ 4 ขวบถ่ายที่วัดไหล่หิน พร้อมจดหมายเขียนว่า
"น้องตั้มถ่ายที่วัดไหล่หินหลวง มอบให้พ่อ ยามคิดถึง น้องตั้ม อายุครบ 4 ปี"


ความจริงแล้ว บ้านไหล่หิน มีประสบการณ์การทำงานทางด้านศิลปวัฒนธรรมที่โชกโชนไม่น้อยไปกว่าบ้านปงสนุกเลย โดยเฉพาะในระยะหลังที่มีการร่วมมือกับนักวิจัยของ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ที่มาร่วมกับชาวบ้านและเครือข่ายทำงานวิจัยเกี่ยวกับการทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโดยการมีส่วนร่วมคิด และจัดการกับคนในท้องถิ่น โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์วัดไหล่หินหลวงที่ร่วมกันพัฒนามาตั้งแต่พ.ศ.2548

โดยเครือข่ายนี้มีทั้งผลการวิจัยที่เป็นเอกสาร และการวิจัยเชิงปฏิบัติการที่ได้รับการนำเสนอสู่เวทีวิชาการระดับชาติเป็นระยะ

ล่าสุด ได้มีการจัดกิจกรรมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นผ่านภาพถ่าย ที่เล่าเรื่องการทำงานต่างแดนของคนไหล่หิน สัก 20 ปีที่ผ่านมาแล้ว (เมื่อราวทศวรรษที่ 2530) ณ ที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน ตะวันออกกลาง หรือที่ใดๆในโลก ซึ่งเขาเหล่านั้นก็จะมีเอกสารที่เป็นภาพถ่าย จดหมายที่เขียนถึงคนรัก ไม่ว่าจะเป็นภรรยา หรือลูกหลาน ในประวัติศาสตร์เหล่านั้นยังมีเรื่องราวเล็กๆของการพบรักกันในต่างแดนอีกด้วย

การเล่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นดังกล่าวในระยะเวลาไม่ไกลตัวนัก แต่กลับสร้างสำนึกที่ผูกพันกับท้องถิ่นได้ชัดเจนเงินที่ส่งมาที่บ้าน ส่วนหนึ่งได้ทำการบูรณะวัดไหล่หินที่พวกเขาเคารพรักศรัทธา ส่วนหนึ่งคือ ซื้อไร่นาที่ดินซื้อรถ ใช้หนี้ ส่งลูกเรียน ปลูกบ้าน มีเงินเก็บไว้ให้ลูกหลาน

นิทรรศการที่พวกเขาได้ร่วมกันจัดแสดงมีชื่อต่างๆดังนี้
"ทำไมต้องไปเมืองนอก"
"จากไหล่หินสู่แดนไกล"
"หนักเอาเบาสู้"
"จดหมายถึงบ้าน-จดหมายจากบ้าน"
"กินอยู่อย่างไรในเมืองนอก"
"หยาดเหงื่อแรงงานของคนไหล่หิน"


ข้อความที่ทิ้งท้ายในนิทรรศการ ได้สรุปให้รวบยอดให้เห็นอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างดีว่า
"...ถึงจะไปนอก ถ้าทางบ้านไม่เก็บเงิน เงินก็ไม่เหลือเหมือนกัน"

ที่กล่าวมานั้น ถูกเล่าอยู่ในบทความชื่อว่า "ภาพถ่าย : จดหมายเหตุชาวบ้าน" โดย นวลพรรณ บุญพรรณ และจุฑามาศ ลิ้มรัตนพันธ์ ใน จดหมายข่าวสมาคมจดหมายเหตุไทย ฉบับที่4 ต.ค.2550-ก.ย.2551 หน้า 25-42

ตัวอย่างนี้ทำให้เห็นว่า แท้จริงแล้วประวัติศาสตร์อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด ประวัติศาสตร์คือการร่วมกันเขียนความทรงจำร่วมกันของสังคมหนึ่งๆ เพื่อเรียนรู้รากเหง้าของตน มิใช่ว่าเป็นเพียงประวัติคนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจอย่างเดียว ซึ่งประวัติศาสตร์เช่นนี้จะเป็นการสร้างความหมายร่วมกันของคนในสังคม และระหว่างสังคมต่างๆได้อย่างสลับซับซ้อนมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
.......
ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง


อาทิตย์ 22
มิถุนา 51

เปิดตัวเซรามิกประดับข่วงนครลำปาง


ต้นแบบของประติมากรรมเซรามิกตามข่าว(?)
ภาพจาก
http://www.lampangcity.go.th/detail_news_infomation.php?id=1089


ดร.นิมิตร จิวะสันติการ นายกเทศมนตรีนครลำปาง แถลงข่าว รายงานความคืบหน้าโครงการข่วงนคร และเปิดตัวประติมากรรมเซรามิก ณ ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ภาพจาก http://www.lampangcity.go.th/detail_news_infomation.php?id=1089

เทศบาลนครลำปาง เปิดตัวงานประติมากรรมเซรามิกของข่วงนครลำปาง เน้นเอกลักษณ์เครื่องปั้นของลำปาง
18 มิถุนายน 2551 / 15:29:22
โดย สำนักงานประชาสัมพันธ์ เขต 3 เชียงใหม่
ที่มา :
http://www.lampang.prdnorth.in.th/ct/news/viewnews.php?ID=080618152922

เทศบาลนครลำปางเปิดตัวงานประติมากรรมเซรามิกของข่วงเมือง เทศบาลนครลำปางที่จะตั้งไว้บริเวณหน้าหอเกียรติยศ เทศบาลนครลำปาง เป็นรูปผสมผสานของเครื่องปั้นชาวลำปาง ดร. นิมิตร จิวสันติการ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครลำปาง แถลงข่าวเปิดตัวงานประติมากรรมเซรามิกที่จะจัดสร้างว่า อยู่ระหว่างก่อสร้าง โดยให้ชื่อผลงานว่า ความเคลื่อนไหว ซึ่งแนวความคิดมาจากการคลี่คลายของเส้นสาย รูปทรง ปริมาตร และผิวสี จากภาชนะดินเผาที่อยู่ในวิถีชีวิตของชาวลำปางจากอดีตสู่ปัจจุบัน

เป็นผลงานการออกแบบของ นายจงรักษ์ จิวกิตติศักดิ์กุล ซึ่งเป็นกลุ่มสล่าเขลางค์โดยแนวทางการออกแบบนั้น เน้นที่เป็นประติมากรรมเซรามิก เป็นงานร่วมสมัย และนำเอาจุดเด่นอันเป็นเอกลักษณ์ในด้านเครื่องปั้นเซรามิกที่มีอยู่ในคำขวัญของจังหวัด คือ “เครื่องปั้นลือนาม” ผสมผสานเครื่องปั้นแต่ละท้องถิ่นที่มีชื่อ ได้แก่

น้ำต้นบ้านไหล่หิน
หม้อน้ำบ้านม่อนเขาแก้ว
และบ้านบ่อแฮ้ว

ส่วนชามเซรามิกในภาคอุตสาหกรรมของจังหวัด และคำนึงถึงสถานที่ตั้งของงานประติมากรรมที่สามารถมองเห็นในทุกด้านของถนนบริเวณห้าแยกข่วงนคร

ทั้งนี้ การจัดทำประติมากรรมดังกล่าว ได้ใช้พื้นที่ของศูนย์หัตถกรรมเครื่องเคลือบดินเผาในการจัดสร้างแต่ละชิ้นส่วน เพื่อให้มีขนาดชิ้นงานที่สามารถใช้กับเตาเผาเซรามิกที่มีอยู่แล้ว และจะนำมาประกอบกันทีหลัง ซึ่งประติมากรรมดังกล่าว มีความสูงจากพื้นประมาณ 3.5 เมตร น้ำหนักประมาณ 4 ตัน

ข่าวโดย : เสน่ห์ เชียงลา สวท.ลำปาง
หน่วยงาน : สวท.ลำปาง

....................
*หมายเหตุ จงรักษ์ จิวกิตติศักดิ์กุล เป็นสถาปนิกและศิลปินที่มีผลงานเซรามิก มีประสบการณ์จัดแสดงร่วมกับกลุ่มศิลปิน "สล่าเขลางค์"

ประวัติการแสดงผลงาน รางวัล เกียรติยศ
2544 ร่วมแสดงนิทรรศการศิลปกรรม กลุ่มสล่าเขลางค์ ครั้งที่ 1 ณ หอศิลป์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง
2544 ถึงปัจจุบัน ร่วมแสดงนิทรรศการเซรามิกภาคเหนือ เซรามิกแฟร์ลำปาง
2545 ร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการ เทคนิคการใช้วัตถุดิบที่มีเหล็กออกไซด์สูง ในการผลิตเซรามิก ณ ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผา ลำปาง2546 -ร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการ การวิจัยและพัฒนาเพื่อฟื้นฟูเครื่องเคลือบดินเผา ในแหล่งเตาล้านนา ณ ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผา จ.ลำปาง
-ร่วมแสดงนิทรรศการศิลปกรรม ปอยครูศิลป์ แผ่นดินล้านนาครั้งที่ 2 จ.แพร่
-ร่วมแสดงนิทรรศการศิลปกรรม ฮอมแฮงแป๋งข่วงเวียงละกอน กลุ่มสล่าเขลางค์ ณ หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง (ศาลากลางเก่า)
2547 ร่วมแสดงนิทรรศการศิลปกรรม ปอยครูศิลป์ แผ่นดินล้านนา ครั้งที่ 3 จ.อุตรดิตถ์
2548 ร่วมแสดงนิทรรศการศิลปกรรม ครูศิลป์ แผ่นดินล้านนา ครั้งที่ 4 ณ หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง (ศาลากลางเก่า) จ.ลำปาง

ข้อมูลจาก สูจิบัตร นิทรรศการศิลปกรรม ครูศิลป์ แผ่นดินล้านนา ครั้งที่ 4 / 21 มกราคม - 21 กุมภาพันธ์ 2548 ณ หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง จังหวัดลำปาง
.......
ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง


อาทิตย์ 22
มิถุนา 51

ลำปางคว้า 3 รางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมฯระดับชาติ ในปี51 นี้


วิหารวัดบ้านก่อ อ.วังเหนือ


จิตรกรรมฝาผนังภายในที่ได้รับการบูรณะ ภาพจาก บัตรเชิญ พิธีทำบุญสืบชะตาและฉลองโครงการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังวัดบ้านก่อ บูรณะโดยกลุ่มหน่อศิลป์ และคณะวิจิตรศิลป์ มช. และได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเอกอัครราชทูตเพื่อการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมของสหรัฐอเมริกา


อาคารฟองหลี กาดกองต้า บูรณะโดยเจ้าของคนปัจจุบัน กิติศักดิ์ เฮงษฎีกุล


อาคารหม่องหง่วยสิ่น กาดกองต้า ได้รับรางวัล และได้รับคำชื่นชมจาก น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุลชาฎะ) ว่าเป็น "อาคารขนมปังขิงริมถนนที่งดงามที่สุดในประเทศไทย" เมื่อพ.ศ.2531 ในหนังสือแบบแผนบ้านเรือนในสยาม นอกจากนั้นอาคารนี้ยังถือเป็นจุดเด่นสำคัญของอาคารเก่าในย่านกาดกองต้านี้ด้วย


รางวัลจากคณะกรรมาธิการสถาปนิกล้านนา ที่มอบให้อาคารหม่องหง่วยสิ่น ปีพ.ศ.2550

มีข่าวแจ้งมาอย่างไม่เป็นทางการว่าในปีนี้ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้คัดเลือกอาคารสถาปัตยกรรมในลำปาง จำนวน 3 แห่งให้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ดังต่อไปนี้
กลุ่มอาคารบริเวณกาดกองต้า ประเภทชุมชน
อาคารฟองหลี กาดกองต้า ประเภทอาคารพาณิชย์
วิหารวัดบ้านก่อ อ.วังเหนือ ประเภท ปูชนียสถานและวัดวาอาราม
ดูรายละเอียดเกี่ยวกับวัดบ้านก่อได้ใน link ดังนี้
วัดบ้านก่อ วังเหนือ จิตรกรรมข้ามฟ้า ความภูมิใจของคนลำปาง
ความงดงามของ วัดบ้านก่อ "ช้างเผือกเมืองลำปาง"
เก็บภาพงานวัดบ้านก่อ วังเหนือมาฝาก

นอกจากนั้นหากเราย้อนหลังไปในปี 2550 อาคารหม่องหง่วยสิ่น กาดกองต้า ก็ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรม ดีเด่น ประจำปี 2550 ประเภท "อาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมล้านนา"เรือนแถว 5 คูหา ขนมปังขิง แถวตลาดจีน จากงาน "สถาปนิกล้านนา ต้นกล้า สถาปัตย์ล้านนา 50" วันที่ 15-18 พฤศจิกายน 2550 โดย กรรมาธิการสถาปนิกล้านนา
.......
ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง


อาทิตย์ 22
มิถุนา 51

เผยโฉมหนังสือ ผลสำรวจขุดค้นเพื่อบูรณะ "ประตูม่า"


ปกหนังสือ ในขนาดเอ 4 พิมพ์สี่สี จำนวน 168 หน้า ไม่รวมปก

หลังจากที่มีการขุดค้น ขุดแต่งเพื่อทำการบูรณะประตูม้าเป็นเวลาปีกว่าๆ แล้วเทศบาลนครลำปาง ก็ร่วมกับสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน ทำหนังสือรายงานการขุดค้น ขุดแต่ง และศึกษาชั้นวัฒนธรรมทางโบราณคดี

เนื้อหาโดยสรุป

แม้ตำนานจะระบุว่าเมืองเขลางค์เก่าแก่ถึงพุทธศตวรรษที่ 13 แต่การขุดแต่งค้นพบว่ากำแพงเมืองน่าจะสร้างครั้งแรกก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 หลังจากนั้นมีบูรณะใหญ่อีก 2 ครั้ง

ซึ่งเดิมกำแพงเมืองมีลักษณะคันดินมีระเนียด แล้วเปลี่ยนเป็นกำแพงดินที่มีการก่ออิฐทับ ที่น่าจะเกิดขึ้นช่วงที่เมืองมีความสำคัญกับล้านนามากขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21

มีการสันนิษฐานว่า ขนาดกำแพงเมืองมีมิติดังนี้
ความกว้างรวมฐานใบเสมาประมาณ 4.30 เมตร
ความหนาของฐานใบเสมาประมาณ 1.10 เมตร
ความสูงจากพื้นผิวถนนปัจจุบันถึงพื้นผิวเชิงเทินประมาณ 5 เมตร
ขนาดอิฐกว้าง 16-19 ซม. ยาว 27-34 ซม. หนา 3-6 ซม.

สารบัญ
บทที่1 สภาพภูมิศาสตร์
บทที่2 โบราณคดีและประวัติศาสตร์เมืองลำปาง
บทที่3 การขุดแต่งกำแพงเมืองในบริเวรณประตูม่า
บทที่4 โบราณวัตถุที่พบจากการขุดแต่งกำแพงเมือง
บทที่5 สรุป : การขุดตรวจทางโบราณคดีและกำแพงเมืองประตูม่า

รายละเอียดหนังสือ
รายงานการขุดค้นขุดแต่งและการศึกษาชั้นวัฒนธรรมทางโบราณคดีเขลางค์นคร
เลขมาตรฐาน ISBN :
978-974-458-193-8
ผู้เรียบเรียง : จตุพร เทียมทินกฤต, ธนธร เหลี่ยมวานิช, สาคร วงค์สมุทร
พิมพ์ครั้งที่1 กุมภาพันธ์ 2551 จำนวน 750 เล่ม
ผู้จัดพิมพ์ : เทศบาลนครลำปาง, สำนักงานศิลปากรที่ 7 น่าน
พิมพ์ที่ : สำนักพิมพ์มรดกล้านนา MaxxPRINT TM (แม็กซ์ปริ้นท์) ถ.ศิริมังคลาจารย์ ซ.สายน้ำผึ้ง ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
.......
ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง


อาทิตย์ 22
มิถุนา 51

เก็บตกบรรยากาศ แขกจากยูเนสโกเยี่ยมชมวัดปงสนุก


บางส่วนของนิทรรศการภายในศาลา


นิทรรศการภายในศาลาอีกมุมหนึ่ง แสดงก่อนและหลังการบูรณะวิหารพระเจ้าพันองค์


การบรรยายสรุปในวิหารหลวง วัดปงสนุกเหนือ โดย ผศ.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์

ชุมชนบ้านปงสนุก ยังคงแสดงศักยภาพความร่วมมือของชุมชน กับเครือข่ายภายนอกอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดผู้สื่อข่าว on Lampang : เปิดโลกลำปาง เก็บตกบรรยากาศ การเยี่ยมชมของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากยูเนสโก เมื่อวันที่ 4 มิถุนา ที่ผ่านมา ณ วัดปงสนุก มีการจัดนิทรรศการสรุปการดำเนินการที่ผ่านมา ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ

นอกจากนั้นก็ยังมีการบรรยายสรุป ดำเนินการต้อนรับโดยชุมชนบ้านปงสนุกและกลุ่มอาจารย์ที่ปรึกษา การดำเนินการดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นความสามารถ และโอกาสในการเชื่อมโยงและประสานงานกับหน่วยงานในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ข้ามไปถึงระดับนานาชาติ ความร่วมมือในลักษณะดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างยิ่งในความเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วในยุคสมัยนี้ ดังนั้น งานอนุรักษ์ก็มิใช่เพียงงานง่ายๆที่อาศัยมรดกและของเก่าเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงการต่อยอด และสานต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นใจด้วย
.......

ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง

อาทิตย์ 22
มิถุนา 51