วัดพระธาตุลำปางหลวง โดย คุณ moofight ถ่ายราวๆปี 2551 ภาพจาก http://www.pixpros.net/forums/showthread.php?t=25898

Thursday, July 2, 2009

เมื่อพระเรียนเป็น “ภัณฑารักษ์” ที่วัดปงสนุก ลำปาง : บทความในเว็บประชาไท


ป้ายแสดงกิจกรรมหน้าวัดปงสนุก


บรรยากาศการ workshop

วัดปงสนุกยังฮอตไม่เลิก มีคนนำความเคลื่อนไหวกิจกรรมของวัดไปลงใน เว็บไซต์ประชาไท ที่เป็นสื่อมวลชนออนไลน์กระแสรอง นำเสนอเรื่องการอบรมภัณฑารักษ์ถวายพระภิกษุจากวัดทั่วภาคเหนือ เชิญอ่านรายละเอียดด้านล่าง

เมื่อพระเรียนเป็น “ภัณฑารักษ์” ที่วัดปงสนุก ลำปาง
Wed, 2009-07-01 06:37

คณะวิจิตรศิลป์ มช. ร่วมกับ ยูเนสโก และมหาวิทยาลัยดีกิ้น ออสเตรเลีย จัดการอบรมให้แก่พระสงฆ์เรื่อง “โครงการเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ยูเนสโก” ที่วัดปงสนุก จ.ลำปาง ผู้จัดหวังพัฒนาศักยภาพชุมชนรอบวัดให้สามารถจัดการศิลปวัตถุในวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ วิธีรักษาความปลอดภัย ตลอดจนวิธีการในการจัดแสดงต่อสาธารณะ

คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับองค์กรศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และมหาวิทยาลัยดีกิ้น ประเทศออสเตรเลีย จัดการอบรมให้แก่พระสงฆ์เรื่อง “โครงการเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ยูเนสโก” (UNESCO Museum-to-Museum Partnership Project) เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา และสร้างความตระหนักในการดูแลรักษา และการอนุรักษ์ รวมถึงการจัดการมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ให้แก่คณะสงฆ์ โดยประเทศไทยได้รับเลือกเป็นโครงการนำร่องเป็นประเทศแรกในเอเชียแปซิฟิก ภายใต้แผนงาน “Museum Capacity-Building Program for Asia and the Pacific region”

ทั้งนี้แผนงานดังกล่าวได้แบ่งการจัดอบรมเป็น 2 ส่วน คือ การอบรมเกี่ยวกับพุทธศิลป์ล้านนา ซึ่งได้จัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และการอบรมเกี่ยวกับการจัดการพิพิธภัณฑ์ ภายใต้ชื่อ “UNESCO Museum Capacity Building Program, Lampang Workshop” ในระหว่างวันที่ 16 - 21 มิถุนายน 2552 ที่วัดปงสนุก จังหวัดลำปาง เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการดูแลรักษา การอนุรักษ์ รวมถึงการจัดการมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติให้แก่คณะสงฆ์ของจังหวัดลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่โดยวัดปงสนุกซึ่งเป็นสถานที่จัดงานนั้นเคยได้รับรางวัลการอนุรักษ์ Award of merit จากโครงการ 2008 Asia-Pacific Heritage Award ของยูเนสโกในปีที่ผ่านมาจากเรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูวิหารพระเจ้าพันองค์ อีกทั้งภายในวัดนั้นมีพิพิธภัณฑ์ที่ดำเนินการโดยพระสงฆ์และคนในชุมชนเอง

รศ.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์
ผู้ประสานงานโครงการ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวนั้นมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของชุมชนรายรอบวัดให้สามารถจัดการศิลปวัตถุในครอบครองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะการศึกษาทำความเข้าใจและลำดับความสำคัญศิลปวัตถุต่างๆ ในครอบครอง การดำเนินการอนุรักษ์ป้องกันความเสียหาย รวมทั้งให้ความประทับใจแก่ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ต่อไป โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรวมทั้งพระภิกษุสงฆ์นั้นจะเป็นผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการจัดการเช่นที่เป็นมาตามประเพณีปฏิบัติแต่โบราณนอกจากนี้ยังจะส่งผลให้ผู้ชำนาญการด้านพิพิธภัณฑ์ประจำศูนย์มรดกวัฒนธรรมแห่งเอเชียแปซิฟิก ณ มหาวิทยาลัย ดีกิ้น ได้พัฒนาความสัมพันธ์กับวัดต่างๆ ที่เข้าร่วมอบรม โดยผ่านทางกิจกรรมการฝึกอบรมที่จัดขึ้น

