วัดพระธาตุลำปางหลวง โดย คุณ moofight ถ่ายราวๆปี 2551 ภาพจาก http://www.pixpros.net/forums/showthread.php?t=25898

Wednesday, June 24, 2009

24 มิถุนา 2475 การปฏิวัติสยาม กับ พานรัฐธรรมนูญในลำปาง


หมุดปฏิวัติสยาม 2475 แสดงจุดที่คณะราษฎรยืนอ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1
ที่มา :
http://prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=8601&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai


นายสรอย ณ ลำปาง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของลำปาง ในปีพ.ศ.2476
ที่มา :
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=34145


อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ที่มา : http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=35


ลวดลายพานรัฐธรรมนูญ บริเวณหน้าแหนบวิหาร วัดปงหอศาล อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ระบุว่าสร้าง 19 มีนาคม 2475 (ปฏิทินใหม่ก็คือ มีนาคม 2476) หลังการปฏิวัติสยามเป็นเวลา 9 เดือน
ที่มา :
เมธี เมธาสิทธิ สุขสำเร็จ


ชิ้นส่วนที่คาดว่าจะเป็นหน้าแหนบวิหาร วัดสบทะ อ.แม่ทะ บริเวณตรงกลางจะมีลักษณะคล้ายพานแว่นฟ้าเทินรัฐธรรมนูญ
ที่มา :
เมธี เมธาสิทธิ สุขสำเร็จ


ดาวเพดานวิหารหลวง วัดนากว้าว อ.แม่ทะ มีลักษณะเป็นพานธรรมดาเทินอะไรบางอย่างที่คล้ายพับธรรม หรืออาจตีความได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญ?
ที่มา :
เมธี เมธาสิทธิ สุขสำเร็จ


ภาพเขียนบนคอสอง วิหารพระเจ้าพันองค์วัดปงสนุก อ.เมือง (เขียนขึ้นมาใหม่จากแบบเดิม)


เครื่องบนหลังคาวิหารหลวงเดิม วัดปงสนุกเหนือ


หน้าแหนบ วิหารหลวง วัดล้อมแรด อ.เถิน


อาจกล่าวได้ว่า ประเด็นที่ได้รับการถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการทั่วไปในเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อ 77 ปีที่ผ่านมาแล้วนั้นได้มีการต่อสู้ช่วงชิงกันมาโดยตลอด และที่เป็นรู้จักกันก็คือ คณะราษฎร (อ่านว่า คะ-นะ-ราด-สะ-ดอน) ผู้ก่อการนั้น ชิงสุกก่อนห่ามและได้มีความพยายามในการดิสเครดิตคณะราษฎรเสมอมา จนทำให้ความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรสูญหายไป ไม่ว่าจะทั้งในระดับชาติ หรือระดับท้องถิ่น

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของลำปาง คือ
นายสรอย ณ ลำปาง ในปีพ.ศ.2476
การจัดตั้งเทศบาลเมืองลำปาง อันเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการออกแบบใหม่โดยคณะราษฎร ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ.2478 (ก่อนหน้านั้นเป็นระบบสุขาภิบาลที่อำนาจและการบริหารอยู่ภายใต้การปกครองส่วนภูมิภาค ซึ่งไม่สู้มีประสิทธิภาพนัก) ที่มีการเลือกตั้งครั้งแรกในช่วงปีพ.ศ.2479-2480 มีขุนมลารักษ์ระบิน (แพ อินทภู่-เคยดำรงตำแหน่งจากการแต่งตั้งมาก่อนในเดือนสิงหาคม-กุมภาพันธ์ 2479 ปฏิิทินเก่า) เป็นนายกเทศมนตรี [1]


ในกระแสการเปลี่ยนแปลงได้มีการต่อสู้ทางสัญลักษณ์เพื่อแทนที่ความรับรู้จากระบอบเดิม และสิ่ง
สำคัญที่คณะราษฎรได้ให้ความหมายอย่างมากก็คือ การให้ความสำคัญกับชาติและประชาชน ดังที่เราจะเห็นวัฒนธรรมประดิษฐ์จำนวนมากถูกผลิตขึ้น เช่น เพลงชาติไทย แต่งครั้งในปีพ.ศ. 2477 (ทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ คำร้องโดยขุนวิจิตรมาตรา ก่อนที่จะถูกปรับเปลี่ยนในเวลาต่อมา) การประกาศให้วันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ (พ.ศ.2481) การเปลี่ยนชื่อจากประเทศสยามมาเป็นประเทศไทย (พ.ศ.2482) รวมไปถึงการยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การให้ความหมายกับรัฐธรรมนูญ ดังเห็นได้จากการที่รัฐบาลสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (พ.ศ.2482) ที่มียอดเป็นพานแว่นฟ้าที่เรียกกันอย่างลำลองว่า พานรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่น เป็นรูปธรรมและเป็นที่เข้าใจง่าย(แม้จะมีอีกสัญลักษณ์หนึ่งที่ถูกนำมาใช้ก็คือ เรื่องหลัก 6 ประการของคณะราษฎร อันได้แก่ เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ สามัคคี เสรีภาพ การศึกษา ได้นำมาใช้เป็นเลขมงคล และองค์ประกอบหลักในงานสถาปัตยกรรม แต่ก็ยากในการจดจำและทำความเข้าใจ) ขณะที่พานแว่นฟ้าก็มีนัยยะถึงสถานะความศักดิ์สิทธิของรัฐธรรมนูญในตัวมันเอง (แต่อย่างไรก็ตามมีเรื่องเล่าว่า ในสมัยที่คนยังไม่รู้จักรัฐธรรมนูญกันถ้วนทั่ว ว่ากันว่าบางคนเข้าใจผิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นลูกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร และนายกรัฐมนตรี)

พิธีกรรมที่สำคัญที่สืบเนื่องก็คือ
งานฉลองรัฐธรรมนูญ ที่ผนวกเอาความศักดิ์สิทธิ์ของระบอบใหม่รวมเข้ากับความบันเทิงของคนท้องถิ่นต่างๆ กลายเป็นงานสำคัญของเมือง
ลำปางได้ใช้สนามฟุตบอลโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยในการจัดงาน มีการบันทึกไว้โดย อ.สักเสริญ (ศักดิ์) รัตนชัย ว่า ในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2477 ได้มีขบวนแห่งานฉลองรัฐธรรมนูญจังหวัดลำปาง ในขบวนรถมีการอัญเชิญรัฐธรรมนูญจำลองมา และยังมีพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีร่วมขบวนด้วย[2]

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในจังหวัดลำปางได้ปรากฏสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญในที่ต่างๆ
เช่น หน้าแหนบวัดปงหอศาล อ.แม่ทะ ระบุว่าสร้างเสร็จวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2475 แต่เป็นการนับปฏิทินแบบเก่าที่เริ่มต้น ถ้าแปลงพ.ศ.ก็จะกลายเป็น 15 มีนาคม พ.ศ.2476 หรือวัดอื่นๆในแม่ทะ เช่น ชิ้นส่วนที่คาดว่าจะเป็นหน้าแหนบของวัดสบทะ ดาวเพดานวิหารวัดนากว้าว แต่ลักษณะของพานนี้เป็นพานชั้นเดียว(พานแว่นฟ้าจะเป็นพานสองชั้นซ้อนกัน)ก็อาจตีความได้ทั้งสองอย่างคือสื่อถึงรัฐธรรมนูญ หรือเป็นพานที่รองรับพับสาธรรมะทั่วๆไป

แผงคอสองวิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุก
อ.เมือง ที่ระบุว่าอยู่ในปี พ.ศ.2482 เช่นเดียวกันกับเครื่องบนหลังคาของวิหารหลวงวัดปงสนุก(เหนือ) หลังเก่าที่ถูกรื้อไปแล้ว แต่ยังเก็บชิ้นส่วนนี้ไว้ที่พิพิธภัณฑ์ สันนิษฐานว่าน่าจะถูกสร้างขึ้นมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ส่วนทางใต้ของลำปางก็พบมีการใช้สัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญ บริเวณหน้าแหนบวิหารหลวง วัดล้อมแรด อ.เถิน
และยังมีอีกหลายแห่งที่ยังมิได้การสำรวจอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามปัจจุบัน อ.ชาญคณิต อาวรณ์ กำลังทำการศึกษาค้นคว้าอยู่ เชื่อว่าอีกไม่นานเราจะได้ขยายเพดานความรู้เกี่ยวพานรัฐธรรมนูญในเชิงวิชาการและเกร็ดประวัติศาสตร์เพื่อต่อยอดกันต่อไป


[1]ทำเนียบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง (ตั้งแต่พ.ศ.2476-ปัจจุบัน)” และ "ทำเนียบนายกเทศมนตรีเมืองลำปาง" ใน วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดลำปาง (กรุงเทพฯ : กระทรวงมหาดไทย ; กระทรวงศึกษาธิการ, 2544, น.17 และ 19
[2] ศักดิ์ รัตนชัย. คู่มือประวัติศาสตร์ศึกษายุทธเวหาลำปาง เรื่อง ลำปางกับเหตุการณ์ญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2, 2543, น.47

หนังสือแนะนำเพิ่มเติม

ชาตรี ประกิตนนทการ. การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิย
,กรุงเทพฯ : มติชน, 2547
ชาตรี ประกิตนนทการ.
คณะราษฎรฉลองรัฐธรรมนูญ : ประวัติศาสตร์การเมืองหลัง 2475 ผ่านสถาปัตยกรรม"อำนาจ", กรุงเทพฯ : มติชน, 2548
.......................
ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง

ย่ำรุ่ง
พุธ 24
มิถุนา 52

Thursday, June 18, 2009

“Reading In The Park” ตีกลองฉลองการอ่านฯ ยกระดับให้คนลำปางมีคุณภาพการเรียนรู้ตลอดชีวิต



เทศบาลนครลำปางมีแนวคิดที่จะเสริมสร้างบรรยากาศให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้สังคมนครลำปางเป็นนครแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน และเพื่อให้การดำเนินงานเรื่องนี้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ขับเคลื่อนกันอย่างจริงจัง ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายในสามปี มุ่งสู่สังคมแห่งปัญญาและความรู้ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาขับเคลื่อนโครงการ มี ดร.นิรันดร์ จิวะสันติการ เป็นประธานกรรมการ โดยจุดประกายเริ่มต้น ด้วยการจัด สัปดาห์ส่งเสริมการอ่านและกรเรียนรู้นครลำปาง “Reading In The Park”

งานเริ่มระหว่างวันที่ 18-23 มิถุนายน 2552
โดยมีงานใหญ่ในวันที่ 23 มิถุนายน 2552

กิจกรรมช่วงเช้าถึงเย็นจะเป็นกิจกรรมสัปดาห์การอ่าน
19.00 น. เป็นต้นไป จะเป็นการเปิดงาน นครลำปางนครแห่งการอ่านและสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน “City Of Reading & Learning” และการแสดงการตีกลองไทโกะฉลองการอ่านและฉลองคุณภาพชีวิต A Celebration Of Reading- A Celebration Of Life โดย คณะนักศึกษามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ลงท้ายด้วยการประกาศให้เทศบาลนครลำปาง เป็นนครแห่งการอ่านและการเรียนรู้อย่างยั่งยืน และเชิญชวนผู้ร่วมงานลงนามคำปฏิญญาร่วมใจรักการอ่าน ณ ต้นไม้แห่งปัญญา
...................
ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง

พฤหัส 18
มิถุนา 52

ย้ำอีกครั้ง ปาฐกถาแห่งนครลำปาง ประจำปี 2552 "ตำนานกับปัญหาของการศึกษาประวัติศาสตร์นครลำปาง"


บัตรเชิญ โดย อ.ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น

อ.ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น แห่งศูนย์วิทยพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ลำปาง ได้ส่งบัตรเชิญมาประชาสัมพันธ์ ปาฐกถาแห่งนครลำปาง ประจำปี 2552 "ตำนานกับปัญหาของการศึกษาประวัติศาสตร์นครลำปาง"
โดย ศาสตราจารย์ สรัสวดี อ๋องสกุล แห่งคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม 2552 นี้
เวลา 13.00-16.30 น.
ณ ห้องประชุม 5 ธันวา เทศบาลนครลำปาง

โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง

พฤหัส 18
มิถุนา 52

Tuesday, June 16, 2009

“วัดปงสนุก” คนเล็ก งานโต ข่าวจากเว็บไซต์ผู้จัดการ


ภาพวัดปงสนุกจาก http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000067007

“วัดปงสนุก” คนเล็ก งานโต

โดย ASTVผู้จัดการรายวัน
15 มิถุนายน 2552 09:36 น.
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000067007

จะเป็นอย่างไร? หากเราต้องมองเห็นสิ่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนต้องปรักหักพังลงไปในวันหนึ่ง

คุณจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือจนสุดกำลังเพื่อรักษามันไว้ หรือ ปล่อยให้ผุพังไปตามกาลเวลา?

วัดปงสนุก วัดเก่าแก่คู่ลำปาง

อาจมีหลายคนคิดว่าปล่อยให้เป็นไปตามกาลเวลา ย่อยสลายตามธรรมชาติ เป็นไปตามกลไกการเคลื่อนไหวของโลกที่รุดหน้าไม่เคยหยุดนิ่ง แต่แนวคิดนี้เห็นจะใช้ไม่ได้ผลกับคนที่มีใจรัก “วัดปงสนุก” อย่างแน่แท้

ถ้าเอ่ยชื่อของ “วัดปงสนุก” เมื่อสัก 2 -3 ปีก่อน แน่นอนว่าน้อยคนที่จะรู้จักและรู้ถึงความสำคัญในคุณค่าของสถานที่แห่งนี้ แต่ทุกวันนี้วัดปงสนุกเริ่มเป็นที่รู้จักของคนภายนอกมากขึ้น เป็นเพราะอะไรนั้นลองมาดูกัน

วัดปงสนุก ตั้งอยู่ ณ หมู่บ้านปงสนุก ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง เป็นวัดสำคัญคู่กับจังหวัดลำปาง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยที่เจ้าอนันตยศราชบุตรของพระนางจามเทวีแห่งหริภุญไชย เสด็จมาสร้างเขลางค์นคร เมื่อพ.ศ.1223 ซึ่งยังต้องอาศัยหลักฐานทางโบราณเพื่อยืนยันตามความเชื่อ

วัดปงสนุก มีความพิเศษตรงที่แบ่งเป็นวัดปงสนุกเหนือและใต้ในเขตใบพัทธสีมาเดียวกัน เนื่องจากในอดีตมีพระสงฆ์-สามเณรจำนวนมาก จึงแบ่งเป็น 2 วัดเพื่อช่วยกันดูแล วัดนี้เดิมมีชื่อเรียกอยู่หลายชื่อ ได้แก่ วัดศรีจอมไคล วัดเชียงภูมิ วัดพะยาว(พะเยา) ตามลำดับ ส่วนคำว่า "วัดปงสนุก" นั้นใช้เมื่อยุค เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง ที่มีการกวาดต้อนผู้คนจากเชียงแสน สันนิษฐานว่า เป็นกลุ่มคนจากบ้านปงสนุกที่เชียงแสน(ปัจจุบันยังปรากฏ หลักฐานวัดปงสนุกอยู่ที่ริมแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย)

สำหรับชื่อปงสนุก คำว่าปง คือ พง ในภาษาล้านนา หมายถึง “ที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำที่มีน้ำท่วมบ้างเป็นครั้งคราว” หรือ “ดงหญ้าหรือกลุ่มต้นไม้ที่ขึ้นกันเป็นกลุ่มๆ” ส่วนคำว่าสนุก คือชื่อพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง หรืออาจจะมาจากคำว่า “สฺรณุก” ในภาษาเขมร

วัดปงสนุกได้รับการสันนิษฐานว่า เคยเป็นศูนย์กลางเมืองนคร(หรือเวียงละกอน) สมัยล้านนารุ่งเรือง และมีบทบาทสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ เช่น การดำน้ำชิงเมือง ระหว่างเจ้าฟ้าชายแก้ว และท้าวลิ้นก่าน

และในยุครัตนโกสินทร์ที่แห่งนี้ยังเคยเป็นที่ตั้งของเสาหลักเมืองหลักแรกของเมืองนครลำปาง ก่อนจะทำการย้ายไปรวมกับเสาหลักเมืองหลักอื่นที่ศาลหลักเมืองในปัจจุบัน

ความรุ่งเรืองของวัดปงสนุกยังปรากฏอยู่ในงานศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่อยู่ภายในวัดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ“ม่อนดอย” สถานที่สำคัญของวัด ที่มี เจดีย์ วิหารพระนอน และวิหารพระเจ้าพันองค์ วิหารโถงทรงจัตุรมุขที่มีอายุกว่า 120 ปีซึ่งมีรูปแบบงดงามและเป็นแม่แบบให้อาคารหลังอื่นในประเทศ เช่น หอคำไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

ปัจจุบันปงสนุกยังเป็นแหล่งศิลปวัตถุสำคัญนานัปการ ทั้งพระพุทธรูปไม้ ซึ่งพบภายในห้องใต้หลังคาของวิหารพระเจ้าพันองค์ ภาพพระบฏเขียนเรื่องพระเวสสันดรบนผ้าและกระดาษสา ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า120ปี หีบธรรมโบราณและธงช้างเผือกขนาดใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งได้จัดแสดงงานที่พิพิธภัณฑ์หีบธรรมรัตนานุรักษ์อนุสรณ์และพิพิธภัณฑ์หีบธรรมของวัดปงสนุก (ด้านเหนือ)

ส่วนงานศิลปสถาปัตยกรรมที่สำคัญ อันปรากฏอยู่ที่วัดนี้ได้แก่ พระธาตุศรีจอมไคล และ วิหารพระเจ้าพันองค์(บนม่อนดอย) ซึ่งในอาคารหลังวิหารพระเจ้าพันองค์ จะได้รับการบูรณะอย่างถูกหลักวิชาการ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านปงสนุก ซึ่งดำเนินการเตรียมการมานานร่วมปี

คนกลุ่มเล็กๆ กับงานอนุรักษ์

เนื่องด้วย “วิหารพระเจ้าพันองค์” ได้ถูกสร้างเป็นเวลากว่า 120 ปี จึงเกิดการชำรุดตามกาลเวลา ทางวัดปงสนุก จึงได้จัดทำ “โครงการอนุรักษ์มรดกทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรมวิหารพระเจ้าพันองค์” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ซึ่งได้รับการอนุเคราะห์การทำงานจากหลายฝ่าย ทั้งนักวิชาการ นักเรียน นักศึกษา หน่วยงานราชการและองค์กรต่างๆ คณะสงฆ์ ช่างภาพ และผู้มีจิตศรัทธาจำนวนมาก

ทั้งนี้การบูรณะวิหารพระเจ้าพันองค์มีวัตถุประสงค์เพื่อการรักษาแบบแผน เทคนิควิธี และวัสดุฝีมือช่างตามแบบโบราณ การทำงานกว่า 4 ปี เป็นการทำงานประสานร่วมมือระหว่างชุมชนปงสนุกและคณะทำงานอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมทั้งในส่วนที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมจนก่อให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

เช่น ศึกษาข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม คติความเชื่อสภาพความเสียหาย วัสดุและแนวทางการบูรณะถ่ายภาพ ทำความสะอาด บันทึกรายละเอียด จัดทำทะเบียนโบราณวัตถุต่างๆ ที่พบ ได้แก่ พระพุทธรูปไม้หีบธรรม มณฑปปราสาท ภาพพระบฏ(ภาพเขียนบนผ้าและกระดาษสา)ปรับปรุงอาคารจัดเป็นพิพิธภัณฑ์หีบธรรมวัดปงสนุก(เหนือ)และพิพิธภัณฑ์หีบธรรมรัตนานุรักษ์อนุสรณ์วัดปงสนุก (ใต้)

มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการการอนุรักษ์วิหารพระเจ้าพันองค์ โดยความร่วมมือของภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร โปรแกรมวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย โครงการจัดตั้งสถาบันศิลปวัฒนธรรมล้านนา (ไต) มหาวิทยาลัยนเรศวรพะเยา จัดนิทรรศการภาพถ่ายและเผยแพร่ผลงานการอนุรักษ์วิหารพระเจ้าพันองค์ สัญจรไปยังจังหวัดต่างๆ ภายใต้ชื่อโครงการ“คนตัวเล็กกับการอนุรักษ์” มีการขุดสำรวจทางโบราณคดี เป็นต้น

ขณะเดียวกันยังได้รื้อฟื้นการจัดประเพณีและพิธีกรรมที่ทางวัดเคยปฏิบัติมาซึ่งได้รับความสนใจทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั้งภายในจังหวัดและต่างจังหวัดเป็นอย่างมาก ปัจจุบันชุมชนบ้านปงสนุกได้ร่วมงานเครือข่ายกับศูนย์โบราณคดีภาคเหนือคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการอนุรักษ์ศิลปกรรมของ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ก่อให้เกิดกระแสการตื่นตัวในการอนุรักษ์แก่คณะสงฆ์และชุมชนในจังหวัดลำปางอย่างมาก ซึ่งนับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่จะทำให้ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ รู้จักหวงแหนมรดกท้องถิ่นของตน

ร่วมรักษา วิหารพระเจ้าพันองค์

อาจมีหลายคนตั้งข้อสงสัยว่าวิหารพระเจ้าพันองค์มีความสำคัญอย่างไรจึงต้องอนุรักษ์ไว้ นั่นเพราะวิหารหลังนี้ได้ถูกออกแบบอย่างวิจิตรบรรจงได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดเมื่อ 50 ปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการบูรณะวิหารแห่งนี้อีกเลย

แม้ว่าวิหารพระเจ้าพันองค์นั้นจะเป็นอาคารที่มีขนาดเล็ก แต่นัยยะทั้งหมดของตัวอาคาร ได้ย้ำถึงความสำคัญตามคติจักรวาลและปริศนาแห่งพุทธธรรมที่แฝงเร้นอยู่ โดยมีพระพุทธรูป 4 ทิศ ประดิษฐานเป็นพระประธานรายรอบต้นโพธิ์จำลองตรงกลาง สื่อความหมายถึงตัวแทนของพระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์ที่ตรัสรู้แล้วใน 4 ยุคหลังสุด รอเพียงการมาตรัสรู้ของพระศรีอริยเมตไตรย์ตามพุทธพยากรณ์จากอดีตพระพุทธเจ้า ซึ่งแทนด้วยต้นโพธิ์ที่อยู่ตรงกลาง

อนุกูล ศิริพันธุ์ สมาชิกเทศบาลนครลำปางและประธานชุมชนบ้านปงสนุกเหนือ เล่าถึงแรงบันดาลใจของชุมชนที่ต้องออกมาบูรณะเจดีย์และวิหารพระเจ้าพันองค์ ว่า เนื่องจากพระเจดีย์ มีอายุเก่าแก่เท่าๆ กับดอยสุเทพ ที่จังหวัดเชียงใหม่ คือเก่าแก่กว่า 500 ปี และวิหารพระเจ้าพันองค์ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่ ที่รวบรวมไว้ทั้งงานด้านจิตรกรรม สถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างไทย จีน พม่า ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวของประเทศก็ว่าได้

เมื่อเริ่มทรุดโทรมลงตามกาลเวลา ประกอบกับช่วงปี พ.ศ.2548 มีนักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติ คนไทย และกลุ่มนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ เข้ามาค้นคว้าหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของวัดจำนวนมาก ทำให้ทางวัดปงสนุกได้ตัดสินใจส่งเรื่องให้กรมศิลปากร พิจารณา เพื่อจัดทำโครงการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมวิหารพระเจ้าพันองค์ ซึ่งก็ได้รับความอนุเคราะห์จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ

“ตลอดเวลา 4 ปี ที่ได้ร่วมกันบูรณะ ทางชุมชนฯได้ใช้กิจกรรมด้านศาสนา เป็นตัวชูโรง เพื่อให้ได้ทั้งพลังชุมชนและปัจจัยที่ได้มาในการบูรณะดังกล่าว จนส่งผลให้เกิดกระแสการตื่นตัวในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมในลำปางขึ้น อย่างกว้างขวางจนถึงขณะนี้” อนุกูลกล่าว

เขายังได้กล่าวต่อไปอีกว่า สาเหตุหลักของการเสื่อมสภาพจนชาวชุมชนปงสนุกและเหล่าคนตัวเล็กทั้งหลายต้องร่วมใจกันฟื้นฟูอนุรักษ์นั้น มี 3 ประการหลักคือ การเสื่อมสภาพตามเวลา ดังจะเห็นได้จากสภาพเสาไม้โครงสร้างและกลีบบัวประดับเสาที่สึกกร่อน เพราะถูกแดดฝนมาเป็นเวลานานจนต้องมีการตัดโคนเสาทิ้ง แล้วเสริมด้วยคอนกรีตมาแล้วครั้งหนึ่ง

การรั่วซึมของน้ำฝนเข้ามาในอาคาร สาเหตุหลักเกิดจากการเจาะช่องหน้าต่างระหว่างชั้นหลังคาทั้ง 4 ด้านเอื้อต่อฝนที่สามารถสาดเข้าสู่ภายในตัวอาคาร ทำให้โครงสร้างหลังคาและเพดานผุ ความชื้นจากใต้อาคาร ที่ไม่สามารถระบายผ่านพื้นซีเมนต์ที่ฉาบในยุคหลังได้

“การสร้างอาคารใหม่นั้นเป็นสิ่งง่าย แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการอนุรักษ์ กอปรกับวิหารพระเจ้าพันองค์มีคุณค่าสูงทางสังคมที่ไม่สามารถทดแทนด้วยอาคารหลังใหม่ การที่ทางวัด คณะสงฆ์ และศรัทธาชาวบ้าน ภาครัฐและเอกชนร่วมใจที่จะอนุรักษ์ครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นแนวคิดการอนุรักษ์โดยเริ่มจากภาคประชาชน” อนุกูลกล่าวด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น

กระบวนการอนุรักษ์มิใช่เพียงการซ่อมแซมตัวอาคารเท่านั้นหากต้องมีกระบวนการศึกษาและการทำความเข้าใจร่วมกันในทุกภาคส่วน เป็นแนวทางสำคัญที่ใช้กับการอนุรักษ์ครั้งนี้ จุดเริ่มต้นของการทำงานเริ่มจากการศึกษาประวิติศาสตร์และคุณค่าของอาคาร ขณะเดียวกันก็จะต้องสร้างสร้างความเข้าใจให้ตรงกันถึงแนวการอนุรักษ์ให้แก่ชุมชนโดยการประชุมร่วมกันกับชาวบ้าน เพื่อให้ทราบว่าวิหารหลังนี้มีความสำคัญอย่างไร

ซึ่งแนวทางหนึ่งที่เลือกคือการบูรณะเสริมความมั่นคง และรักษารูปแบบเดิมให้ได้มากที่สุดในเวลานั้น ได้ขอความช่วยเหลือในการบันทึกภาพเพื่อหาทุนในการบูรณะจากแอนเจล่า ศรีสมวงศ์วัฒนา ช่างภาพมืออาชีพ ซึ่งเกิดกิจกรรมต่างๆ ต่อมา เช่นการจัดแสดงภาพถ่ายเพื่อหาทุนในการบูรณะวิหาร โดยมีคณาจารย์และนักศึกษาของภาควิชาศิลปะไทย รวมถึงพนักงานของหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดีมาโดยตลอด

ส่งผลให้เกิดกิจกรรมอื่นๆ ต่อมาอีกมากมาย เช่น การจัดพิมพ์หนังสือการประชาสัมพันธ์โครงการ การให้ชุมชนมีส่วนร่วม เป็นต้น ทั้งนี้ได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลและองค์กรเอกชนเช่น มานพ ศิลปี ไร่แม่ฟ้าหลวง หน่วยศิลปากรที่4 จังหวัดน่าน โครงการล้านคำลำปาง ภิกษุ สามเณร ชาวบ้าน นักเรียน นักศึกษา และพนักงานในหน่วยงานต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น “คนตัวเล็กๆ”ที่มาจากต่างที่ ต่างทาง ได้เสียสละเวลาร่วมศึกษา ร่วมทำกิจกรรม

วิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุกแห่งนี้ เป็นเพียงอาคารหลังเล็กๆ แต่สามารถจุดประกายให้เกิดเป็นระเบิดปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ส่งผลกระทบไปยังทุกภาคส่วนได้ โดยคนตัวเล็กๆ ที่เอาหัวใจที่มุ่งหมายว่าอนาคตจัดดีงาม หากร่วมมือร่วมใจกันเกิดการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายที่แทรกตัวไปอยู่ในทุกหนแห่ง

รางวัลแด่คนทำงาน

ในปีพ.ศ.2551 โครงการอนุรักษ์มรดกทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรมวิหารพระเจ้าพันองค์ ได้คัดเลือกจาก 45 โครงการ ใน13 ประเทศ ให้ได้รับรางวัล “Award of Merit” จากโครงการ “2008 Asia – Pacific Hertage Awards of Cultural Heritage Conservation” จากองค์กร ยูเนสโก นับเป็นความภาคภูมิใจให้ไม่เพียงแต่ชุมชนปงสนุกเท่านั้น หากแต่เป็นความภาคภูมิใจให้แก่คนไทยทั้งประเทศ ในความพยายามรักษามรดกสถาปัตยกรรมของชาติรวมถึงมรดกทางวัฒนธรรมที่นับวันจะมีแต่เสื่อมสูญให้ไว้แก่อนุชนรุ่นหลังต่อไป

สำหรับรางวัล Award of Merit ที่วัดปงสนุกเหนือได้รับในครั้งนี้ ถือเป็นวัดแรกของประเทศไทย ที่ได้รับรางวัลด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม จากองค์การยูเนสโก จากที่มีประเทศต่างๆ รวม 13 ประเทศ ในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ส่งโครงการเข้าร่วมประกวด รวม 45 โครงการ ซึ่งจากการตัดสินผู้ที่ได้รับรางวัลระดับ ดีมี 3 รางวัล คือ Vysial Street (เมืองพอนดิเซอร์รี่ ประเทศอินเดีย) Shigar Historic Settlements and Bazaar Area (เขตทางเหนือ ประเทศปากีสถาน) และ วัดปงสนุก (อ.เมืองลำปาง ประเทศไทย)

ส่วนจุดเด่นของการได้รับรางวัล ด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม จากยูเนสโก ในครั้งนี้นั้นอนุกุล กล่าวว่า น่าจะเป็นเพราะรูปแบบของการบูรณะของทางวัดด้วย เพราะทางกรมศิลปากร ได้ใช้วัสดุเดิมเกือบ 100% ในการซ่อมแซม จะมีการเพิ่มเติมสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ไปบ้างบางส่วนที่ ่ไม่กระทบกับองค์ประกอบหลัก เช่น การใช้น้ำยากันปลวกอย่างดี การใช้สังกะสีรองในกระเบื้องอีกชั้น เพื่อกันน้ำฝนรั่ว ซึม เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการทำงานอนุรักษ์วัดปงสนุกยังมีอีกหลายจุดที่ยังต้องดำเนินต่อไป ภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มคนตัวเล็กๆ ที่มีเพียงสมองและสองมือและความตั้งใจ ที่จะบูรณะวัดปงสนุกให้สมบูรณ์สง่าถูกต้องอย่างแบบแผนที่เคยมีมา เพราะพวกเขาถือว่านี่คือมรดกชาติ มรดกทางวัฒนธรรม และเป็นมรดกของคนทำงานตัวเล็กๆ ที่เป็นดั่งมดงานแต่มีหัวใจรัก(ษ์)อันยิ่งใหญ่
............................................
ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง

อังคาร 16
มิถุนา 52

Wednesday, June 10, 2009

16-21 มิถุนานี้ UNESCO จัดอบรมเรื่องการจัดการพิพิธภัณฑ์ ที่วัดปงสนุกลำปาง


วัดปงสนุกเหนือ ต.เวียงเหนือ ลำปาง

ได้รับจดหมายจาก รศ. วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์  เรื่องเกี่ยวกับลำปาง และ UNESCO เลยเอามาประชาสัมพันธ์ุต่อครับ
.....................

เรียนท่านผู้มีเกียรติทุกท่านทราบ

ด้วยองค์กร UNESCO ร่วมกับคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยดีกิ้น ประเทศออสเตรเลีย  ร่วมกันจัดการอบรมให้แก่พระสงฆ์ในหัวข้อ 

เรื่อง “UNESCO Museum-to-Museum Partnership Project: Lampang Temples Pilot Training in Collections Management” 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา และสร้างความตระหนักในการดูแลรักษา การอนุรักษ์ รวมถึงการจัดการมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ให้แก่คณะสงฆ์ของจังหวัดลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ โดยทางองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) 

ได้เลือกสถานที่จัดการอบรม คือ วัดปงสนุก จังหวัดลำปาง ซึ่งได้รับรางวัลการอนุรักษ์ Award of merit จากโครงการ 2008 Asia-Pacific Heritage Award ในการอนุรักษ์วิหารพระเจ้าพันองค์ โดยโครงการนี้ประเทศไทยได้รับเลือกเป็นโครงการนำร่องเป็นประเทศแรกในเอเชียแปซิฟิค ภายใต้แผนงาน “Museum Capacity-Building Program for Asia and the Pacific region” 

โดยมีการจัดอบรม 2  ส่วน คือ
1) การอบรมเกี่ยวกับพุทธศิลป์ล้านนา ซึ่งจัดอบรมลุล่วงไปแล้วในระหว่างวันที่ 21 - 22 และ 28 - 29 พฤษภาคม 2552 

2) การอบรมเกี่ยวกับการจัดการพิพิธภัณฑ์ ภายใต้หัวข้อ “UNESCO Museum Capacity Building Program, Lampang Workshop” ในระหว่างวันที่ 16 - 21 มิถุนายน 2552  

ทั้งนี้ทางโครงการจึงขอประชาสัมพันธ์ข่าว และเรียนเชิญท่านมาร่วมพิธีในงานเปิดตัวการฝึกอบรมอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 16 มิถุนายน 2552 ระหว่างเวลา 8.00 - 11.00 น. 

ณ วิหารหลวง วัดปงสนุก จังหวัดลำปาง

ขอแสดงความนับถือ

รศ. วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์  
ผู้ประสานงานโครงการ
.....................
ผู้สื่อข่าว 
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง

พุธ 10
มิถุนา 52

Friday, June 5, 2009

เก็บตกงานแต่งงานยุคสงครามโลก...ผลงาน อ.ศักดิ์ รัตนชัย


ขบวนแห่ที่จะเคลื่อนไปยังสวนสาธารณะห้าแยกข่วงนคร มีรถม้าลาก บนรถมีรูปขนาดใหญ่ของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ที่มีนโยบายการสมรสหมู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ภาพจากคุณ psuka49

จักรยานที่จะร่วมขบวน มีการติดธงชาติญี่ปุ่นกับไทย
บรรดาแขกผู้มีเกียรติถ่ายรูปพร้อมกันหน้าสถานีรถไฟนครลำปาง
ภาพจากคุณ psuka49


ตาเทียบ จันทรพันธุ์ เจ้าบ่าวในการสมรสหมู่แห่งชาติ ที่ยังมีตัวตนอยู่จริงๆ
ภาพจาก http://www.lampangstep.com/nuke/modules.php?name=Content&pa=showpage&pid=36

บรรยากาศในงาน

รถจำลองกองถ่ายหนัง บ้านไร่นาเรา


รถจำลองกองถ่ายหนัง บ้านไร่นาเรา

จักรยานพ่วงข้าง ส่วนหนึ่งในขบวนแห่
สักเสริญ หรือศักดิ์ รัตนชัย ผู้ริเริ่มจัดงานนี้

บรรยากาศบริเวณสวนสาธารณะห้าแยกข่วงนคร
ภาพจากคุณ psuka49

ภาพข่าวจากช่อง 5
สามารถเข้าไปดูคลิปได้ใน http://www1.tv5.co.th/newss/searchtape3.php?transid=111179


หนึ่งในขบวนแห่


ดร.นิมิตร จิวะสันติการ นายกเทศมนตรีนครลำปาง ร่วมขบวนด้วย
เทศบาลนครลำปางจัดงานใหญ่-รำลึกถึงแห่งความหลัง

               "รำลึกเพลงแห่งความหลังสมรสหมู่ คู่เพลงสงคราม สู่สันติภาพแห่งชาติ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2"เทศบาลนครลำปาง โดยสำนักงานการศึกษาและงานการศึกษานอกระบบ ร่วมกับสมาคมดนตรีนครลำปาง จัดโครงการ "รำลึกเพลงแห่งความหลัง สมรสหมู่ คู่เพลงสงคราม สู่สันติภาพแห่งชาติ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 " โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่แสดงถึงมิตรภาพและความรัก ในสมัยนั้น

               เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2552 ที่ผ่านมา เวลา 17.00 น. ณ ลานหน้าสถานีรถไฟ จังหวัดลำปาง เทศบาลนครลำปาง นำโดย ดร.นิมิตร จิวะสันติการ นายกเทศมนตรีนครลำปาง ได้จัดโครงการ "รำลึกเพลงแห่งความหลังสมรสหมู่คู่เพลงสงครามสู่สันติภาพแห่งชาติ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2"ภายในงานมีการเดินขบวนรถม้าของเหล่าคู่บ่าวสาว ที่เคยแต่งงานในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และ คู่แต่งงานกิตติมศักดิ์ 
               
               โดยขบวนนั้นเริ่มจากหน้าสถานีรถไฟ จังหวัดลำปาง ไปถึงบริเวณห้าแยกหอนาฬิกา พร้อมทั้งมีการแสดงต่างๆอาทิเช่น การฟ้อนรำชุดมาลัยแว่นฟ้า การแสดงแบบชุดเจ้าบ่าวเจ้าสาวของแต่ละชาติ การแสดงบัลเลย์ โดยโรงเรียนดนตรียามาฮ่า ลำปาง และที่สำคัญคือละครเวทีเรื่อง "บ้านไร่นาเรา" ซึ่งได้มีการบันทึกเทปวีดีโอ เพื่อนำมาใช้ในการประชาสัมพันธ์งานครั้งต่อไป ภายในงานได้รับเกียรติจาก นาย สามารถ ลอยฟ้า รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานกล่าวเปิดงาน 

               ซึ่งงานดังกล่าวได้รับความคิดมาจาก นาย สักเสริญ รัตนชัย นายกสมาคมดนตรีนครลำปาง โดยมีวัตถุประสงค์ก็เพื่อเป็นกิจกรรมส่งเสริมการคสมานฉันท์ และเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีการแต่งงานของทุกศาสนา อีกทั้งเป็นกิจกรรมนำร่องเพื่อการบันทึกภาพ การประชาสัมพันธ์เพื่อผลักดันโครงการสมรสหมู่ในขบวนรถม้า ให้เป็นงานประจำปีของนครลำปาง โดยการสนับสนุนงบประมาณของเทศบาล และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการและภาคเอกชน 
               
               โดยมีรูปแบบการจัดงานดังนี้ การจัดขบวนรถดนตรีนานาชาติ ขบวนรถม้า คู่สมรสประวัติศาสตร์ คู่สมรสกิตติมศักดิ์ คู่สมรสใหม่ คู่รักที่กำลังจะแต่งงาน ขบวนคณะกงสุลต่างประเทศ สโมสรโรตารี่ ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อสันติภาพ การจัดนิทรรศการประวัติศาสตร์สมรสหมู่ของชาวนครลำปางในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 การจัดซุ้มเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีแต่งงานนานาชาติ และการจำลองพิธีแต่งงานแยกตามศาสนาและวัฒนธรรม ประกอบด้วย ซุ้มไทยพุทธ - คริสต์ - จีน - มุสลิม - อินดู และซุ้มออกร้านที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานโดยการจัดทำโครงการดังกล่าว ทางเทศบาลนครลำปางหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการผลักดันให้เกิดงานท่องเที่ยวประจำปีของจังหวัดลำปาง ซึ่งจะนำรายได้เข้ามายังจังหวัดลำปางในอนาคตขึ้นอีกงานหนึ่ง

เมศวร รัตนชัย

.........................
.......................
ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง

ศุกร์ 5
มิถุนา 52
เพิ่มเติม
เสาร์ 6
มิถุนา 52

Wednesday, June 3, 2009

150กว่าล้าน เอาไปทำอะไร หวังอะไร เชิญอ่าน...


สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ 
ภาพจาก http://www.ndmi.or.th

จากเอกสารของทีมงานสยามมิวเซีย สรุปรายละเอียดได้ดังนี้
โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้จังหวัดลำปาง สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เป็นส่วนหนึ่งใน สำนักงานบริหารพัฒนาองค์ความรู้ สังกัด สำนักนายกรัฐมนตรี

เป้าหมาย คือ โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้จังหวัดลำปาง เพื่อเป็นต้นแบบของการสร้างสรรค์แหล่งเีรียนรู้ในรูปของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ (Discovery Museum) ในระดับภูมิภาค

จุดเริ่มต้นสำคัญของการสร้างและพัฒนาโครงข่ายของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ในภูมิภาค และยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเชื่อมโยงกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ทั่วประเทศ

โดยมีวัตถุประสงค์ัดังนี้
1.เพื่อเป็นการขยายพื้นที่การเรียนรู้ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ ตามแนวทางของสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ
2.เพื่อเป็นต้นแบบของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ในระดับภูมิภาค อันจะนำมาสู่การสร้างและพัฒนา โครงข่ายของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ทั่วประเทศ
3.เพื่อเป็นการบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ที่่กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์เป็นฐานสำคัญ

สถานที่ตั้ง
ศาลากลางจังหวัดลำปาง (เดิม)
ตั้งอยู่กลางเมือง ระหว่างถนนไปรษณีย์กับถนนบุญวาทย์
พื้นที่โดยรวมโดยประมาณ 17 ไร่ 

ประกอบด้วย
-พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ (Discovery Museum)
-ศูนย์ศึกษา เพื่อการพัฒนาพิพิธภัณฑ์มีชีวิต (Living Museum Study Center)

การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ และศูนย์ศึกษา เพื่อการพัฒนาพิพิธภัณฑ์มีชีวิต  จังหวัดลำปาง มีขั้นตอนดังนี้
-การจัดทำเนื้อหา
-การอนุรักษ์พัฒนาและปรับปรุงอาคารเดิม
-การก่อสร้างอาคารใหม่
-การปรับปรุงพื้นที่ภูมิทัศน์
.....................
ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง

พุธ 3
มิถุนา 52