ผ่านมุมมอง ศิลปะ/วัฒนธรรม/ประวัติศาสตร์/วรรณกรรม_art/culture/history/literature โดยการบริหารใหม่ของ มูลนิธิน้อย-ลูกซัด เสาจินดารัตน์ อนุสรณ์
Friday, December 7, 2007
ความหลังและความหวังใน ‘หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง’ ตอนที่ 1
ศาลากลางจังหวัดหลังเดิม ต.หัวเวียง อ.เมืองจ.ลำปาง สภาพก่อนปรับปรุง
*บทความนี้นำมาจาก ความหลังและความหวังใน‘หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง’ณ ศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม เขียนโดย
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ เมื่อ 4 พฤศจิกายน 2550 เพื่อนำเสนอต่อสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดลำปาง
อันเนื่องจาก จังหวัดลำปางมีนโยบายทางวัฒนธรรมที่สนใจจะ รื้อฟื้น"หอศิลป์"ขึ้นมาอีกครั้ง
1. ความเข้าใจเบื้องต้น
1.1 หอศิลป์ฯ การเดินทางที่ยังไม่เห็นจุดหมาย
แนวความคิดการเปลี่ยนการใช้สอยอาคาร และพื้นที่บริเวณส่วนราชการ ไปเป็นอาคารสาธารณะ
เพื่อรองรับกิจกรรมของเมืองนั้นๆ โดยเฉพาะศูนย์ราชการจังหวัด เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นหลายแห่งใน
ประเทศไทยเช่น ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ณ สี่แยกกลางเวียง ศาลากลางจังหวัดเชียงราย เป็นต้น
โดยเฉพาะกรณีศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ที่ปรับเปลี่ยนไปเป็นหอศิลปวัฒนธรรม เมืองเชียงใหม่
ที่มีฐานะเดิมเป็นบริเวณคุ้มหลวงของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
ก่อนเปลี่ยนไปเป็นศาลาว่าการมณฑลพายัพ และศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่
เช่นเดียวกันกับแนวความคิดพิพิธภัณฑ์ประจำเมือง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ได้เสนอและให้ชื่อพื้นที่
ดังกล่าวว่า “ภูมิบ้านภูมิเมือง” ซึ่งเป็นแนวโน้มสำคัญที่เน้นให้สถานที่ดังกล่าวเป็นแหล่งเรียนรู้
ประวัติศาสตร์ ศิลปะความงามของบ้านเมือง ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบการจัดการบริหาร เช่น
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.น่าน ที่จัดการและบริหารโดย กรมศิลปากร หอศิลปวัฒนธรรม
เมืองเชียงใหม่ โดย เทศบาลนครเชียงใหม่
"โอกาสของลำปาง"
ขณะที่จังหวัดลำปางเอง หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา และมรดกทางวัฒนธรรมที่
หลากหลาย และซับซ้อน ดังปรากฏในเอกสาร แผนที่มรดกทางวัฒนธรรมนครลำปาง (2548)
กลับขาด “สถาบัน”ที่จะศึกษา วิจัย รวบรวมข้อมูล เผยแพร่ จัดแสดงนิทรรศการ ให้กับชาวลำปาง
และผู้มาเยือนได้อย่างเหมาะสม การเป็นหน่วยงานกลางที่จะเป็นผู้ประสานงานเครือข่าย พิพิธภัณฑ์
หรือแหล่งเรียนรู้ภายในท้องถิ่น ตลอดจนเชื่อมโยงกับพิพิธภัณฑ์ระดับประเทศ หรือแม้แต่กับนานาชาติ
แม้กระทั่งบทบาทในการสนับสนุนการสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมที่จะเป็นฐานในการยกระดับ
งานส่วนต่างๆเช่น การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม
ในสมัยนายเฉลิมพล ประทีปะวณิช ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง (พ.ศ.2545 – 2546)
ได้ริเริ่มที่จะจัดตั้ง “หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง” (ชื่อใกล้เคียงกับ หอศิลปวัฒนธรรม
เมืองเชียงใหม่)ณ อาคารศาลากลางหลังเดิม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปางได้ขอใช้ชั่วคราว
ในช่วงเวลาดังกล่าวกำลังจะย้ายไปยังสถานที่ใหม่บริเวณอำเภอห้างฉัตร จึงเห็นเป็นโอกาสที่จะทำการ
ผลักดันพื้นที่ดังกล่าวแต่อย่างไรก็ตามการดำเนินการก็ยังไม่พัฒนาการไปสู่โครงการที่เป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ตามกระแสความคิดดังกล่าวก็เป็นที่รับรู้กันพอสมควรในระดับจังหวัดลำปาง หากไม่ดูเฉพาะ
การทำงานในส่วนของหน่วยงานราชการแล้ว ยังปรากฏการดำเนินการในกลุ่มคนและหน่วยงาน
นอกภาคราชการอีกด้วยกิจกรรมสำคัญที่เป็นการประกาศต่อสาธารณะให้ “หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง”
เป็นประเด็นสาธารณะก็คือ“งานฮอมแฮง...แป๋งข่วงเวียงละกอน (เพื่อหอศิลป์) ครั้งที่ 1”
เมื่อวันที่ 24 – 26ตุลาคม 2546 แต่ยิ่งกว่านั้นก็คือ การรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อผลักดัน
ให้พื้นที่ศาลากลางจังหวัดหลังเดิมให้เป็นหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง อันประกอบด้วยกลุ่มคนและ
หน่วยงานนอกภาคราชการ ได้แก่ โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ลำปาง
(ต่อไปจะเรียกว่า กลุ่มล้านคำลำปาง)หอการค้าจังหวัดลำปาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
กลุ่มสล่าเขลางค์ กลุ่มนักดนตรีกลุ่มศิลปินอิสระ และผู้สนใจอื่นๆอีก กิจกรรมนี้เปรียบได้ว่า
เป็นการทดลองใช้พื้นที่ กล่าวคือ ได้ใช้พื้นที่ชั้นล่างของอาคารศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม
เป็นพื้นที่จัดนิทรรศการศิลปกรรม โดย กลุ่มสล่าเขลางค์และนิทรรศการประวัติศาสตร์ โดย
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง พื้นที่โถงของอาคารก็มีการแสดงดนตรีสากล
ขณะที่บริเวณรอบนอกอาคาร สนามหญ้าเป็นที่ตั้งของเวทีการแสดง พื้นที่นั่งชมการแสดง และร้านรวงโดยรอบ
ซึ่งเวทีการแสดงก็เปิดกว้าง ให้เยาวชน และผู้มีใจรักทางการแสดงศิลปวัฒนธรรม ได้นำเสนอต่อสาธารณะ
จากการทดลองดังกล่าวทำให้เห็นศักยภาพของพื้นที่ ที่สามารถจะปรับ และดัดแปลงใช้เพื่อกิจกรรม
สาธารณะอันเนื่องมาจากงานศิลปวัฒนธรรม กลุ่มดังกล่าวจึงเห็นเป็นการสมควรที่จะตั้งเป็นกลุ่มเพื่อ
เคลื่อนไหวผลักดันพื้นที่ดังกล่าวร่วมกัน และหาทางเชื่อมโยงกับหน่วยงานราชการระดับจังหวัด ในนาม
คณะทำงานฮอมแฮงเพื่อหอศิลป์นครลำปาง
(ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อ คณะทำงานเพื่อหอศิลป์ฯนครลำปาง)
การจัดงานฮอมแฮง...แป๋งข่วงเวียงละกอน(เพื่อหอศิลป์) ครั้งที่ 1
24-26 ตุลาคม 2546 ณ ศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม
อย่างไรก็ตามปรากฏว่า มีการพยายามร่วมมือระหว่างคณะทำงานเพื่อหอศิลป์ฯนครลำปาง กับจังหวัด
ลำปาง มีการเข้าพบ นายอมรทัต นิรัติศยกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง (ดำรงตำแหน่ง พ.ศ.2546
-2550) เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2547 เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำเสนอ “หอศิลป์ถิ่น
ลำปางและข่วงเวียงละกอน”ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่ หลักการและเหตุผลในการจัดตั้งหอศิลป์ฯ ที่เน้นให้เป็น
พื้นที่สำคัญของเมืองเป็นพื้นที่แห่งการรู้จักอัตลักษณ์ ความเป็นตัวตนลำปาง เป็นพื้นที่โอกาสสาธารณะ
ที่มีพื้นฐานเป็นงานศิลปวัฒนธรรมขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ของเยาวชนลำปาง และนำเสนอกระบวนการ
ที่ครอบคลุมการตั้งต้นความเป็นไปได้ ไปจนถึงการบริหารจัดการ ที่อยู่ในการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจ
ของชาวลำปาง ขณะเดียวกันก็เน้นข้อควรระวังโดยมีบทเรียนและกรณีศึกษาจากที่อื่นๆมาประกอบ
"พื้นที่ภายใต้การดูแลของอบจ.ลำปาง"
เมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปางทำการย้ายออกไป อาคารดังกล่าวก็ไม่มีหน่วยงาน
รับผิดชอบดูแลอย่างชัดเจน จังหวัดลำปางจึงได้ทำการ "ส่งมอบอาคารศาลากลางจังหวัดลำปาง (หลังเดิม)”
ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง (ต่อไปเรียกว่า อบจ.ลำปาง) “ดูแลและบำรุงรักษา” เพื่อให้อาคารฯ
ดังกล่าวสามารถรองรับการเป็นหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง ดังหนังสือ ที่ ลป 0016.3/2363
ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2547 ลงนามโดย นายอมรทัต นิรัติศยกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
ตั้งแต่นั้นมาการดำเนินการใดๆในพื้นที่ดังกล่าวก็ต้องผ่านการอนุญาตจาก อบจ.ลำปางมานับแต่นั้น
ในช่วงเวลานั้นอบจ.ลำปาง จะทำการสร้างสำนักงานใหม่ จึงใช้อาคารดังกล่าวไปพลางๆ และได้ทำการเว้นพื้น
ที่ด้านล่างบางห้องไว้เพื่อรองรับกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมที่จะเกิดขึ้น การดำเนินการจึงอยู่ในลักษณะที่
คณะทำงานฮอมแฮงฯ เป็นผู้ประสานงานกลางระหว่างกลุ่มกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม และอบจ.ลำปาง
เพื่อทำการขออนุญาตใช้สถานที่และสื่อสารกับสาธารณะ เพื่อให้ประเด็นหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง
กระจายไปในวงกว้างจึงปรากฏกิจกรรมต่างๆ เช่น งานฮอมแฮง...แป๋งข่วงเวียงละกอน(เพื่อหอศิลป์)
ครั้งที่ 2 เมื่อ 28 – 30 พฤษภาคม 2547 แฮปปี้คอนเสิร์ตเดย์ โดย เปียโนสตูดิโอ
ธันวาคม 2547 นิทรรศการศิลปกรรม ครูศิลป์ถิ่นล้านนา งานระดับภูมิภาค มกราคม 2548
นิทรรศการศิลปกรรม แต้มสีตีเส้นเล่นดิน โดย วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง 2547 และ 2548
งานแอ่วหอศิลป์กิ๋นข้าวแลง ครั้งที่ 1 (2547) และ 2 (2548) งานหมรับ ประเพณีทำบุญเดือนสิบ
2547 โดย ชมรมชาวปักษ์ใต้ จ.ลำปาง การจัดเสวนา โครงการครอบครัวเข้มแข็ง 2548
โดย สถาบันครอบครัวรักลูก งานนิทรรศการสัปดาห์เมืองเก่าสัญจร 2548
โดย สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง เทศบาลนครลำปาง และล้านคำลำปาง เป็นต้น
อนึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว เทศบาลนครลำปาง ไม่มีบทบาทเท่าใด เนื่องจากว่าติดปัญหาการรับรองผล
การเลือกตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทำให้สูญเสียโอกาสที่องค์กรท้องถิ่นที่น่าจะมีส่วนสำคัญ
ที่จะร่วมผลักดันโครงการนี้ ขณะเดียวกันคณะทำงานฮอมแฮงฯ ก็ตั้งกลุ่มงานย่อยเพื่อดำเนินการ
ต่อภาพหอศิลป์ฯให้สมบูรณ์เท่าที่จะทำได้เช่น กลุ่มงานพัฒนารูปแบบ กลุ่มงานพัฒนาเนื้อหา
กลุ่มงานสร้างสรรค์กิจกรรม เป็นต้นโดยพยายามหากรอบกว้างๆที่จะอธิบายภาพหอศิลป์ฯ
สู่สาธารณะเท่าที่จะทำได้
"จังหวัดลำปางก็สนับสนุน แต่เจ้าภาพยังไม่ชัดเจน"
สำนักงานจังหวัดลำปาง เองก็ได้จัดงบประมาณทำการว่าจ้างในการวิจัย 2 ชิ้นเป็นอย่างน้อยได้แก่
วิทยาลัยโยนกทำวิจัย“โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อตั้งศูนย์ศิลปวัฒนธรรม จังหวัดลำปาง”
เมื่อกันยายน 2547 บนฐานการตัดสินใจเลือกให้พื้นที่ดังกล่าว ที่ค่อนข้างเฉพาะ เจาะจงไปที่
การรองรับการแสดงงานศิลปกรรมล้วนๆไม่ได้เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์แต่อย่างใด และ
การว่าจ้างมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์ลำปางให้จัดประชุมแสดงความคิดเห็นขึ้น
ช่วงกันยายน 2548
ขณะที่ปลายปี 2548 จังหวัดลำปางก็ได้ประสานงานกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง
และกลุ่มล้านคำลำปาง ให้งบประมาณในการทำสื่อสาธารณะเพื่อการจัดตั้งหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง
จำนวน 76,250 บาทโดยผลิตสื่อได้แก่ หนังสือจากอดีตสู่อนาคตเมืองนครลำปาง ที่เป็นการสรุป
ภาพรวมความเป็นมาของเมืองลำปางใน 40 หน้ากระดาษ จดหมายข่าว แผ่นพับ โปสเตอร์ คัทเอาท์
และป้ายผ้าทำการประชาสัมพันธ์
ฉะนั้นการสนับสนุนจึงไม่ใช่ปัญหาเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับช่องว่างของการรับเป็น”เจ้าภาพ”เต็มตัว
แม้คณะทำงานฮอมแฮงฯ และหน่วยงานราชการจะผลักดันร่วมกัน จนถึงมีการแต่งตั้ง คณะกรรมการ
จัดตั้งหอศิลปวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2548ซึ่งมีฐานะเป็น
คณะกรรมการระดับจังหวัด แต่ก็ไม่มีผลใดๆในเชิงรูปธรรมที่จะผลักดันให้สำเร็จ
อย่างไรก็ตามยังมีกลุ่มศิลปินพื้นบ้านในนาม ชมรมอนุรักษ์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง
(ต่อไปเรียกว่า ชมรมฮีตละกอน)
ที่อาสามาเปิดพื้นที่ศาลากลางหลังเดิม เพื่อสอนดนตรีพื้นเมืองในวันเสาร์-อาทิตย์ ให้แก่เยาวชน
และผู้สนใจ มาจนถึงบัดนี้หรือการพยายามสร้างพื้นที่บนอินเตอร์เน็ต เช่นการจัดทำเว็บไซต์ชื่อว่า
“on Lampang :เปิดโลกลำปาง” ใน
http://onlampang.blogspot.com ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล
ประวัติศาสตร์ ศิลปะ ภาพเก่า และข่าวกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมในลำปางที่เกิดขึ้น
ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2549 แม้กลุ่มอื่นๆจะมีบทบาทเกี่ยวกับหอศิลปวัฒนธรรมน้อยลงทุกทีก็ตาม
1.2 ที่เห็นและเป็นอยู่
แม้จะเป็นที่น่าดีใจว่า กาดกองต้า ถนนคนเดินจะเป็นกิจกรรมที่สร้างความมีชีวิตชีวาให้กับพื้นที่เมือง
ลำปางได้อย่างน่าชื่นชม แต่อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวขั้นต้นมาแล้วว่า การขาดแคลน “สถาบัน”
ที่จะทำหน้าที่เป็นแนวหน้าในการเป็นผู้ให้ความรู้กับสังคมลำปางในเรื่องศิลปะวัฒนธรรม การเป็นผู้วิจัย
ศึกษา เผยแพร่ ก็ยังไม่มีความชัดเจนโดยเฉพาะในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมีคุณค่าอย่างสูง กลับเกิด
วิกฤตการขาดแคลนฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ของท้องถิ่นลำปางอย่างน่าสังเกต
จะมีเพียงความพยายามของชมรมฮีตละกอน ที่เปิดการสอนดนตรีพื้นเมืองดังที่กล่าวมาแล้ว
ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนและยกระดับอย่างเป็นจริงจัง
ซึ่งก็เนื่องมาจากปัญหาการไม่สามารถหาเจ้าภาพที่จะสถาปนาพื้นที่ดังกล่าวให้อำนวยความสะดวกต่อ
ผู้ที่อาสามาช่วยงานศิลปวัฒนธรรม และผู้ที่อยากจะเข้ามาเรียนรู้ การมีหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง
จะเป็นช่องทางใหญ่ จะสถาบันที่เป็นชุมทางการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง
เมื่อเรามีต้นทุนที่ดีอยู่ในมือ (ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า) ที่น่าจะเป็นคำถามต่อไปก็คือ
การจัดการสถานที่หลังจากที่ อบจ.ลำปาง ทำการย้ายออกไปแล้ว และน่าสนใจว่าพื้นที่ที่
อบจ.ลำปางใช้อยู่ก่อนหน้าคือ บริเวณอาคาร 2 ชั้น และศาลาประชาคม ในพื้นที่ดังกล่าว
จะเป็นอย่างไรต่อไป?
(ต่อตอนที่ 2)
.................................
ผู้สื่อข่าว
on Lampang : เปิดโลกลำปาง
ศุกร์ 7
ธันวา 50
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
เสียดายไม่มีโอกาศได้ไปเที่ยวชมเลย
Post a Comment