“ปัจจุบันศิลปวัตถุในวัดต้องเสี่ยงต่อภัยคุกคามทั้งจากผู้ค้างานศิลปะและความเสียหายจากสิ่งแวดล้อม โครงการฯ จึงต้องการฝึกอบรมพระภิกษุให้เข้าใจเทคนิคต่างๆ ที่ถูกต้องในการอนุรักษ์ การจัดการศิลปวัตถุในครอบครอง การรักษาความปลอดภัย ตลอดจนวิธีการในการจัดแสดงต่อสาธารณชน ส่วนใหญ่ศิลปวัตถุที่พบในวัดมักประกอบด้วยพระพุทธรูป ภาพพระบฎแสดงเรื่องชาดก ปั๊ปสา และหีบธรรมเป็นหลัก”

สำหรับการฝึกอบรมครั้งนี้นั้นจะมุ่งให้ประโยชน์แก่พระภิกษุในวัดปงสนุกและพระจากวัดอื่นๆ ในจังหวัดลำปาง ตลอดจนพระสงฆ์จากวัดในเชียงใหม่และลำพูนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งมีมรดกวัฒนธรรมในครอบครอง เนื่องจากวัดหลายแห่งได้เห็นตัวอย่างจากวัดปงสนุกจึงร้องขอให้มีการฝึกอบรมพระสงฆ์รวมทั้งบุคลากรของวัดเกี่ยวกับการอนุรักษ์และบริหารจัดการศิลปวัตถุในครอบครอง โดยบางส่วนนั้นมีความตั้งใจที่จะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ของตนโดยให้ชุมชนดูแลเช่นเดียวกับที่วัดปงสนุก ซึ่งหลักสูตรการอบรมครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้สามารถนำกระบวนการประเมินความต้องการมาใช้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ พร้อมกับทดสอบความเป็นไปได้ที่จะให้การฝึกอบรมรูปแบบต่างๆ แก่ชุมชน โดยผลการฝึกอบรมนั้นจะถูกนำมาใช้ในการวางแผนยุทธศาสตร์พิพิธภัณฑ์ชุมชนต่อไป

ส่วนในระยะยาวนั้นผลที่ได้คาดว่าจะสามารถสร้างจิตสำนึกและความต้องการที่จะอนุรักษ์มรดกทางศาสนาในหมู่ผู้มีอำนาจตัดสินใจในพื้นที่ และเสริมสร้างศักยภาพในการให้การฝึกอบรมเกี่ยวกับงานพิพิธภัณฑ์อย่างต่อเนื่องในพื้นที่ผ่านทางหน่วยงานและองค์กรฝึกอบรมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งการที่องค์การยูเนสโกและรัฐบาลสหรัฐฯ ร่วมมือกันครั้งนี้นั้นน่าจะส่งผลดีแก่พระสงฆ์และชาวบ้านจังหวัดลำปางในการอนุรักษ์ทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของชุมชนซึ่งก็คือการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของอาณาจักรล้านนาด้วย รศ.วรลัญจก์ กล่าว
........................
ล้อมกรอบ

วัดปงสนุก จุดกำเนิดคนตัวเล็กกับการอนุรักษ์ สู่การยอมรับจากยูเนสโก
รณวัฒน์ จันทร์จารุวงศ์ รายงาน

องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)
สำนักงานภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกได้มอบรางวัลทรงคุณค่า (Award of Merit) ให้กับทางวัดปงสนุกและคณะทำงาน อันเนื่องมาจาก “โครงการอนุรักษ์วิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุก อ.เมือง จ.ลำปาง” ด้วยแนวคิดในการปฏิบัติงานอนุรักษ์แบบบูรณาการ ที่ไม่เพียงแต่อนุรักษ์เฉพาะตัวของผลงานจิตรกรรมฝาผนัง และโครงสร้างสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่ยังให้ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ โดยได้จัดพิธีมอบรางวัลขึ้นที่วัดปงสนุก จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ที่ผ่านมา

ดร.ริชารด์ อิงเกิลฮาร์ท
ที่ปรึกษาอาวุโสผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ด้านวัฒนธรรมประจำองค์การยูเนสโกได้กล่าวว่ารางวัลนี้เป็นรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกขององค์การยูเนสโก ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อยกย่องให้ภาคเอกชนร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์อาคารและสิ่งก่อสร้างที่เป็นมรดกอันทรงคุณค่าในภูมิภาค โดยโครงการซึ่งได้รางวัลนั้นเป็นเครื่องยืนยันแนวความคิดว่าการอนุรักษ์ควรเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแต่เพียงฝ่ายเดียว

รศ.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์
อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าโครงการ ได้กล่าวว่าโครงการอนุรักษ์ในครั้งนี้นั้นเริ่มต้นจากความต้องการของชุมชนเอง และมีการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนท้องถิ่น ภาคเอกชน ศิลปิน และนักวิชาการ โดยเริ่มจากการศึกษาวิจัยทางกายภาพและประวัติศาสตร์ชุมชนเกี่ยวกับวิหารพระเจ้าพันองค์ ซึ่งทำให้ได้พบองค์ความรู้ในอดีตเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านคติความเชื่อ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์

จากการศึกษาพบว่าหม่อนดอยซึ่งเป็นฐานของวิหารพระเจ้าพันองค์นั้นเกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ ซึ่งมีอายุเกิน 500 ปี และน่าจะเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีการสร้างหม่อนดอยเอง ในการศึกษานั้นได้มีการขุดข้างใต้วิหารพระเจ้าพันองค์ลึกลงไปที่ระดับ 7.5 เมตร โดยพบอาคาร 3 หลัง ที่มีอายุเกิน 500 ปี ซึ่งสอดคล้องกับประวัติศาสตร์ที่ระบุว่าหมื่นโลกนครผู้รักษาเมืองเขลางค์เคยใช้เป็นที่ตั้งรับทัพอยุธยาที่ยกขึ้นมาตีล้านนาครั้งแรกในปี พ.ศ. 1929

ลักษณะตัวอาคารนั้นมีการผสมผสานระหว่างศิลปกรรมล้านนา พม่าและจีน ซึ่งหลงอยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางชาติพันธ์ระหว่างชาติเหล่านี้ ทั้งยังมีความเชื่อสืบกันมาว่า วิหารหลังนี้สร้างโดยช่างเชียงแสน เลียนแบบหอคำเมืองเชียงเกี๋ยง (เชียงเจิ๋ง) ในสิบสองปันนา ประเทศจีน ซึ่งไม่หลงเหลืออยู่แล้วในปัจจุบัน

รศ.วรลัญจก์ กล่าวว่าการรวบรวมวัสดุที่ต้องใช้ในการบูรณะนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก วัสดุหลายอย่างนั้นไม่สามารถหาใหม่ได้ ตัวอาคารเกือบทั้งหลังประดับด้วยกระจกจืน หรือกระจกตะกั่วที่สามารถงอได้ ซึ่งเป็นกระจกเก่าแก่ที่ในสมัยนี้ไม่มีการทำกันแล้ว ถึงแม้มีความพยายามที่จะผลิตขึ้นมาใหม่แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากองค์ความรู้ในการผลิตกระจกจืนนั้นได้สูญหายไป ขนาดกระทรวงพลังงานปรมาณูเพื่อสันติพยายามใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ก็ยังไม่สามารถผลิตได้ จึงต้องไปรวบรวมมาจากวัดแห่งอื่นที่ได้รื้อทิ้งโดยไม่ทราบค่า ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก นอกจากนี้เสาก็ พบว่าเสากลมภายในวิหารนั้นที่เป็นสีแดงนั้นได้เคยมีการลงรักปิดทองก่อนจะทาสีทับภายหลัง ซึ่งก็ได้มีการลงรักใหม่ให้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด

นายอนุกูล ศิริพันธ์
อาจารย์ประจำวิทยาลัยอินเตอร์เทค ลำปาง ซึ่งเป็นอดีตผู้นำชุมชนปงสนุก และเป็นตัวตั้งตัวตีในการอนุรักษ์วัดปงสนุกนั้นกล่าวว่า ตนมีความคิดที่ต้องการจะอนุรักษ์วิหารแห่งนี้ตั้งแต่แรกจนเมื่อได้เข้าไปศึกษาที่ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้นำความรู้ที่ได้มาใช้ในการอนุรักษ์วิหารแห่งนี้ โดยได้มีการฟื้นฟูประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ ที่เคยมีในอดีตให้นำมามาปฏิบัติในปัจจุบัน ทั้งได้มีการสืบสานองค์ความรู้ให้กับชุมชนโดยได้มีการอบรมช่างพื้นเมืองในพื้นที่ให้สามารถบูรณะเองได้เพื่อให้ทำหน้าที่ดูแลอาคารเหล่านี้ต่อไป

ขณะนี้ทางวัดปงสนุกได้รับความร่วมมือจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดทำพิพิธภัณฑ์ในบริเวณวัดเพื่อจัดแสดงศิลปวัตถุโดยยึดหลักความเรียบง่าย ทั้งป้ายข้อมูลและไฟส่องสว่างที่ใช้ แม้แต่เสื่อปูพื้นก็เป็นฝืมือถักทอของชาวบ้านในพื้นที่เอง

ทั้งนี้องค์การยูเนสโกได้เคยมอบรางวัลให้แก่โครงการอนุรักษ์ดีเด่นในประเทศไทยจำนวนหนึ่ง โดยครอบคลุมตั้งแต่อาคารที่เป็นวัง คือ โครงการอนุรักษ์พระราชวังเดิม และโครงการอนุรักษ์ตำหนักใหญ่ วังเทวเวศน์ กรุงเทพมหานคร และอาคารที่เป็นหน่วยงานอย่างสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมถึงโครงการอนุรักษ์ชุมชน เช่น วัดสระทอง จังหวัดขอนแก่น และชุมชนอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
........................
ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง

พฤหัส 2
กรกฎา 52

No comments: