วัดพระธาตุลำปางหลวง โดย คุณ moofight ถ่ายราวๆปี 2551 ภาพจาก http://www.pixpros.net/forums/showthread.php?t=25898

Thursday, December 27, 2007

"หนานทิพย์ช้าง วีรบุรุษแห่งเขลางค์นคร" การ์ตูนที่เอามาฝาก


ปกหน้า

ปกใน

"หนานทิพย์ช้าง วีรบุรุษแห่งเขลางค์นคร"
มีโอกาสเข้าอินเตอร์เน็ตเมื่อวาน ค้นหาข้อมุลบางอย่างแล้วไปเจอ การ์ตูนเล่มนี้โดยบังเอิญ
ข้อมูลหนังสือบอกเราว่า พึ่งวางจำหน่ายเมื่อ เดือนกรกฎาคม 2550 ที่ผ่านมานี้เอง
ผลิตโดย บริษัท อาทมาต ครีเอชั่น
http://www.arthamart.com/main.htm


ยังไม่ได้มีโอกาสเห็นหนังสือตัวจริง ตัวอย่างภายในเล่ม
เป็นการนำมาจากเว็บไซต์อีกทอดหนึ่ง คือ เว็บ Dbook
นำภาพตัวอย่างมาให้ชมก่อน ตั้งแต่ ปกหน้า-ปกใน-แนะนำตัวละคร-ภาพตัวอย่าง-บรรณานุกรม

ซึ่งตามท้องเรื่องแล้ว ของการ์ตูนอิงประวัติศาสตร์นี้ ประกอบดัวยตัวละครหลักๆก็คือ
1. หนานทิพย์ช้าง
2. ท่านสมภารวัดชมภู
3. พิมพา

แนะนำตัวละคร 1

4. ท่านสมภารวัดนายาง
5. เจ้าลิ้นก่าน (ตัวละครนี้บ้านเราเรียก ท้าวลิ้นก่าน ในการ์ตูนให้รับบทบาทเป็นเด็ก)
6. ท้าวมหายศ


แนะนำตัวละคร 2

โดยวิธีการเล่าเรื่องของการ์ตูนและเพื่ออรรถรสบางประการ
อาจมีความคลาดเคลื่อนไปทางประวัติศาสตร์บ้าง (ซึ่งเป็นปัญหา
ที่นิยาย ภาพยนตร์ ที่อิงกับประวัติศาสตร์ต่างประสบเช่นกัน
แต่อยู่ที่ว่าใครทำได้เนียน น่าเชื่อถือ ดูสมจริงไปกว่ากัน)
แต่คงมิใช่สาระที่จะกล่าวตรงนี้ ที่สำคัญน่าจะเป็น
การให้ความสำคัญกับ "จินตนาการ" เพื่อชักชวนผู้คนเดินทางเข้าสู่
ปริมณฑลทางประวัติศาสตร์ ในอีกทางหนึ่ง
ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่า โดยภาพตัวอย่าง ได้ทำให้เรารู้สึก
น่าค้นหา อยากรู้อยากเห็นมากขึ้นมิใช่น้อย...


หน้าตัวอย่าง 1

หน้าตัวอย่าง 2

หน้าตัวอย่าง 3

นานๆที ในประวัติศาสตร์แห่งชาติจะมี"พื้นที่"ให้คนอย่าง หนานทิพย์ช้าง
แม้จะเป็นเรื่องของ ชนชั้นนำในสังคมก็ตาม
ภายหน้ายังหวังที่จะมีการเล่าถึงคนตัวเล็กๆ ที่มีความสำคัญอื่นๆที่มีอยู่
เต็มบ้าน เต็มเมืองไปหมด


หน้าบรรณานุกรม-ข้อมูลหนังสือ

เรื่องใหญ่ๆที่คนตัวเล็กทำ ยังมีอีกเยอะที่ควรจะเป็น
บทเรียนสำคัญของสังคม หรือท่านผู้อ่านคิดอย่างไร


ผู้สื่อข่าว
on Lampang : เปิดโลกลำปาง
พฤหัส 27
ธันวา 50

Thursday, December 20, 2007

ครบรอบ 1 ปี on Lampang : ระลึกถึงหอศิลป์ฯ


ภาพจำลองสามมิติ อาคารศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม
โดย พรชัย ตระกูลทิวากร


เมื่อวันที่ 19 ธันวา ที่ผ่านมา หากจะนับกันอย่างเป็นทางการแล้วก็ถือว่า
ครบรอบ 1 ปีของ เว็บบล็อก on Lampang : เปิดโลกลำปาง แล้ว
สรรพสิ่งก็ดำเนินไป เครื่องมือนับการเข้าชม นับได้ 9 พันกว่าครั้งก็ถือว่า
ไม่เลวนักกับพื้นที่ไซเบอร์ทำนองนี้

การปรับปรุงแก้ไขและอัพเดท ก็ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของผู้จัดทำเป็นหลัก
ว่าสะดวกเมื่อไหร่ ก็ต้องขออภัยผู้ติดตามชมทั้งหลายด้วย
มีแหล่งข่าวแจ้งมาว่า อยู่ๆก็จะเปลี่ยนชื่อ "หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง"
ในบริเวณอาคารศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม ไปเป็น "พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน"
อะไรทำนองนี้ ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่ร่วมแรง "ฮอมแฮง" กันมากับพรรคพวก
แลผองมิตรอีกหลายกลุ่ม จึงขอประกาศ ณ ที่นี้ว่า เมื่อหลายปีมาแล้ว การที่คนหลาย
หน้าตา หลายพื้นเพร่วมกันผลักดันก็ใช้เวลา แรงกาย แรงใจอย่างมากที่จะทำให้
คำว่า "หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง"เป็นที่รู้จัก ยังมินับนัยยะ ของคำนี้ที่มี
ความกว้างขวางพอที่จะบรรจุ และนำเสนอเรื่องราวไปได้มาก


ภาพจำลองสามมิติ อาคารศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม
โดย พรชัย ตระกูลทิวากร



บรรยากาศงาน "ฮอมแฮง...แป๋งข่วงเวียงละกอนเพื่อหอศิลป์ฯ ครั้งที่ 2"
28-30 พฤษภาคม 2547



บรรยากาศงาน "ฮอมแฮง...แป๋งข่วงเวียงละกอนเพื่อหอศิลป์ฯ ครั้งที่ 1"
24-26 ตุลาคม 2546





งานแต้มสี ตีเส้น เล่นดิน โดย วิทยาลัยอาีชีวศึกษาลำปาง พื้นที่แสดงความสามารถทาง
ศิลปะแห่งหนึ่งของเยาวชนลำปาง


ที่สำคัญคือ "พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน" มีชื่อที่คับแคบกว่ามาก งานศิลปะร่วมสมัย
จะไม่อยู่ในนิยามนี้ จึงนับเป็นการไม่ให้เกียรติกับคนทำงานที่ช่วยเหลือกันมาอย่างยิ่ง

ฉะนั้นจงจำไว้ว่า การจงใจที่จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าห่อพกผลประโยชน์ของตน
คงมิอาจทำได้ง่ายนัก อย่าคิดชุ่ยๆ ทำลวกๆ และตัดสินใจโดยพลการ
เราจะไม่อยู่เฉย และดูดายให้อนาคตของบ้านเมืองตกอยู่ในมือคนเพียงไม่กี่คน


นิทรรศการประวัติสาสตร์นครลำปาง ใน "ฮอมแฮง...แป๋งข่วงเวียงละกอนเพื่อหอศิลปืฯ ครั้งที่ 1"
24-26 ตุลาคม 2546


ด้วยดวงจิตคารวะ

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
ราษฎรนครลำปาง


พฤหัส 20
ธันวา 50
กลางฤดูหนาว
ตัวอยู่ตีนดอยสุเทพ
แต่ใจอยู่ริมน้ำวัง

Friday, December 7, 2007

ความหลังและความหวังใน ‘หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง’ ตอนที่ 2


ข้อเสนอเมื่อราวปี 2548

*บทความนี้นำมาจาก ความหลังและความหวังใน‘หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง’ณ ศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม เขียนโดย
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ เมื่อ 4 พฤศจิกายน 2550 เพื่อนำเสนอต่อสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดลำปาง
อันเนื่องจาก จังหวัดลำปางมีนโยบายทางวัฒนธรรมที่สนใจจะ รื้อฟื้น"หอศิลป์"ขึ้นมาอีกครั้ง

2. ข้อเสนอ
2.1 ต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรม
สิ่งที่เรามีอยู่ ได้แก่
2.1.1 พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะ วัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น จารึก เอกสารเก่า
ภาพเก่า ภาพยนตร์เก่า มรดกทางวัฒนธรรมต่างๆ โดยเฉพาะงานศิลปกรรม งานสถาปัตยกรรม
แต่เราขาดการจัดเก็บ รวบรวม และนำเสนออย่างเป็นระบบพอที่จะเป็นแหล่งค้นคว้าของท้องถิ่นได้เต็มที่
ยังไม่นับโอกาสที่ชาวลำปางจะมีโอกาสเป็นผู้บริจาคหลักฐาน วัตถุโบราณ เอกสารมีค่าให้แก่ “สถาบัน” ดังกล่าว

2.1.2 เครือข่ายศิลปวัฒนธรรมที่เป็นหน่วยย่อยที่กระจายตัวอยู่มากมาย ที่รอการเชื่อมโยง
อย่างมีประสิทธิภาพโดย “สถาบัน” ส่วนกลาง เช่น
พิพิธภัณฑ์วัดเจดีย์ซาว อ.เมือง พิพิธภัณฑ์วัดพระแก้วดอนเต้า อ.เมือง พิพิธภัณฑ์
วัดพระธาตุเสด็จ อ.เมือง ชุมชนวัดปงสนุก อ.เมือง พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุลำปางหลวง อ.
เกาะคา พิพิธภัณฑ์วัดไหล่หิน อ.เกาะคา พิพิธภัณฑ์โรงเรียนแจ้ห่มวิทยา อ.แจ้ห่ม ฯลฯ ซึ่ง
ปัจจุบัน การดำเนินการไม่สอดคล้องกัน ทั้งที่หลายแห่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันในเชิง
ประวัติศาสตร์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำให้งานด้านพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเคลื่อนไหวอย่างมี
ชีวิตชีวาแล้ว อาจทำให้เกิดความรู้ใหม่ๆ ความภาคภูมิใจของท้องถิ่นในกระบวนการดังกล่าว
ด้วย

2.1.3 เครือข่ายศิลปิน กลุ่มคนทำงานด้านศิลปะ วัฒนธรรม และเยาวชน
ที่มีอยู่ในระดับหนึ่ง
ซึ่งพื้นที่แห่งนี้จะเป็นทั้งแหล่งบ่มเพาะ แหล่งพบปะคนมีฝีมือ เป็นจุดกำเนิดและ”ไปต่อ” ของนักประวัติศาสตร์
ศิลปิน ประจำถิ่นได้ “สถาบัน” จะเป็นหลักแหล่ง และสถานที่สำคัญให้ คนที่มีฝีมือ และมีความถนัด
ได้ปรากฏตัว และแสดงฝีมือ ซึ่งจะเชื่อมต่อไปยังระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม
หรือในรูปแบบอื่นๆได้อีก

2.2 วาระใหญ่และเจ้าภาพ
จุดนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบหลัก ที่ต้องทำงานร่วมกันหลายฝ่าย ในฐานะศูนย์กลางเครือข่ายศิลปวัฒนธรรม
ที่ต้องมีทรัพยากรคนและงบประมาณเพียงพอที่จะตั้งต้นทำงานได้ รวมไปถึงระดมความร่วมมือของ
ผู้คนในวงกว้าง ดังการดำเนินการที่จะเสนอต่อไปข้างหน้า ในที่นี้ขอเสนอให้ เทศบาลนครลำปาง
เป็นองค์กรรับผิดชอบ


ผู้คนร่วมแสดงความคิดเห็น ในงานฮอมแฮง...แป๋งข่วงเวียงละกอน(เพื่อหอศิลป์)ครั้งที่ 1
เมื่อวันที่ 24-26 ตุลาคม 2546


2.3 ระยะเวลาและการดำเนินงาน

จากแผนเดิมที่เคยนำเสนอ คณะกรรมการจัดตั้งหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปางไปแล้ว เมื่อกันยายน
2548 ก็ยังเห็นว่าในรายละเอียดอาจจะต้องปรับปรุง แต่โดยหลักการแล้วอาจจะยังประยุกต์ใช้กันได้
ซึ่งกำหนดไว้ประมาณ 2 - 3 ปี เผื่อระยะเวลาที่อบจ.ลำปาง ย้ายออก มีความโดยรวมดังนี้
1) ระยะแรก : สร้างความตื่นตัวรู้จักตัวเอง
เป็นการเสริมสร้างความรู้ทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ในระดับนี้ได้ทำการดำเนินก้าวหน้าไปมากแล้ว
ดังเห็นได้จากเอกสารต่างๆ ซึ่งจะเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่จะนำไปพัฒนาต่อไปได้
2) ระยะที่สอง : ร่วมกันสร้างโปรแกรมหอศิลป์
หมายถึงการกำหนดว่าภายในหอศิลป์ จะประกอบด้วยพื้นที่ลักษณะไหน ผู้ที่ร่วมใช้อาคารมีส่วนอย่างมาก
ในการให้ความเห็น กำหนด TOR (Term of Reference) ร่วมกันอย่างรัดกุม ชัดเจน
ประมาณการไว้ว่าใช้เวลา 4 เดือน
3) ระยะที่สาม : ออกแบบเขียนแบบ
อาจทำได้สองวิธี คือ ร่วมกับสถาบันที่น่าเชื่อถือ เช่น สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
หรือสถาบันการศึกษาจัดประกวดแบบ (ซึ่งอาจใช้เวลานานกว่า 8 เดือน) แล้วให้ผู้ชนะทำการเขียนแบบ
หรืออีกวิธีหนึ่งคือ จ้างบริษัททำการออกแบบและเขียนแบบไปในตัว
ประมาณการไว้ว่าใช้เวลา 8-18 เดือน
4) ระยะที่สี่ : งบประมาณและการก่อสร้าง
ขึ้นอยู่กับขนาดและรูปแบบของการก่อสร้างว่าจะกำหนดให้มากน้อยเพียงใด ซึ่งจะเป็นไปตามการเขียนแบบ
ที่ร่วมกันกำหนดแล้วประมาณการไว้ว่าใช้เวลา 12 เดือน
5) ระยะสุดท้าย : การจัดการบริหาร
ขั้นตอนนี้อาจจะต้องไตร่ตรองวิธีการบริหารในหลายรูปแบบ เช่น อาจจะมีการเปิดพื้นที่บางส่วนให้เช่า
ทำเป็นร้านค้าที่เกี่ยวข้องกับหอศิลปวัฒนธรรม เช่น ร้านขายงานศิลปะ ของที่ระลึกหอศิลป์ ร้านกาแฟ
ที่เปิดพื้นที่ให้คนเข้ามาใช้ พบปะเสวนากัน

ทั้งนี้การดำเนินการทั้งปวงต้องมีการเขียน TOR อย่างรอบคอบ และมีการปรึกษาของคณะกรรมการ
ผู้เชี่ยวชาญอย่างละเอียด ดังบทเรียนที่ปรากฏมาแล้วใน หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่

2.4 แบบจำลองทางความคิด “พื้นที่ทางวัฒนธรรมนครลำปาง” ในย่านคุ้มหลวงเดิม
อย่างไรก็ดีดังที่กล่าวมาตั้งแต่เบื้องต้น พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง อาจมิได้จำกัด
แค่เพียงตัวอาคารนี้เท่านั้น แต่ยังรวมภูมิทัศน์โดยรอบ และมิหนำซ้ำอาจรวมพื้นที่ศาลาประชาคม
ในอนาคตด้วย และยกระดับพื้นที่นี้ให้เป็น ย่าน”พื้นที่ทางวัฒนธรรมนครลำปาง”ก็เป็นได้ แต่ในเบื้องต้น
การใช้พื้นที่อาคารและต่อเนื่องมายังบริเวณสนามหญ้าน่าจะเป็นโอกาสที่พื้นที่ ได้สนทนากับ พื้นที่เมือง
เป็นพื้นที่สาธารณะหนึ่งกับตัวเมือง ซึ่งอาจเปิดพื้นที่โดย ร่นระยะรั้วให้สนามหญ้าได้เชื่อมกับถนน ในลักษณะเดียวกับการเปิดรั้วของโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยที่ทำให้พื้นที่ของอนุสาวรีย์เจ้าพ่อบุญวาทย์วงษ์มานิต
สามารถให้ชาวลำปางเข้าถึง และใกล้ชิดได้ง่าย ฉันใดก็ฉันนั้น
ในรายงานสั้นฉบับนี้ยังผนวกข้อเสนอการใช้พื้นที่ภายในที่เคยเสนอมาเมื่อปี 2548 แต่เป็นการนำเสนอ
คร่าวๆ เพื่อให้เห็นภาพเท่านั้น ในที่นี้จะแยกประเภทให้เห็นภาพใหญ่เพื่อจะได้จินตนาการตามได้ออก
ในพื้นที่หอศิลป์ อาจแบ่งพื้นที่ใหญ่ๆได้สองส่วน ได้แก่ ตัวอาคาร กับ พื้นที่รอบอาคารและสนามหญ้า
ตัวอาคาร จะเป็นส่วนที่รองรับกิจกรรมหลักๆ 9 ส่วน ได้แก่
1) ส่วนอำนวยการ ได้แก่ ส่วนติดต่อสอบถาม สำนักงาน
2) ส่วนอำนวยความสะดวก รวมไปถึง ร้านหนังสือ/ของที่ระลึกหอศิลป์ ร้านกาแฟ โรงอาหาร

3) ส่วนข้อมูลเบื้องต้นเรื่องเมืองลำปาง เป็นส่วนบรรยายให้รูจักลำปางภายใน 5 นาที
4) ห้องปฏิบัติการ รองรับงานศิลปะ ช่าง สล่าพื้นบ้าน เยาวชน

5) ส่วนแสดงนิทรรศการชั่วคราว รองรับนิทรรศการศิลปะ ประวัติศาสตร์ และอื่นๆ
6) ห้องประชุม 30 - 50 คน

7) ส่วนสังคีตศิลป์ ประวัติดนตรีพื้นเมือง และพื้นที่การเรียนการสอน ห้องอัดเสียง

8) ส่วนพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการถาวร ประกอบด้วยเนื้อหาคร่าวๆดังนี้ ลำดับเหตุการณ์สำคัญ

ทางประวัติศาสตร์ลำปาง ภูมิลักษณ์ เมือง และทำเลที่ตั้ง เจ้าผู้ครองนครลำปาง ความหลากหลาย
ของท้องถิ่นลำปาง งานศิลปกรรมและโบราณคดี กลุ่มผู้คน ชาติพันธุ์ในลำปาง
9) ส่วนงานข้อมูลท้องถิ่น ให้บริการเอกสาร ตำรา งานวิจัย เกี่ยวกับท้องถิ่นลำปาง
พื้นที่รอบอาคารและสนามหญ้า
1) ส่วนบริการ
2) เวทีกลางแจ้ง

3) ภูมิทัศน์โดยรอบ และที่จอดรถ

การจัดตั้งหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง เป็นเรื่องใหญ่แต่อย่างไรก็ตาม หากคิดว่าเรานับหนึ่งมาตั้งแต่
ปี 2546 เป็นต้นมา ก็ยังถือว่าเป็นเวลาที่ไม่นานไปนัก จากประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ว่า
หอวัฒนธรรมนิเทศน์ จ.พะเยาใช้เวลาสร้าง 7 ปี (พ.ศ.2532-2539)
หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ใช้เวลา 9 ปี (พ.ศ.2536-2545)

เรายังมีเวลาอยู่ ยังไม่สายเกินไป
.................................
ผู้สื่อข่าว
on Lampang : เปิดโลกลำปาง
ศุกร์ 7
ธันวา 50

ความหลังและความหวังใน ‘หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง’ ตอนที่ 1


ศาลากลางจังหวัดหลังเดิม ต.หัวเวียง อ.เมืองจ.ลำปาง สภาพก่อนปรับปรุง

*บทความนี้นำมาจาก ความหลังและความหวังใน‘หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง’ณ ศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม เขียนโดย
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ เมื่อ 4 พฤศจิกายน 2550 เพื่อนำเสนอต่อสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดลำปาง
อันเนื่องจาก จังหวัดลำปางมีนโยบายทางวัฒนธรรมที่สนใจจะ รื้อฟื้น"หอศิลป์"ขึ้นมาอีกครั้ง

1. ความเข้าใจเบื้องต้น

1.1 หอศิลป์ฯ การเดินทางที่ยังไม่เห็นจุดหมาย
แนวความคิดการเปลี่ยนการใช้สอยอาคาร และพื้นที่บริเวณส่วนราชการ ไปเป็นอาคารสาธารณะ
เพื่อรองรับกิจกรรมของเมืองนั้นๆ โดยเฉพาะศูนย์ราชการจังหวัด เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นหลายแห่งใน
ประเทศไทยเช่น ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ณ สี่แยกกลางเวียง ศาลากลางจังหวัดเชียงราย เป็นต้น
โดยเฉพาะกรณีศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ที่ปรับเปลี่ยนไปเป็นหอศิลปวัฒนธรรม เมืองเชียงใหม่
ที่มีฐานะเดิมเป็นบริเวณคุ้มหลวงของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
ก่อนเปลี่ยนไปเป็นศาลาว่าการมณฑลพายัพ และศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่
เช่นเดียวกันกับแนวความคิดพิพิธภัณฑ์ประจำเมือง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ได้เสนอและให้ชื่อพื้นที่
ดังกล่าวว่า “ภูมิบ้านภูมิเมือง” ซึ่งเป็นแนวโน้มสำคัญที่เน้นให้สถานที่ดังกล่าวเป็นแหล่งเรียนรู้
ประวัติศาสตร์ ศิลปะความงามของบ้านเมือง ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบการจัดการบริหาร เช่น
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.น่าน ที่จัดการและบริหารโดย กรมศิลปากร หอศิลปวัฒนธรรม
เมืองเชียงใหม่ โดย เทศบาลนครเชียงใหม่


"โอกาสของลำปาง"
ขณะที่จังหวัดลำปางเอง หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา และมรดกทางวัฒนธรรมที่
หลากหลาย และซับซ้อน ดังปรากฏในเอกสาร แผนที่มรดกทางวัฒนธรรมนครลำปาง (2548)
กลับขาด “สถาบัน”ที่จะศึกษา วิจัย รวบรวมข้อมูล เผยแพร่ จัดแสดงนิทรรศการ ให้กับชาวลำปาง
และผู้มาเยือนได้อย่างเหมาะสม การเป็นหน่วยงานกลางที่จะเป็นผู้ประสานงานเครือข่าย พิพิธภัณฑ์
หรือแหล่งเรียนรู้ภายในท้องถิ่น ตลอดจนเชื่อมโยงกับพิพิธภัณฑ์ระดับประเทศ หรือแม้แต่กับนานาชาติ
แม้กระทั่งบทบาทในการสนับสนุนการสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมที่จะเป็นฐานในการยกระดับ
งานส่วนต่างๆเช่น การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม

ในสมัยนายเฉลิมพล ประทีปะวณิช ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง (พ.ศ.2545 – 2546)
ได้ริเริ่มที่จะจัดตั้ง “หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง” (ชื่อใกล้เคียงกับ หอศิลปวัฒนธรรม
เมืองเชียงใหม่)ณ อาคารศาลากลางหลังเดิม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปางได้ขอใช้ชั่วคราว
ในช่วงเวลาดังกล่าวกำลังจะย้ายไปยังสถานที่ใหม่บริเวณอำเภอห้างฉัตร จึงเห็นเป็นโอกาสที่จะทำการ
ผลักดันพื้นที่ดังกล่าวแต่อย่างไรก็ตามการดำเนินการก็ยังไม่พัฒนาการไปสู่โครงการที่เป็นรูปธรรม


อย่างไรก็ตามกระแสความคิดดังกล่าวก็เป็นที่รับรู้กันพอสมควรในระดับจังหวัดลำปาง หากไม่ดูเฉพาะ
การทำงานในส่วนของหน่วยงานราชการแล้ว ยังปรากฏการดำเนินการในกลุ่มคนและหน่วยงาน
นอกภาคราชการอีกด้วยกิจกรรมสำคัญที่เป็นการประกาศต่อสาธารณะให้ “หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง”
เป็นประเด็นสาธารณะก็คือ“งานฮอมแฮง...แป๋งข่วงเวียงละกอน (เพื่อหอศิลป์) ครั้งที่ 1”
เมื่อวันที่ 24 – 26ตุลาคม 2546 แต่ยิ่งกว่านั้นก็คือ การรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อผลักดัน
ให้พื้นที่ศาลากลางจังหวัดหลังเดิมให้เป็นหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง อันประกอบด้วยกลุ่มคนและ
หน่วยงานนอกภาคราชการ ได้แก่ โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ลำปาง
(ต่อไปจะเรียกว่า กลุ่มล้านคำลำปาง)หอการค้าจังหวัดลำปาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
กลุ่มสล่าเขลางค์ กลุ่มนักดนตรีกลุ่มศิลปินอิสระ และผู้สนใจอื่นๆอีก กิจกรรมนี้เปรียบได้ว่า
เป็นการทดลองใช้พื้นที่ กล่าวคือ ได้ใช้พื้นที่ชั้นล่างของอาคารศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม
เป็นพื้นที่จัดนิทรรศการศิลปกรรม โดย กลุ่มสล่าเขลางค์และนิทรรศการประวัติศาสตร์ โดย
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง พื้นที่โถงของอาคารก็มีการแสดงดนตรีสากล
ขณะที่บริเวณรอบนอกอาคาร สนามหญ้าเป็นที่ตั้งของเวทีการแสดง พื้นที่นั่งชมการแสดง และร้านรวงโดยรอบ
ซึ่งเวทีการแสดงก็เปิดกว้าง ให้เยาวชน และผู้มีใจรักทางการแสดงศิลปวัฒนธรรม ได้นำเสนอต่อสาธารณะ

จากการทดลองดังกล่าวทำให้เห็นศักยภาพของพื้นที่ ที่สามารถจะปรับ และดัดแปลงใช้เพื่อกิจกรรม
สาธารณะอันเนื่องมาจากงานศิลปวัฒนธรรม กลุ่มดังกล่าวจึงเห็นเป็นการสมควรที่จะตั้งเป็นกลุ่มเพื่อ
เคลื่อนไหวผลักดันพื้นที่ดังกล่าวร่วมกัน และหาทางเชื่อมโยงกับหน่วยงานราชการระดับจังหวัด ในนาม
คณะทำงานฮอมแฮงเพื่อหอศิลป์นครลำปาง
(ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อ คณะทำงานเพื่อหอศิลป์ฯนครลำปาง)


การจัดงานฮอมแฮง...แป๋งข่วงเวียงละกอน(เพื่อหอศิลป์) ครั้งที่ 1
24-26 ตุลาคม 2546 ณ ศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม


อย่างไรก็ตามปรากฏว่า มีการพยายามร่วมมือระหว่างคณะทำงานเพื่อหอศิลป์ฯนครลำปาง กับจังหวัด
ลำปาง มีการเข้าพบ นายอมรทัต นิรัติศยกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง (ดำรงตำแหน่ง พ.ศ.2546
-2550) เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2547 เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำเสนอ “หอศิลป์ถิ่น
ลำปางและข่วงเวียงละกอน”ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่ หลักการและเหตุผลในการจัดตั้งหอศิลป์ฯ ที่เน้นให้เป็น
พื้นที่สำคัญของเมืองเป็นพื้นที่แห่งการรู้จักอัตลักษณ์ ความเป็นตัวตนลำปาง เป็นพื้นที่โอกาสสาธารณะ
ที่มีพื้นฐานเป็นงานศิลปวัฒนธรรมขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ของเยาวชนลำปาง และนำเสนอกระบวนการ
ที่ครอบคลุมการตั้งต้นความเป็นไปได้ ไปจนถึงการบริหารจัดการ ที่อยู่ในการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจ
ของชาวลำปาง ขณะเดียวกันก็เน้นข้อควรระวังโดยมีบทเรียนและกรณีศึกษาจากที่อื่นๆมาประกอบ

"พื้นที่ภายใต้การดูแลของอบจ.ลำปาง"
เมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปางทำการย้ายออกไป อาคารดังกล่าวก็ไม่มีหน่วยงาน
รับผิดชอบดูแลอย่างชัดเจน จังหวัดลำปางจึงได้ทำการ "ส่งมอบอาคารศาลากลางจังหวัดลำปาง (หลังเดิม)”
ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง (ต่อไปเรียกว่า อบจ.ลำปาง) “ดูแลและบำรุงรักษา” เพื่อให้อาคารฯ
ดังกล่าวสามารถรองรับการเป็นหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง ดังหนังสือ ที่ ลป 0016.3/2363
ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2547 ลงนามโดย นายอมรทัต นิรัติศยกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง

ตั้งแต่นั้นมาการดำเนินการใดๆในพื้นที่ดังกล่าวก็ต้องผ่านการอนุญาตจาก อบจ.ลำปางมานับแต่นั้น
ในช่วงเวลานั้นอบจ.ลำปาง จะทำการสร้างสำนักงานใหม่ จึงใช้อาคารดังกล่าวไปพลางๆ และได้ทำการเว้นพื้น
ที่ด้านล่างบางห้องไว้เพื่อรองรับกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมที่จะเกิดขึ้น การดำเนินการจึงอยู่ในลักษณะที่
คณะทำงานฮอมแฮงฯ เป็นผู้ประสานงานกลางระหว่างกลุ่มกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม และอบจ.ลำปาง
เพื่อทำการขออนุญาตใช้สถานที่และสื่อสารกับสาธารณะ เพื่อให้ประเด็นหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง
กระจายไปในวงกว้างจึงปรากฏกิจกรรมต่างๆ เช่น งานฮอมแฮง...แป๋งข่วงเวียงละกอน(เพื่อหอศิลป์)
ครั้งที่ 2
เมื่อ 28 – 30 พฤษภาคม 2547 แฮปปี้คอนเสิร์ตเดย์ โดย เปียโนสตูดิโอ
ธันวาคม 2547
นิทรรศการศิลปกรรม ครูศิลป์ถิ่นล้านนา งานระดับภูมิภาค มกราคม 2548
นิทรรศการศิลปกรรม
แต้มสีตีเส้นเล่นดิน โดย วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง 2547 และ 2548
งานแอ่วหอศิลป์กิ๋นข้าวแลง ครั้งที่ 1
(2547) และ 2 (2548) งานหมรับ ประเพณีทำบุญเดือนสิบ
2547 โดย ชมรมชาวปักษ์ใต้ จ.ลำปาง
การจัดเสวนา โครงการครอบครัวเข้มแข็ง 2548
โดย สถาบันครอบครัวรักลูก
งานนิทรรศการสัปดาห์เมืองเก่าสัญจร 2548
โดย สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง เทศบาลนครลำปาง
และล้านคำลำปาง เป็นต้น

อนึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว เทศบาลนครลำปาง ไม่มีบทบาทเท่าใด เนื่องจากว่าติดปัญหาการรับรองผล
การเลือกตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทำให้สูญเสียโอกาสที่องค์กรท้องถิ่นที่น่าจะมีส่วนสำคัญ
ที่จะร่วมผลักดันโครงการนี้ ขณะเดียวกันคณะทำงานฮอมแฮงฯ ก็ตั้งกลุ่มงานย่อยเพื่อดำเนินการ
ต่อภาพหอศิลป์ฯให้สมบูรณ์เท่าที่จะทำได้เช่น กลุ่มงานพัฒนารูปแบบ กลุ่มงานพัฒนาเนื้อหา
กลุ่มงานสร้างสรรค์กิจกรรม เป็นต้นโดยพยายามหากรอบกว้างๆที่จะอธิบายภาพหอศิลป์ฯ
สู่สาธารณะเท่าที่จะทำได้

"จังหวัดลำปางก็สนับสนุน แต่เจ้าภาพยังไม่ชัดเจน"

สำนักงานจังหวัดลำปาง เองก็ได้จัดงบประมาณทำการว่าจ้างในการวิจัย 2 ชิ้นเป็นอย่างน้อยได้แก่
วิทยาลัยโยนกทำวิจัย“โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อตั้งศูนย์ศิลปวัฒนธรรม จังหวัดลำปาง”
เมื่อกันยายน 2547 บนฐานการตัดสินใจเลือกให้พื้นที่ดังกล่าว ที่ค่อนข้างเฉพาะ เจาะจงไปที่
การรองรับการแสดงงานศิลปกรรมล้วนๆไม่ได้เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์แต่อย่างใด และ
การว่าจ้างมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์ลำปางให้จัดประชุมแสดงความคิดเห็นขึ้น
ช่วงกันยายน 2548

ขณะที่ปลายปี 2548 จังหวัดลำปางก็ได้ประสานงานกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง
และกลุ่มล้านคำลำปาง ให้งบประมาณในการทำสื่อสาธารณะเพื่อการจัดตั้งหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง
จำนวน 76,250 บาทโดยผลิตสื่อได้แก่ หนังสือจากอดีตสู่อนาคตเมืองนครลำปาง ที่เป็นการสรุป
ภาพรวมความเป็นมาของเมืองลำปางใน 40 หน้ากระดาษ จดหมายข่าว แผ่นพับ โปสเตอร์ คัทเอาท์
และป้ายผ้าทำการประชาสัมพันธ์

ฉะนั้นการสนับสนุนจึงไม่ใช่ปัญหาเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับช่องว่างของการรับเป็น”เจ้าภาพ”เต็มตัว
แม้คณะทำงานฮอมแฮงฯ และหน่วยงานราชการจะผลักดันร่วมกัน จนถึงมีการแต่งตั้ง คณะกรรมการ
จัดตั้งหอศิลปวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2548ซึ่งมีฐานะเป็น
คณะกรรมการระดับจังหวัด แต่ก็ไม่มีผลใดๆในเชิงรูปธรรมที่จะผลักดันให้สำเร็จ

อย่างไรก็ตามยังมีกลุ่มศิลปินพื้นบ้านในนาม ชมรมอนุรักษ์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง
(ต่อไปเรียกว่า ชมรมฮีตละกอน)
ที่อาสามาเปิดพื้นที่ศาลากลางหลังเดิม เพื่อสอนดนตรีพื้นเมืองในวันเสาร์-อาทิตย์ ให้แก่เยาวชน
และผู้สนใจ มาจนถึงบัดนี้หรือการพยายามสร้างพื้นที่บนอินเตอร์เน็ต เช่นการจัดทำเว็บไซต์ชื่อว่า
“on Lampang :เปิดโลกลำปาง” ใน
http://onlampang.blogspot.com ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล
ประวัติศาสตร์ ศิลปะ ภาพเก่า และข่าวกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมในลำปางที่เกิดขึ้น
ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2549 แม้กลุ่มอื่นๆจะมีบทบาทเกี่ยวกับหอศิลปวัฒนธรรมน้อยลงทุกทีก็ตาม

1.2 ที่เห็นและเป็นอยู่
แม้จะเป็นที่น่าดีใจว่า กาดกองต้า ถนนคนเดินจะเป็นกิจกรรมที่สร้างความมีชีวิตชีวาให้กับพื้นที่เมือง
ลำปางได้อย่างน่าชื่นชม แต่อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวขั้นต้นมาแล้วว่า การขาดแคลน “สถาบัน”
ที่จะทำหน้าที่เป็นแนวหน้าในการเป็นผู้ให้ความรู้กับสังคมลำปางในเรื่องศิลปะวัฒนธรรม การเป็นผู้วิจัย
ศึกษา เผยแพร่ ก็ยังไม่มีความชัดเจนโดยเฉพาะในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมีคุณค่าอย่างสูง กลับเกิด
วิกฤตการขาดแคลนฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ของท้องถิ่นลำปางอย่างน่าสังเกต
จะมีเพียงความพยายามของชมรมฮีตละกอน ที่เปิดการสอนดนตรีพื้นเมืองดังที่กล่าวมาแล้ว
ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนและยกระดับอย่างเป็นจริงจัง

ซึ่งก็เนื่องมาจากปัญหาการไม่สามารถหาเจ้าภาพที่จะสถาปนาพื้นที่ดังกล่าวให้อำนวยความสะดวกต่อ
ผู้ที่อาสามาช่วยงานศิลปวัฒนธรรม และผู้ที่อยากจะเข้ามาเรียนรู้ การมีหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง
จะเป็นช่องทางใหญ่ จะสถาบันที่เป็นชุมทางการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง
เมื่อเรามีต้นทุนที่ดีอยู่ในมือ (ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า) ที่น่าจะเป็นคำถามต่อไปก็คือ
การจัดการสถานที่หลังจากที่ อบจ.ลำปาง ทำการย้ายออกไปแล้ว และน่าสนใจว่าพื้นที่ที่
อบจ.ลำปางใช้อยู่ก่อนหน้าคือ บริเวณอาคาร 2 ชั้น และ
ศาลาประชาคม ในพื้นที่ดังกล่าว
จะเป็นอย่างไรต่อไป?

(ต่อตอนที่ 2)
.................................
ผู้สื่อข่าว
on Lampang : เปิดโลกลำปาง
ศุกร์ 7
ธันวา 50

Thursday, September 20, 2007

เก็บข่าวมาฝาก เรื่อง ขุดกำแพงเมืองแถวๆ ประตูม้า และใกล้เคียง


บริเวณประตูม้า สภาพก่อนรื้อศาลและย้ายรูปปั้นม้าลงมา

"เทศบาลนครลำปาง จับมือ กรมศิลปากร ขุดค้นกำแพงเมืองเขลางค์นคร ศึกษาชั้นวัฒนธรรม ทางโบราณคดี"

นายปฏิพัฒน์ พุ่มพงศ์แพทย์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 จังหวัดน่าน กล่าวว่า
ได้เริ่มดำเนินการตามโครงการดังกล่าว ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2550
โดยได้ขุดตรวจชั้นดินและโครงสร้างกำแพงเมือง จำนวน 4 หลุม
และขุดทดสอบศึกษาชั้นวัฒนธรรม จำนวน 5 หลุม จากการขุดค้นในส่วนของกำแพงเมือง


ป้ายรายละเอียดโครงการ

พบว่ากำแพงเมืองลำปาง อาจจะสร้างขึ้นก่อนพุทธศตวรรษที่ 19
และหลังจากนั้นได้มีการซ่อมแซมหรือบูรณะครั้งใหญ่อีกอย่างน้อย
ประมาณ 2 ครั้ง ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21
จากเอกสารประวัติศาสตร์ความสำคัญ บทบาทของเขลางค์นคร
มีกิจกรรมมากมาย ก่อนที่จะลดบทบาทลง
และย้ายเมืองไปฟากตะวันออกของแม่น้ำวังในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พุทธศตวรรษที่ 24)

ในส่วนของการขุดทดสอบชั้นวัฒนธรรม จำนวน 5 หลุม พบว่า
เมืองลำปางในอดีตหรือเมือง เขลางค์นคร มีการอยู่อาศัยมาอย่างน้อย
ตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 โดยในสมัยนั้นน่าจะได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมแบบทวารวดี จากภาคกลาง
คือ วัฒนธรรมหริภุญไชย ในภาคเหนือ แถบลำพูน ตอนล่างของเชียงใหม่ ลำปาง แพร่
ซึ่งทราบได้จากการขุดพบโบราณวัตถุ เช่น

เศษภาชนะดินเผาแบบเนื้อไม่แกร่ง เคลือบด้วยน้ำดินสีขาวเขียนลายด้วยสีแดงหรือดำ

และเคลือบด้วยน้ำดินสีแดง เขียนลายด้วยสีขาว นอกจากนี้ยังพบ ตะคันดินเผา และตุ๊กตาดินเผา
ช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-21


ลักษณะการขุดแต่งทางโบราณคดี ที่แทบไม่เคยจะมีการปฏิบัติการแบบนี้เลยในเมืองลำปาง!!!


การขุดแต่งทำสองฟากฝั่งของประตูม้า

พบภาชนะดินเผาแบบเนื้อแกร่ง (Stone ware) จากทั้งแหล่งผลิตในท้องถิ่น
และแหล่งผลิตในดินแดนใกล้เคียง ช่วงพุทธศตวรรษที่ 22-24
แม้จะลดความสำคัญลง แต่ยังพบกิจกรรมของผู้คนสม่ำเสมอ

จนกระทั่งมีภัยสงครามเนืองๆ จึงต้องย้ายเมืองจากฟากตะวันตก
มายังฟากตะวันออกของแม่น้ำวัง ช่วงพุทธศตวรรษที่ 24ข้อมูลจาก เว็ฐไซต์สำนักงานเทศบาลนครลำปาง
http://www.lampangcity.com/
.............................
ข่าวนานแล้วครับ แต่พึ่งไปเปิดเจอข้อมูลเลยนำมาให้ทุกๆท่านรับทราบ

ผู้สื่อข่าว
on Lampang : เปิดโลกลำปาง
พฤหัส 20
กันยา 50

Tuesday, September 18, 2007

เก็บตกบรรยากาศเสวนา"ป๊ะกั๋นยามแลง" เมื่อวันเสาร์ 16 กันยา 50


บรรยากาศหน้างานก่อนเริ่ม


บรรยากาศการเสวนา

เวที "ป๊ะกั๋นยามแลง" ในตอน "ร่ำเปิงลำปาง"
เสาร์ที่ 16 กันยา 50
เริ่มคุยกันตั้งแต่ราวหกโมงเย็นไปเลิกสามทุ่มกว่าน่ะครับ

ก่อนเริ่มงานก็มีวงดนตรีของชมรมฮีตละกอน จาก อ.วรเชษฐ์ ศรีวงศ์พันธุ์
จากนั้นก็เริ่มการเสวนา ที่เริ่มตั้งแต่ยุคภาพเขียนสีประตูผา ยุคหริภุญไชย ล้านนา
เจ้าพ่อทิพย์ช้าง เจ้ากาวิลา เจ้าศรีอโนชา มาจนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

ได้รับเกียรติจากวิทยากรดังนี้คือ พันตรี ชูเกียรติ มีโฉม จาก มณฑลทหารบกที่ 32 ลำปาง
ผศ.ประสงค์ แสงแก้ว จากม.ราชภัฏลำปาง อ.อนุกูล ศิริพันธ์ ประธานชุมชนปงสนุก
และทหารเก่าสมัยสงครามโลกอีก คือ ร้อยโทหล่อ โพธิ์คำ

ดำเนินรายการโดย คุณพิมธิดา ดีบุกคำ แห่งร้านภัณฑ์เพ็ญ

คราวหน้าเจอกันที่เดิม วันเสาร์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม
น่าจะตกราวๆวันที่ 20 ตุลา แต่ยังไม่ทราบ
ประเด็นการพูดคุยแน่นอนครับ
"ป๊ะกั๋นยามแลง"จะเป็นเวทีสาธารณะพูดคุยสบายๆ ของคนลำปาง

ผู้สื่อข่าว
on Lampang : เปิดโลกลำปาง
อังคาร 18
กันยา 50

Monday, September 10, 2007

บทความพิเศษ "เจดีย์วัดพระธาตุลำปางหลวง" ในวารสารเมืองโบราณ


วารสารเมืองโบราณ ปี 2550 ฉบับที่ 33.3. กรกฎาคม - กันยายน 2550
ที่มาภาพ : http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=Sections&op=listarticles&secid=42

พบกับเรื่องราวลำปาง ผ่านสื่อสาธารณะล่าสุด
จากบทความพิเศษ
"เจดีย์วัดพระธาตุลำปางหลวง"
ใน วารสารเมืองโบราณ ฉบับเดือน กรกฎาคม - กันยายน 2550
โดย ชาญคณิต อาวรณ์ นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยศิลปากร
จบการศึกษาจาก ภาควิชาศิลปไทย คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่
ชาวลำปาง อีกท่านที่มีผลงานวิชาการออกสู่สาธารณะ


วัดพระธาตุลำปางหลวงในอดีต
ที่มาภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ


ผู้สื่อข่าว
on Lampang : เปิดโลกลำปาง
จันทร์ 10
กันยา 50

เวที "ปะกันยามแลง" ครั้งที่1 เสาร์นี้ ที่กาดกองต้า


พิธีแห่ครัวตาน วัดปงสนุก
ที่มาภาพ : อนุกูล ศิริพันธุ์ บ้านปงสนุก


เสาร์นี้ 15 กันยา 50
พบ พูด คุย
เรื่องสาธารณะในเวที
"ป๊ะกันยามแลง" ครั้งที่ 1 ร่ำเปิงลำปาง
สบายๆ ยามเย็น ในเรื่อง ตัวตนลำปาง มองผ่าน 4 ยุค
อันได้แก่
ยุค พระนางจามเทวี
ยุค พ่อเจ้าทิพย์ช้าง
ยุค เจ้าศรีอโนชา
และยุค ญี่ปุ่นบุก สงครามโลกครั้งที่ 2

ร่วมครื้นเครงอย่างกันเอง
เวลา 17.30 น.เป็นต้นไป
ณ บริเวณโรงแรมทิพย์อิน ตรงข้ามบ้านคมสัน กาดกองต้า

ผู้สื่อข่าว
on Lampang : เปิดโลกลำปาง
จันทร์ 10
กันยา 50



สถานที่เสวนา ตรงข้ามกับ บ้านคมสัน กาดกองต้า นี่เอง

Thursday, September 6, 2007

ความงดงามของ วัดบ้านก่อ "ช้างเผือกเมืองลำปาง"


หน้าปกหนังสือ


ปกหลังหนังสือ

ดังที่เคยเสนอข่าวไปบ้างแล้วเรื่องการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังที่วัดบ้านก่อ อ.วังเหนือ
หลังจากที่ได้หนังสือ"บ้านก่อ ช้างเผือกเมืองลำปาง"
ที่จัดทำโดย กลุ่มหน่อศิลป์ และการสนับสนุนน จากสถานทูต อเมริกัน ประเทศไทย
โครงการจัดตั้งสถาบันศึกษาและสืบสานศิลปวัฒนธรรมสถาปัตยกรรมล้านนา(ไต) แห่งมหาวิทยาลัย
นเรศวร วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา และคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในที่นี้จึงนำส่วนหนึ่งของหนังสือ มาเผยแพร่ครับ
"บ้านก่อ ช้างเผือกเมืองลำปาง" เป็นหนังสือที่พิมพ์เผยแพร่เพื่อเป็นที่ระลึก
ในโอกาสเฉลิมฉลองการบูรณะวิหารและจิตรกรรมพื้บ้าน วิหารบ้านก่อ
อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง วันที่ 15 มิถุนายน 2550

กลุ่มหน่อศิลป์. บ้านก่อ ช้างเผือกเมืองลำปาง , กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง, 2550.
เลข ISBN-13 : 978 974 672 1837


จากหน้า 56 เรื่องพรหมจักร เป็นฉากเคลื่อนทัพตีเมืองต่างๆ รบกันทั้งพญานาค พญาครุฑ

หากมีโอกาสจะนำเสนอต่อไปครับ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม เรื่องวัดบ้านก่อได้ในลิ้งค์ ของ on Lampang : เปิดโลกลำปาง
*เก็บภาพงานวัดบ้านก่อ วังเหนือมาฝาก
*วัดบ้านก่อ วังเหนือ จิตรกรรมข้ามฟ้า ความภูมิใจของคนลำปาง


ผู้สื่อข่าว
on Lampang : เปิดโลกลำปาง
พฤหัส 6
กันยา 50

Friday, July 27, 2007

ศาลปกครองสั่งคุ้มครองสุสานหอย 13 ล้านปีที่แม่เมาะ


สภาพพื้นที่สุสานหอย 13 ล้านปีที่แม่เมาะ


วารสารวิชาการ Science Asia ที่รายงานการสำรวจ สุสานหอยดังกล่าว

“นี่คือชัยชนะของประชาชน” เสียงจากคนแม่เมาะหลังศาลปกครองสั่งคุ้มครองสุสานหอย 13 ล้านปี

เมื่อวันที่ 26ก.ค.ที่ผ่านมา นายวีระ แสงสมบูรณ์ ตุลาการศาลปกครอง ขึ้นบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีดำกรณี นายเฉลียว ทิสาระ ชาวบ้าน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง และพวก รวม 18 คน ฟ้องร้องคณะรัฐมนตรี(ครม.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานเหมืองแร่(กพร.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เรื่อง อนุรักษ์ซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ 13 ล้านปี ที่เหมืองถ่านหินแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง โดยพิพากษาให้ เพิกถอนมติครม.วันที่ 21 ธันวาคม 2547 ที่กำหนดพื้นที่กำหนดพื้นที่แหล่งหอยขมดึกดำบรรพ์แม่เมาะรวมพื้นที่อนุรักษ์ 52 ไร่ โดยคิดพื้นที่แหล่งหอยขมดึกดำบรรพ์แค่ 18 ไร่ รวมกับพื้นที่อื่นๆอีก 34 ไร่ และมติอื่นๆที่เป็นคำสั่งของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวกับการจัดการซากหอยขมดึกดำบรรพ์

ทั้งนี้ให้รัฐมนตรีว่า การกระทรวงอุตสาหกรรม กพร.ควบคุมสั่งการให้กฟผ.แก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และให้ทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)ในพื้นที่ประทานบัตรเลขที่ 2349/16341 เพื่อสงวนรักษาไว้ซึ่งซากหอยขมดึกดำบรรพ์ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)แร่ พ.ศ.2510 ให้กฟผ.จัดทำสิ่งป้องกันมิให้เกิด การพังทลายของซากฟอสซิลอันเกิดจากการทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ และภัยธรรมชาติให้กพร.เพิกถอนประทานบัตรบริเวณพื้นที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ทั้งหมด 43 ไร่ หรือตามเนื้อที่ที่มีการสำรวจพบทั้ง หมดตามประทานบัตรเลขที่ 24349/16341 ภายใน 30 วัน และให้ครม.สั่งการให้กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนแหล่งซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์เป็นเขตโบราณสถาน โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภาย ใน 180 วัน นับแต่วันถึงคดีสิ้นสุด

หลังคำตัดสินของศาลปกครอง นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขาฯ เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ตัวแทนชาวบ้านแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง กล่าวว่า หลังจากศาลปกครองมีคำพิพากษาในครั้งนี้แล้ว ชาวบ้านแม่เมาะรู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก ซึ่งถือว่าเป็นชัยชนะเบื้องต้นที่ยิ่งใหญ่ของประชาชน ของชาวบ้านตัวเล็กๆ ที่ได้ต่อสู้กับรัฐและ กฟผ.ซึ่งใหญ่คับฟ้า และคำพิพากษาของศาลในครั้งนี้ ทำให้ชาวบ้านมีกำลังใจ และจะใช้เป็นบรรทัดฐานในการต่อสู้ของภาคประชาชนในการปกป้องรักษาทรัพยากรของชาติเอาไว้ต่อไป

“เพราะฉะนั้น หลังจากนี้ รัฐบาลจะต้องทบทวนกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ที่มีมติ ครม.ที่ให้ กฟผ.ทำลายสุสานหอยจนเหลือเพียง 18 ไร่ และต่อไป ก่อนที่รัฐจะมีมติออกมาให้ดำเนินการใดๆ ก็จะต้องคิดให้ถ้วนถี่รอบคอบเสียก่อน เพราะมิเช่นนั้นก็อาจจะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรที่มีคุณค่าอย่างน่าเสียดายอย่างนี้ ซึ่งตนเห็นว่า กรณีสุสานหอยแม่เมาะนี้ เรายังออกมาต่อสู้ช้าเกินไปด้วยซ้ำ เพราะทาง กฟผ.ได้ทำการขุดเหมืองทำลายซากฟอสซิลหอยน้ำจืดไปเป็นจำนวนมา จนเหลือเพียง 18 ไร่”

นางมะลิวรรณ กล่าวต่อว่า การต่อสู้ที่ผ่านมา เราไม่ได้ต่อสู้ด้วยกำลัง แต่ได้ต่อสู้ด้วยข้อมูลความจริง ต่อสู้กันด้วยกฎหมาย โดยชาวบ้านแม่เมาะต้องขอขอบคุณ โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม,กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสภาทนายความ ที่ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือ ให้คำแนะนำแนะนำชาวบ้าน และเป็นธุระในการดำเนินการต่อสู้ทางกฎหมายจนชนะคดีในครั้งนี้


รายละเอียดของฟอสซิลหอยขมเทียบขนาดกับปากกา

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (27 ก.ค.) ทางชาวบ้านแม่เมาะ เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะและเครือข่ายฯ จะได้นัดร่วมประชุมหารือกันอีกครั้ง เพื่อสรุปผลการเรียกร้องต่อสู้ที่ผ่านมา และเพื่อหามาตรการในการที่จะร่วมกันปกป้องดูแลพื้นที่สุสานหอยกันต่อไป โดยประเด็นสำคัญเร่งด่วนหลังจากนี้ เราจะรีบทำหนังสือคัดค้านไม่ให้ฝ่ายรัฐหรือ กฟผ.ได้ยื่นอุทธรณ์ เพราะไม่เช่นนั้น ทุกคนเกรงว่า ต่อไปอาจจะมีการดำเนินการใดๆ ที่จะทำให้สุสานหอยเสียหายได้ในอนาคต แต่อยากให้รัฐและ กฟผ.รับรู้ว่า เราไม่ได้ปกป้องต่อสู้เพื่อตัวเอง แต่เพื่อประเทศชาติส่วนรวม

“ในความเห็นส่วนตัว ตนไม่มั่นใจ กฟผ.เลย เพราะที่ผ่านมา การดำเนินการใดๆ ของ กฟผ.ไม่ได้มีการคำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ได้คำนึงความสำคัญของซากหอยโบราณเลย แต่จะมองเพียงแค่ผลประโยชน์และกำไรเพียงเท่านั้น ซึ่งอาจมีการเปิดเหมืองต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งตอนนี้ ทราบมาว่ามีการขุดเหมืองเฟส 6 ไปแล้ว และมีอีกหลายเฟสที่กำลังดำเนินการอยู่ ดังนั้น จึงฝากไปยังคนไทยทั้งประเทศที่จะต้องช่วยกันออกมาปกป้องดูแลสุสานหอยเอาไว้อย่าให้สูญหายอีกต่อไป” นางมะลิวรรณ กล่าวทิ้งท้าย



ในขณะที่ นายสุรชัย ตรงงาม ผู้ประสานงานโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม, ทนายความผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีปกป้องแหล่งหอยขมดึกดำบรรพ์ ที่เหมืองแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ต่อศาลปกครองกลาง ตามคดีหมายเลขดำที่ 459/2548 เปิดเผยว่า ศาลชั้นต้นตัดสิ้นคดีแล้วให้เราชนะ ซึ่งทางผู้ถูกฟ้องร้องก็อาจยื่นอุทธรณ์ได้ต่อไป แต่ถ้าคดีนี้สิ้นสุดจะทำให้เกิดคุณประโยชน์ใน 2 ประการ คือ 1 เป็นบทเรียนในการต่อสู้รักษาทรัพย์สมบัติ โบราณสถานโบราณวัตถุของชาติ ของคนในท้องถิ่น การทำงานของรัฐที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทำให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนรวม ดังนั้นการตัดสินใจใดๆ ก็ตามต้องไม่ให้รัฐมีอำนาจแต่เพียงฝ่ายเดียว

ประการที่ 2 สิ่งที่สูญเสีย ได้ถูกทำลายไปแล้ว ทำให้เห็นว่าอนาคตการกระทำเช่นนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นบทเรียนที่รัฐต้องตอบว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น รัฐเอง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือองค์กรใด และจะรับผิดชอบอย่างไร ที่ไม่ใช่เพียงแค่การขอโทษ หรือการเยียวยา แต่ต้องหาทางป้องกันในทางกฎหมาย เพื่อสรุปเป็นบทเรียนสำหรับการตัดในสินคดีความต่อๆ ไป


ภาพแสดงชั้นของฟอสซิลหอยขม ขนาดมหึมา

ส่วนการทำงานของชาวบ้านนายสุรชัย แสดงความเห็นว่าชาวบ้านต้องดำเนินงานกันต่อไปเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล ทำการศึกษาว่าพื้นที่ 18 ไร่ที่เหลืออยู่จะต้องมีการจัดการดูแลอย่างไรและจะให้รัฐช่วยเหลือต่อไปได้อย่างไร

ทั้งนี้ หลังจากที่ศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนมติ ครม.ลดพื้นที่สุสานหอย 13 ล้านปี กลางเมืองถ่านหินแม่เมาะ พร้อมให้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุ โดยให้กระทรวงทรัพยากรฯ เข้าดูแลพื้นที่ภายใน 180 วัน นั้น ได้มีหลายฝ่ายตั้งคำถามกันว่า รัฐจะต้องรับผิดชอบหรือไม่ กับกรณีที่มีมติ ค.ร.ม.เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2547 ที่ให้ลดพื้นที่อนุรักษ์ซากหอยขมดึกดำบรรพ์อายุกว่า 13 ล้านปี ในเหมืองถ่านหินแม่เมาะจาก 43 ไร่ เหลือเพียง 18 ไร่ หรือในกรณีที่ กฟผ.ในฐานะที่เป็นฝ่ายเข้าไปไปเปิดหน้าดินจนทำลายซากฟอสซิลหอยโบราณ อายุ 13 ล้านปี จนเหลือพื้นที่แค่ 18 ไร่



ที่มา จากเว็บไซต์ ประชาไท
http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_
ptcms&ContentID=9011&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai


ครับกรณีนี้ก็เคยเป็นข่าวลงหน้าหนึ่งมติชนมาแล้วเมื่อเำกือบสองปีก่อน คงต้องรอดูว่า ฝ่ายจำเลยจะอุทธรณ์กันยังไงต่อไปนะครับ

ผู้สื่อข่าว
on Lampang : เปิดโลกลำปาง
27 กรกฎา 50

Friday, July 13, 2007

ภาพเก่า นำมาเล่ากันใหม่ 001

ระหว่างนี้ยังไม่ค่อยมีข่าวคราว ความคืบหน้าในวงการศิลปวัฒนธรรมลำปางเท่าไหร่ ก็ขอนำเสนอภาพเก่าๆ ที่เป็นคลังภาพเก่า ที่เราได้ขออนุญาตสำเนามาจากวัดบุญวาทย์วิหาร ต.หัวเวียง อ.เมือง ลำปาง ช่วงนี้ก็จะถือวิสาสะนำมาให้ชมกันนะครับ เผื่อจะเกิดแรงบันดาลใจอะไรกันบ้าง


วัดบุญวาทย์วิหารในอดีต
ที่มา : วัดบุญวาทย์วิหาร ต.หััวเวียง อ.เมือง ลำปาง


ภาพนี้เป็นภาพถ่ายขาวดำ ที่วัดบุญวาทย์ิวิหาร สังเกตการแต่งตัวของคนฟ้อนนะครับ ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน ไม่ถนัดที่จะให้ข้อมูลเรื่องชุดแต่งกาย ถ้าใครมีข้อมูลก็คลิกส่งความเห็นมาได้นะครับ ดูแล้วน่าจะถ่ายมาจากแถวๆประตูโขงหน้าวัด เราจะสังเกตเห็นอาคารสองชั้น หลังคาจั่วอยู่ด้านขวาของภาพ ที่ปัจจุบันเป็นอาคารเรียนของมจร.ลำปาง ถ้าดูดีๆจะเห็นว่า เป็นพื้นทรายเหมือนกับที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งคตินี้เทียบเม็ดทรายจำนวนมหาศาลได้กับท้องทะเลสีทันดรที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางจักรวาล ในคติพุทธนั่นเอง ใครเห็นภาพแล้วนึกถึงญาติผู้ใหญ่คนไหน ก็ส่งข่าวกัีนมาได้นะครับ

ผู้สื่อข่าว
on Lampang : เปิดโลกลำปาง
13 กรกฎา 50

Tuesday, June 26, 2007

เก็บภาพงานวัดบ้านก่อ วังเหนือมาฝาก

นำบรรยากาศจากงานฉลองการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังวัดบ้านก่อ วังเหนือ เมื่อวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน 2550 มาให้ดูกันเพลินๆไปก่อนนะครับ ส่วนเนื้อหา รายละเอียดภายในงานจะนำมาบรรยาย ในคราวต่อไป


ที่มาภาพ : ผศ.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์


ที่มาภาพ : ผศ.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์


วิหารวัดบ้านก่อ วังเหนือ
ที่มาภาพ : ผศ.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์



จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารวัดบ้านก่อ วังเหนือ
ที่มาภาพ : ผศ.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์


ผู้สื่อข่าว
on Lampang : เปิดโลกลำปาง
26 มิย 50

Sunday, June 10, 2007

วัดบ้านก่อ วังเหนือ จิตรกรรมข้ามฟ้า ความภูมิใจของคนลำปาง



ตัวอย่างบัตรเชิญ พิธีทำบุญสืบชะตาและฉลองโครงการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังวัดบ้านก่อ
ที่มา : อ.วิถี พานิชพันธ์


วัดบ้านก่อ อ.วังเหนือ กับ โครงการอนุรักษ์ภาพจิตรกรรม นำโดย อ.วิถี พานิชพันธ์
ที่มาภาพ :
http://www.chiangmaifun.com/show_hotnews.php?id=01628



องค์ประกอบต่างๆของวิหาร วัดบ้านก่อ อ.วังเหนือ
ที่มาภาพ : http://www.chiangmaifun.com/show_hotnews.php?id=01628


ภายในวิหารวัดบ้านก่อ อ.วังเหนือ


เอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย H.E.Mr.Ralph L. Boyce มอบเงินจำนวน US $ 52,800 หรือประมาณ 2,112,000 บาท ให้แก่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้รับมอบ เพื่อใช้เป็นงบประมาณดำเนินการ โครงการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังวัดบ้านก่อ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นโครงการตามความร่วมมือระหว่างคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา เพื่อร่วมกันอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่ทรงคุณค่าของภาคเหนือ ณ American Corner สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2548
ที่มา : เว็บไซต์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://intra.chiangmai.ac.th/~pr_cmu/BoardNews_html/010_Oct48.html

"จัดงานพิธีทำบุญสืบชะตาและฉลองโครงการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังวัดบ้านก่อ”

"...ศิลปกรรมมีความพิเศษในความเป็นล้านนาค่อนข้างสมบูรณ์มาก ต่างจากวัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ ที่มีลักษณะเด่นของภาพจิตรกรรมที่พบในล้านนาเขียนเรื่องสุวรรณหงส์ และสังข์ทอง ซึ่งเป็นงานฝีมือของสำนักทางภาคเหนือ ขณะที่วัดบ้านก่อไม่มีกลิ่นอายราชสำนัก เป็นงานบ้านนอกสุดกู่แสดงความเป็นล้านนาไม่ติดกฎเกณฑ์ราชสำนัก..."

อาจารย์สุรชัย จงจิตงาม
ผู้ดูแลการซ่อมแซมภาพจิตรกรรม
ให้สัมภาษณ์ ติดตาม บทความ ความเป็นมาและเป็นไปใน บทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ ในเว็บไซต์
chiangmaifun http://www.chiangmaifun.com/show_hotnews.php?id=01628

ตามที่คณะวิจิตรศิลป์ โดยภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เป็นผู้นำในการดำเนินงานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังวัดบ้านก่อ ตำบลวังใต้ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง บัดนี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว และมีกำหนดการส่งมอบให้อยู่ในความดูแลของชุมชนบ้านก่อ โดยมีการทำบุญสืบชะตา พร้อมทั้งร่วมฉลองโครงการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังวัดบ้านก่อ

ในวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน 2550 เวลา 09.45 น.
วัดบ้านก่อ ตำบลวังทรายคำ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง

ผู้สื่อข่าว
on Lampang : เปิดโลกลำปาง
10 มิถุนายน 2550





เชิญร่วมแสดงความคิดเห็นต่อบทความนี้ ที่คำว่า comments ด้านล่างของบทความ
OLP

เก็บตกบรรยากาศ งานเสวนา"คนรุ่นใหม่กับการอนุรักษ์" 3 พค 50


การเสวนาหัวข้อ "คนรุ่นใหม่กับการอนุรักษ์" ในงานสถาปนิก 50
ที่มา : ผศ.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์


การเสวนาหัวข้อ "คนรุ่นใหม่กับการอนุรักษ์" ในงานสถาปนิก 50
ที่มา : ผศ.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์

อีกงานนึงที่ วัดปงสนุกได้ไปปรากฏ อวดโฉมให้ชาวไทยได้รู้จัก ในงานสถาปนิก 50

ภาพด้านบนเป็นบรรยากาศในงานเสวนา ในหัวข้อ
"คนรุ่นใหม่กับการอนุรักษ์" มีตัวแทนคือ ผศ.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ อาจารย์จาก คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่
ร่วมนำเสนอ กับ คนรุ่นใหม่ นักศึกษาจาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร

งานนี้ในวันพฤหัสบดีที่ 3
พฤษภาคม 2550 เวลา 10.00 - 12.00 น.
ณ Digital Gallery, Challenger Hall อิมแพค
เมืองทองธานี

นอกจากการเสวนาแล้ว ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการต่างๆด้วย

นิทรรศการจัดแสดง หุ่นจำลอง(โมเดล) และความเป็นมา
ที่มา : ผศ.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์

นักศึกษาที่ให้ความสนใจนิทรรศการ
ที่มา : ผศ.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์

ด้านล่างเป็นภาพแถม จากการจัดนิทรรศการ "คนตัวเล็กกับการอนุรักษ์" ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร มาฝากอีกหลายภาพ


บรรยายกาศหน้างาน มีวงดนตรีพื้นเมืองลูกหลานชาวเหนือไปอวดตัวด้วย
ที่มา : ผศ.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์


ผศ.วรลัญจก์ กล่าวรายงาน ท่ามกลางแขกเหรื่อล้นหลาม
ที่มา : ผศ.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์
ระบำไม่ทราบชื่อภายในบริเวณที่จัดแสดงนิทรรศการ
ที่มา : ผศ.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์

ผู้สื่อข่าว
on Lampang : เปิดโลกลำปาง
10 มิถุนา 50





เชิญร่วมแสดงความคิดเห็นต่อบทความนี้ ที่คำว่า comments ด้านล่างของบทความ
OLP