วัดพระธาตุลำปางหลวง โดย คุณ moofight ถ่ายราวๆปี 2551 ภาพจาก http://www.pixpros.net/forums/showthread.php?t=25898

Tuesday, June 16, 2009

“วัดปงสนุก” คนเล็ก งานโต ข่าวจากเว็บไซต์ผู้จัดการ


ภาพวัดปงสนุกจาก http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000067007

“วัดปงสนุก” คนเล็ก งานโต

โดย ASTVผู้จัดการรายวัน
15 มิถุนายน 2552 09:36 น.
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000067007

จะเป็นอย่างไร? หากเราต้องมองเห็นสิ่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนต้องปรักหักพังลงไปในวันหนึ่ง

คุณจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือจนสุดกำลังเพื่อรักษามันไว้ หรือ ปล่อยให้ผุพังไปตามกาลเวลา?

วัดปงสนุก วัดเก่าแก่คู่ลำปาง

อาจมีหลายคนคิดว่าปล่อยให้เป็นไปตามกาลเวลา ย่อยสลายตามธรรมชาติ เป็นไปตามกลไกการเคลื่อนไหวของโลกที่รุดหน้าไม่เคยหยุดนิ่ง แต่แนวคิดนี้เห็นจะใช้ไม่ได้ผลกับคนที่มีใจรัก “วัดปงสนุก” อย่างแน่แท้

ถ้าเอ่ยชื่อของ “วัดปงสนุก” เมื่อสัก 2 -3 ปีก่อน แน่นอนว่าน้อยคนที่จะรู้จักและรู้ถึงความสำคัญในคุณค่าของสถานที่แห่งนี้ แต่ทุกวันนี้วัดปงสนุกเริ่มเป็นที่รู้จักของคนภายนอกมากขึ้น เป็นเพราะอะไรนั้นลองมาดูกัน

วัดปงสนุก ตั้งอยู่ ณ หมู่บ้านปงสนุก ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง เป็นวัดสำคัญคู่กับจังหวัดลำปาง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยที่เจ้าอนันตยศราชบุตรของพระนางจามเทวีแห่งหริภุญไชย เสด็จมาสร้างเขลางค์นคร เมื่อพ.ศ.1223 ซึ่งยังต้องอาศัยหลักฐานทางโบราณเพื่อยืนยันตามความเชื่อ

วัดปงสนุก มีความพิเศษตรงที่แบ่งเป็นวัดปงสนุกเหนือและใต้ในเขตใบพัทธสีมาเดียวกัน เนื่องจากในอดีตมีพระสงฆ์-สามเณรจำนวนมาก จึงแบ่งเป็น 2 วัดเพื่อช่วยกันดูแล วัดนี้เดิมมีชื่อเรียกอยู่หลายชื่อ ได้แก่ วัดศรีจอมไคล วัดเชียงภูมิ วัดพะยาว(พะเยา) ตามลำดับ ส่วนคำว่า "วัดปงสนุก" นั้นใช้เมื่อยุค เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง ที่มีการกวาดต้อนผู้คนจากเชียงแสน สันนิษฐานว่า เป็นกลุ่มคนจากบ้านปงสนุกที่เชียงแสน(ปัจจุบันยังปรากฏ หลักฐานวัดปงสนุกอยู่ที่ริมแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย)

สำหรับชื่อปงสนุก คำว่าปง คือ พง ในภาษาล้านนา หมายถึง “ที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำที่มีน้ำท่วมบ้างเป็นครั้งคราว” หรือ “ดงหญ้าหรือกลุ่มต้นไม้ที่ขึ้นกันเป็นกลุ่มๆ” ส่วนคำว่าสนุก คือชื่อพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง หรืออาจจะมาจากคำว่า “สฺรณุก” ในภาษาเขมร

วัดปงสนุกได้รับการสันนิษฐานว่า เคยเป็นศูนย์กลางเมืองนคร(หรือเวียงละกอน) สมัยล้านนารุ่งเรือง และมีบทบาทสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ เช่น การดำน้ำชิงเมือง ระหว่างเจ้าฟ้าชายแก้ว และท้าวลิ้นก่าน

และในยุครัตนโกสินทร์ที่แห่งนี้ยังเคยเป็นที่ตั้งของเสาหลักเมืองหลักแรกของเมืองนครลำปาง ก่อนจะทำการย้ายไปรวมกับเสาหลักเมืองหลักอื่นที่ศาลหลักเมืองในปัจจุบัน

ความรุ่งเรืองของวัดปงสนุกยังปรากฏอยู่ในงานศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่อยู่ภายในวัดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ“ม่อนดอย” สถานที่สำคัญของวัด ที่มี เจดีย์ วิหารพระนอน และวิหารพระเจ้าพันองค์ วิหารโถงทรงจัตุรมุขที่มีอายุกว่า 120 ปีซึ่งมีรูปแบบงดงามและเป็นแม่แบบให้อาคารหลังอื่นในประเทศ เช่น หอคำไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

ปัจจุบันปงสนุกยังเป็นแหล่งศิลปวัตถุสำคัญนานัปการ ทั้งพระพุทธรูปไม้ ซึ่งพบภายในห้องใต้หลังคาของวิหารพระเจ้าพันองค์ ภาพพระบฏเขียนเรื่องพระเวสสันดรบนผ้าและกระดาษสา ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า120ปี หีบธรรมโบราณและธงช้างเผือกขนาดใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งได้จัดแสดงงานที่พิพิธภัณฑ์หีบธรรมรัตนานุรักษ์อนุสรณ์และพิพิธภัณฑ์หีบธรรมของวัดปงสนุก (ด้านเหนือ)

ส่วนงานศิลปสถาปัตยกรรมที่สำคัญ อันปรากฏอยู่ที่วัดนี้ได้แก่ พระธาตุศรีจอมไคล และ วิหารพระเจ้าพันองค์(บนม่อนดอย) ซึ่งในอาคารหลังวิหารพระเจ้าพันองค์ จะได้รับการบูรณะอย่างถูกหลักวิชาการ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านปงสนุก ซึ่งดำเนินการเตรียมการมานานร่วมปี

คนกลุ่มเล็กๆ กับงานอนุรักษ์

เนื่องด้วย “วิหารพระเจ้าพันองค์” ได้ถูกสร้างเป็นเวลากว่า 120 ปี จึงเกิดการชำรุดตามกาลเวลา ทางวัดปงสนุก จึงได้จัดทำ “โครงการอนุรักษ์มรดกทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรมวิหารพระเจ้าพันองค์” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ซึ่งได้รับการอนุเคราะห์การทำงานจากหลายฝ่าย ทั้งนักวิชาการ นักเรียน นักศึกษา หน่วยงานราชการและองค์กรต่างๆ คณะสงฆ์ ช่างภาพ และผู้มีจิตศรัทธาจำนวนมาก

ทั้งนี้การบูรณะวิหารพระเจ้าพันองค์มีวัตถุประสงค์เพื่อการรักษาแบบแผน เทคนิควิธี และวัสดุฝีมือช่างตามแบบโบราณ การทำงานกว่า 4 ปี เป็นการทำงานประสานร่วมมือระหว่างชุมชนปงสนุกและคณะทำงานอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมทั้งในส่วนที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมจนก่อให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

เช่น ศึกษาข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม คติความเชื่อสภาพความเสียหาย วัสดุและแนวทางการบูรณะถ่ายภาพ ทำความสะอาด บันทึกรายละเอียด จัดทำทะเบียนโบราณวัตถุต่างๆ ที่พบ ได้แก่ พระพุทธรูปไม้หีบธรรม มณฑปปราสาท ภาพพระบฏ(ภาพเขียนบนผ้าและกระดาษสา)ปรับปรุงอาคารจัดเป็นพิพิธภัณฑ์หีบธรรมวัดปงสนุก(เหนือ)และพิพิธภัณฑ์หีบธรรมรัตนานุรักษ์อนุสรณ์วัดปงสนุก (ใต้)

มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการการอนุรักษ์วิหารพระเจ้าพันองค์ โดยความร่วมมือของภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร โปรแกรมวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย โครงการจัดตั้งสถาบันศิลปวัฒนธรรมล้านนา (ไต) มหาวิทยาลัยนเรศวรพะเยา จัดนิทรรศการภาพถ่ายและเผยแพร่ผลงานการอนุรักษ์วิหารพระเจ้าพันองค์ สัญจรไปยังจังหวัดต่างๆ ภายใต้ชื่อโครงการ“คนตัวเล็กกับการอนุรักษ์” มีการขุดสำรวจทางโบราณคดี เป็นต้น

ขณะเดียวกันยังได้รื้อฟื้นการจัดประเพณีและพิธีกรรมที่ทางวัดเคยปฏิบัติมาซึ่งได้รับความสนใจทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั้งภายในจังหวัดและต่างจังหวัดเป็นอย่างมาก ปัจจุบันชุมชนบ้านปงสนุกได้ร่วมงานเครือข่ายกับศูนย์โบราณคดีภาคเหนือคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการอนุรักษ์ศิลปกรรมของ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ก่อให้เกิดกระแสการตื่นตัวในการอนุรักษ์แก่คณะสงฆ์และชุมชนในจังหวัดลำปางอย่างมาก ซึ่งนับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่จะทำให้ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ รู้จักหวงแหนมรดกท้องถิ่นของตน

ร่วมรักษา วิหารพระเจ้าพันองค์

อาจมีหลายคนตั้งข้อสงสัยว่าวิหารพระเจ้าพันองค์มีความสำคัญอย่างไรจึงต้องอนุรักษ์ไว้ นั่นเพราะวิหารหลังนี้ได้ถูกออกแบบอย่างวิจิตรบรรจงได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดเมื่อ 50 ปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการบูรณะวิหารแห่งนี้อีกเลย

แม้ว่าวิหารพระเจ้าพันองค์นั้นจะเป็นอาคารที่มีขนาดเล็ก แต่นัยยะทั้งหมดของตัวอาคาร ได้ย้ำถึงความสำคัญตามคติจักรวาลและปริศนาแห่งพุทธธรรมที่แฝงเร้นอยู่ โดยมีพระพุทธรูป 4 ทิศ ประดิษฐานเป็นพระประธานรายรอบต้นโพธิ์จำลองตรงกลาง สื่อความหมายถึงตัวแทนของพระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์ที่ตรัสรู้แล้วใน 4 ยุคหลังสุด รอเพียงการมาตรัสรู้ของพระศรีอริยเมตไตรย์ตามพุทธพยากรณ์จากอดีตพระพุทธเจ้า ซึ่งแทนด้วยต้นโพธิ์ที่อยู่ตรงกลาง

อนุกูล ศิริพันธุ์ สมาชิกเทศบาลนครลำปางและประธานชุมชนบ้านปงสนุกเหนือ เล่าถึงแรงบันดาลใจของชุมชนที่ต้องออกมาบูรณะเจดีย์และวิหารพระเจ้าพันองค์ ว่า เนื่องจากพระเจดีย์ มีอายุเก่าแก่เท่าๆ กับดอยสุเทพ ที่จังหวัดเชียงใหม่ คือเก่าแก่กว่า 500 ปี และวิหารพระเจ้าพันองค์ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่ ที่รวบรวมไว้ทั้งงานด้านจิตรกรรม สถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างไทย จีน พม่า ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวของประเทศก็ว่าได้

เมื่อเริ่มทรุดโทรมลงตามกาลเวลา ประกอบกับช่วงปี พ.ศ.2548 มีนักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติ คนไทย และกลุ่มนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ เข้ามาค้นคว้าหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของวัดจำนวนมาก ทำให้ทางวัดปงสนุกได้ตัดสินใจส่งเรื่องให้กรมศิลปากร พิจารณา เพื่อจัดทำโครงการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมวิหารพระเจ้าพันองค์ ซึ่งก็ได้รับความอนุเคราะห์จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ

“ตลอดเวลา 4 ปี ที่ได้ร่วมกันบูรณะ ทางชุมชนฯได้ใช้กิจกรรมด้านศาสนา เป็นตัวชูโรง เพื่อให้ได้ทั้งพลังชุมชนและปัจจัยที่ได้มาในการบูรณะดังกล่าว จนส่งผลให้เกิดกระแสการตื่นตัวในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมในลำปางขึ้น อย่างกว้างขวางจนถึงขณะนี้” อนุกูลกล่าว

เขายังได้กล่าวต่อไปอีกว่า สาเหตุหลักของการเสื่อมสภาพจนชาวชุมชนปงสนุกและเหล่าคนตัวเล็กทั้งหลายต้องร่วมใจกันฟื้นฟูอนุรักษ์นั้น มี 3 ประการหลักคือ การเสื่อมสภาพตามเวลา ดังจะเห็นได้จากสภาพเสาไม้โครงสร้างและกลีบบัวประดับเสาที่สึกกร่อน เพราะถูกแดดฝนมาเป็นเวลานานจนต้องมีการตัดโคนเสาทิ้ง แล้วเสริมด้วยคอนกรีตมาแล้วครั้งหนึ่ง

การรั่วซึมของน้ำฝนเข้ามาในอาคาร สาเหตุหลักเกิดจากการเจาะช่องหน้าต่างระหว่างชั้นหลังคาทั้ง 4 ด้านเอื้อต่อฝนที่สามารถสาดเข้าสู่ภายในตัวอาคาร ทำให้โครงสร้างหลังคาและเพดานผุ ความชื้นจากใต้อาคาร ที่ไม่สามารถระบายผ่านพื้นซีเมนต์ที่ฉาบในยุคหลังได้

“การสร้างอาคารใหม่นั้นเป็นสิ่งง่าย แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการอนุรักษ์ กอปรกับวิหารพระเจ้าพันองค์มีคุณค่าสูงทางสังคมที่ไม่สามารถทดแทนด้วยอาคารหลังใหม่ การที่ทางวัด คณะสงฆ์ และศรัทธาชาวบ้าน ภาครัฐและเอกชนร่วมใจที่จะอนุรักษ์ครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นแนวคิดการอนุรักษ์โดยเริ่มจากภาคประชาชน” อนุกูลกล่าวด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น

กระบวนการอนุรักษ์มิใช่เพียงการซ่อมแซมตัวอาคารเท่านั้นหากต้องมีกระบวนการศึกษาและการทำความเข้าใจร่วมกันในทุกภาคส่วน เป็นแนวทางสำคัญที่ใช้กับการอนุรักษ์ครั้งนี้ จุดเริ่มต้นของการทำงานเริ่มจากการศึกษาประวิติศาสตร์และคุณค่าของอาคาร ขณะเดียวกันก็จะต้องสร้างสร้างความเข้าใจให้ตรงกันถึงแนวการอนุรักษ์ให้แก่ชุมชนโดยการประชุมร่วมกันกับชาวบ้าน เพื่อให้ทราบว่าวิหารหลังนี้มีความสำคัญอย่างไร

ซึ่งแนวทางหนึ่งที่เลือกคือการบูรณะเสริมความมั่นคง และรักษารูปแบบเดิมให้ได้มากที่สุดในเวลานั้น ได้ขอความช่วยเหลือในการบันทึกภาพเพื่อหาทุนในการบูรณะจากแอนเจล่า ศรีสมวงศ์วัฒนา ช่างภาพมืออาชีพ ซึ่งเกิดกิจกรรมต่างๆ ต่อมา เช่นการจัดแสดงภาพถ่ายเพื่อหาทุนในการบูรณะวิหาร โดยมีคณาจารย์และนักศึกษาของภาควิชาศิลปะไทย รวมถึงพนักงานของหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดีมาโดยตลอด

ส่งผลให้เกิดกิจกรรมอื่นๆ ต่อมาอีกมากมาย เช่น การจัดพิมพ์หนังสือการประชาสัมพันธ์โครงการ การให้ชุมชนมีส่วนร่วม เป็นต้น ทั้งนี้ได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลและองค์กรเอกชนเช่น มานพ ศิลปี ไร่แม่ฟ้าหลวง หน่วยศิลปากรที่4 จังหวัดน่าน โครงการล้านคำลำปาง ภิกษุ สามเณร ชาวบ้าน นักเรียน นักศึกษา และพนักงานในหน่วยงานต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น “คนตัวเล็กๆ”ที่มาจากต่างที่ ต่างทาง ได้เสียสละเวลาร่วมศึกษา ร่วมทำกิจกรรม

วิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุกแห่งนี้ เป็นเพียงอาคารหลังเล็กๆ แต่สามารถจุดประกายให้เกิดเป็นระเบิดปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ส่งผลกระทบไปยังทุกภาคส่วนได้ โดยคนตัวเล็กๆ ที่เอาหัวใจที่มุ่งหมายว่าอนาคตจัดดีงาม หากร่วมมือร่วมใจกันเกิดการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายที่แทรกตัวไปอยู่ในทุกหนแห่ง

รางวัลแด่คนทำงาน

ในปีพ.ศ.2551 โครงการอนุรักษ์มรดกทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรมวิหารพระเจ้าพันองค์ ได้คัดเลือกจาก 45 โครงการ ใน13 ประเทศ ให้ได้รับรางวัล “Award of Merit” จากโครงการ “2008 Asia – Pacific Hertage Awards of Cultural Heritage Conservation” จากองค์กร ยูเนสโก นับเป็นความภาคภูมิใจให้ไม่เพียงแต่ชุมชนปงสนุกเท่านั้น หากแต่เป็นความภาคภูมิใจให้แก่คนไทยทั้งประเทศ ในความพยายามรักษามรดกสถาปัตยกรรมของชาติรวมถึงมรดกทางวัฒนธรรมที่นับวันจะมีแต่เสื่อมสูญให้ไว้แก่อนุชนรุ่นหลังต่อไป

สำหรับรางวัล Award of Merit ที่วัดปงสนุกเหนือได้รับในครั้งนี้ ถือเป็นวัดแรกของประเทศไทย ที่ได้รับรางวัลด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม จากองค์การยูเนสโก จากที่มีประเทศต่างๆ รวม 13 ประเทศ ในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ส่งโครงการเข้าร่วมประกวด รวม 45 โครงการ ซึ่งจากการตัดสินผู้ที่ได้รับรางวัลระดับ ดีมี 3 รางวัล คือ Vysial Street (เมืองพอนดิเซอร์รี่ ประเทศอินเดีย) Shigar Historic Settlements and Bazaar Area (เขตทางเหนือ ประเทศปากีสถาน) และ วัดปงสนุก (อ.เมืองลำปาง ประเทศไทย)

ส่วนจุดเด่นของการได้รับรางวัล ด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม จากยูเนสโก ในครั้งนี้นั้นอนุกุล กล่าวว่า น่าจะเป็นเพราะรูปแบบของการบูรณะของทางวัดด้วย เพราะทางกรมศิลปากร ได้ใช้วัสดุเดิมเกือบ 100% ในการซ่อมแซม จะมีการเพิ่มเติมสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ไปบ้างบางส่วนที่ ่ไม่กระทบกับองค์ประกอบหลัก เช่น การใช้น้ำยากันปลวกอย่างดี การใช้สังกะสีรองในกระเบื้องอีกชั้น เพื่อกันน้ำฝนรั่ว ซึม เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการทำงานอนุรักษ์วัดปงสนุกยังมีอีกหลายจุดที่ยังต้องดำเนินต่อไป ภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มคนตัวเล็กๆ ที่มีเพียงสมองและสองมือและความตั้งใจ ที่จะบูรณะวัดปงสนุกให้สมบูรณ์สง่าถูกต้องอย่างแบบแผนที่เคยมีมา เพราะพวกเขาถือว่านี่คือมรดกชาติ มรดกทางวัฒนธรรม และเป็นมรดกของคนทำงานตัวเล็กๆ ที่เป็นดั่งมดงานแต่มีหัวใจรัก(ษ์)อันยิ่งใหญ่
............................................
ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง

อังคาร 16
มิถุนา 52

No comments: