วัดพระธาตุลำปางหลวง โดย คุณ moofight ถ่ายราวๆปี 2551 ภาพจาก http://www.pixpros.net/forums/showthread.php?t=25898

Thursday, October 28, 2010

รื้อฟื้น "ตุงค่าวธรรม" วัดวังหม้อ ครั้งประวัติศาสตร์ของเมืองลำปาง ในรอบ 70 ปี







สร้าง "ตุงค่าวธรรม" หรือ "ภาพพระบฏ" ครั้งประวัติศาสตร์ของเมืองลำปาง ในรอบ 70 ปี
เพื่อจัดตั้งธรรมหลวง ณ วัดวังหม้อ ระหว่างวันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2553

“ตุงค่าว” ถือเป็นงานพุทธศิลป์ประเภทหนึ่ง ที่มีความสำคัญอย่างมาก ทั้งในด้านของคุณค่าทางโบราณวัตถุศิลปวัตถุ คุณค่าด้านประเพณีวัฒนธรรม คุณค่าด้านองค์ความรู้ทางพุทธศาสนาที่สื่อออกมาในรูปแบบของภาพเล่าเรื่อง รวมไปถึงหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะวิถีชิวิตความเป็นอยู่ เครื่องใช้ไม้สอย ทั้งความงดงามด้านศิลปกรรม เทคนิควิธีกรรม การสื่อถึงคติความเชื่อและความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองในแต่ละยุคแต่ละสมัยได้เป็นอย่างดี แสดงถึงความเจริญงอกงามของพุทธศาสนาที่เป็นบ่อเกิดของขนบประเพณีนิยม วัฒนธรรม และวิถีการดำรงชีวิตของคนในอดีต ตุงค่าวธรรมจึงเป็นมรดกที่สำคัญของชาติ ที่ควรค่าแก่การดูแล รักษา เชิดชูและหวงแหนไว้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรม

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของการศึกษาตุงค่าวธรรม คือ การรื้อฟื้นองค์ความรู้การเทศน์มหาชาติ(ประเพณีการตั้งธรรมหลวง) ของชาวล้านนา ซึ่งการใช้ตุงค่าวธรรม เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมอันสำคัญนี้ ถือเป็นสื่อธรรมะที่สำคัญที่ใช้ประกอบการเทศนา สอนเรื่องพระเวสสันดรให้กับผู้คนได้ดี ซึ่งในอดีตทุกวัดในล้านนา เมื่อมีประเพณีการตั้งธรรมหลวง ก็มักแขวนตุงค่าวธรรม ไว้รายรอบวิหาร

แต่ในปัจจุบันนั้นประเพณีดังกล่าวได้ลบเลือนหายไป ทำให้ตุงค่าวธรรมเองไม่ได้นำกลับมาใช้งาน ถูกละทิ้งจนขาดการดูแลเอาใจใส่ของคนในชุมชน อีกทั้งยังไร้ซึ่งคุณค่าและความหมายในสังคมยุคปัจจุบัน อันเป็นผลกระทบมาจากแนวคิดของสังคมล้านนาที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้สภาวะของตุงค่าวธรรมและเครื่องใช้ในพิธีกรรมเทศน์มหาชาติ(ประเพณีการตั้งธรรมหลวง) ในปัจจุบันนั้น น่าเป็นห่วงที่เสี่ยงต่อการสูญหาย และถูกเปลี่ยนหน้าที่การใช้งาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถ้าไม่ได้รับการจัดการศึกษาในด้านข้อมูล การให้ชุมชนรับรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญ ทั้งในแง่ของความหมายที่แฝงไว้ หน้าที่การใช้งาน คติการสร้าง รวมไปถึงใช้ในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องแล้ว ในอนาคตตุงค่าวธรรมเหล่านี้อาจจะเป็นเพียงแค่งานจิตรกรรมบนผืนผ้า ที่หาคุณค่าทางจิตใจไม่ได้เลย

ด้วยเหตุนี้ ศูนย์โบราณคดีภาคเหนือ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงเห็นควรที่จะเก็บรวบรวมข้อมูล ศึกษาวิจัยและจัดการอนุรักษ์ตุงค่าวธรรม ในเขตพื้นที่จังหวัดลำปาง ให้ได้เห็นถึงคุณค่าความสำคัญพร้อมนำเสนอให้กับชุมชนนั้นๆ ให้ได้รับรู้พร้อมกับการพัฒนาตุงค่าวธรรม ต่อยอดจากองค์ความรู้เดิม เพื่อปรับรูปแบบการสื่อความหมาย การสร้างตุงค่าวธรรมขึ้นมาใหม่เพื่อทดแทนของเดิมให้เข้ากับสังคมยุคปัจจุบัน โดยการศึกษาครั้งนี้ได้รับงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้จัดทำโครงการ “การปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนผ่านการสร้างสื่อผสม(Mixed Media) ร่วมกับชุมชน นำโดย รศ.ดร. วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ เป็นหัวหน้าโครงการ และ อ.ดร. สุภาพร นาคบัลลังก์ เป็นผู้ควบคุมการดำเนินงาน และ อ.อนุกูล ศิริพันธุ์ ผู้ให้การสนับสนุนความรู้ด้านพิธีกรรม

โดยการวาดภาพตุงค่าวธรรมให้วัดวังหม้อเพื่อนำใช้ประกอบพิธีเทศน์มหาชาติในครั้งนี้ ได้มีอาจารย์ทวี เสรีวาศ อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นนายช่างใหญ่ในการวาดภาพ ทั้ง 12 กัณฑ์ รวมทั้งหมด 28 ผืน ซึ่งวัตถุประสงค์สำคัญก็เพื่อปลูกจิตสำนึกของคนในชุมชนและเยาวชนรุ่นใหม่ให้หันกลับมามองงานศิลปกรรมอันมีค่าและอนุรักษ์ดูแลรักษา หวงแหนงานพุทธศิลป์ที่มีอยู่ในชุมชนของตนเอง ดึงดูดให้คนเข้ามาศึกษาเรียนรู้พร้อมทั้งอนุรักษ์งานตุงค่าวธรรมและที่สำคัญเยาวชนยุคใหม่จะได้มีความภูมิใจในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษตน ที่ได้สร้างสรรค์งานศิลป์ไว้กับพุทธศาสนาไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาสืบไป

โดยการสร้างตุงค่าวธรรมในครั้งนี้ จะเป็นการเล่าเรื่องราวถึงพระเวสสันดรชาดก 12 กัณฑ์ เขียนภาพลงบนผืนผ้า ใช้สีสันที่มีความสวยงามตามจินตนาการผสมผสานกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน เพื่อใช้ประกอบการฟังเทศน์มหาชาติให้เกิดความเข้าใจและซาบซึ้ง ซึ่งการสร้างภาพตุงค่าวในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งสำคัญของเมืองลำปาง คือเป็นการหวนกลับมาวาดภาพตุงค่าวขึ้นใหม่ในรอบ 70 ปี เพื่อจะนำไปใช้ในการตั้งธรรมหลวงของวัดวังหม้อต่อไปในอนาคต

ในการนี้ทางวัดวังหม้อและชุมชนบ้านวังหม้อ จะได้หาเจ้าภาพ เจ้าศรัทธาภาพตุงค่าวธรรม เพื่อนำเงินที่ได้ไปสร้างตู้เก็บภาพตุงค่าวธรรมชุดนี้ต่อไป โดยให้เป็นเจ้าภาพตุงค่าวธรรมผืนละ 2,000 บาท ซึ่งทางวัดจะเขียนชื่อเจ้าภาพไว้ติดกับภาพในแต่ละผืน

การบอกบุญในครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีและหาได้ยาก เนื่องจากการสร้างภาพตุงค่าวธรรมขึ้นมาใหม่เพื่อใช้ในการตั้งธรรมหลวงนั้น หาโอกาสที่จะเข้ามาเป็นเจ้าภาพได้น้อย เพราะการรื้อฟื้นประเพณีนี้พบได้ยาก ทางวัดวังหม้อจึงฝากบอกบุญและขอเชิญร่วมงานตั้งธรรมหลวง ณ วัดวังหม้อ ระหว่างวันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2553 มาในการนี้

สนใจติดต่อ: ท่านพระครูวิฑิตพัฒนภิธาน เจ้าอาวาสวัดวังหม้อ
เบอร์โทร: 0861910319

ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง

พฤหัส 28
ตุลา 53