ศาลากลางจังหวัดหลังเดิม ต.หัวเวียง อ.เมืองจ.ลำปาง สภาพก่อนปรับปรุง
*บทความนี้นำมาจาก ความหลังและความหวังใน‘หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง’ณ ศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม เขียนโดย
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ เมื่อ 4 พฤศจิกายน 2550 เพื่อนำเสนอต่อสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดลำปาง
อันเนื่องจาก จังหวัดลำปางมีนโยบายทางวัฒนธรรมที่สนใจจะ รื้อฟื้น"หอศิลป์"ขึ้นมาอีกครั้ง
1. ความเข้าใจเบื้องต้น1.1 หอศิลป์ฯ การเดินทางที่ยังไม่เห็นจุดหมายแนวความคิดการเปลี่ยนการใช้สอยอาคาร และพื้นที่บริเวณส่วนราชการ ไปเป็นอาคารสาธารณะ
เพื่อรองรับกิจกรรมของเมืองนั้นๆ โดยเฉพาะศูนย์ราชการจังหวัด เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นหลายแห่งใน
ประเทศไทยเช่น ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ณ สี่แยกกลางเวียง ศาลากลางจังหวัดเชียงราย เป็นต้น
โดยเฉพาะกรณีศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ที่ปรับเปลี่ยนไปเป็นหอศิลปวัฒนธรรม เมืองเชียงใหม่
ที่มีฐานะเดิมเป็นบริเวณคุ้มหลวงของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
ก่อนเปลี่ยนไปเป็นศาลาว่าการมณฑลพายัพ และศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่
เช่นเดียวกันกับแนวความคิดพิพิธภัณฑ์ประจำเมือง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ได้เสนอและให้ชื่อพื้นที่
ดังกล่าวว่า “ภูมิบ้านภูมิเมือง” ซึ่งเป็นแนวโน้มสำคัญที่เน้นให้สถานที่ดังกล่าวเป็นแหล่งเรียนรู้
ประวัติศาสตร์ ศิลปะความงามของบ้านเมือง ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบการจัดการบริหาร เช่น
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.น่าน ที่จัดการและบริหารโดย กรมศิลปากร หอศิลปวัฒนธรรม
เมืองเชียงใหม่ โดย เทศบาลนครเชียงใหม่"โอกาสของลำปาง"ขณะที่จังหวัดลำปางเอง หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา และมรดกทางวัฒนธรรมที่
หลากหลาย และซับซ้อน ดังปรากฏในเอกสาร
แผนที่มรดกทางวัฒนธรรมนครลำปาง (2548)
กลับขาด “สถาบัน”ที่จะศึกษา วิจัย รวบรวมข้อมูล เผยแพร่ จัดแสดงนิทรรศการ ให้กับชาวลำปาง
และผู้มาเยือนได้อย่างเหมาะสม การเป็นหน่วยงานกลางที่จะเป็นผู้ประสานงานเครือข่าย พิพิธภัณฑ์
หรือแหล่งเรียนรู้ภายในท้องถิ่น ตลอดจนเชื่อมโยงกับพิพิธภัณฑ์ระดับประเทศ หรือแม้แต่กับนานาชาติ
แม้กระทั่งบทบาทในการสนับสนุนการสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมที่จะเป็นฐานในการยกระดับ
งานส่วนต่างๆเช่น การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม
ในสมัย
นายเฉลิมพล ประทีปะวณิช ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง (พ.ศ.2545 – 2546)
ได้ริเริ่มที่จะจัดตั้ง
“หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง” (ชื่อใกล้เคียงกับ หอศิลปวัฒนธรรม
เมืองเชียงใหม่)ณ อาคารศาลากลางหลังเดิม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปางได้ขอใช้ชั่วคราว
ในช่วงเวลาดังกล่าวกำลังจะย้ายไปยังสถานที่ใหม่บริเวณอำเภอห้างฉัตร จึงเห็นเป็นโอกาสที่จะทำการ
ผลักดันพื้นที่ดังกล่าวแต่อย่างไรก็ตามการดำเนินการก็ยังไม่พัฒนาการไปสู่โครงการที่เป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ตามกระแสความคิดดังกล่าวก็เป็นที่รับรู้กันพอสมควรในระดับจังหวัดลำปาง หากไม่ดูเฉพาะ
การทำงานในส่วนของหน่วยงานราชการแล้ว ยังปรากฏการดำเนินการในกลุ่มคนและหน่วยงาน
นอกภาคราชการอีกด้วยกิจกรรมสำคัญที่เป็นการประกาศต่อสาธารณะให้ “หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง”
เป็นประเด็นสาธารณะก็คือ
“งานฮอมแฮง...แป๋งข่วงเวียงละกอน (เพื่อหอศิลป์) ครั้งที่ 1”เมื่อวันที่ 24 – 26ตุลาคม 2546 แต่ยิ่งกว่านั้นก็คือ การรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อผลักดัน
ให้พื้นที่ศาลากลางจังหวัดหลังเดิมให้เป็นหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง อันประกอบด้วยกลุ่มคนและ
หน่วยงานนอกภาคราชการ ได้แก่
โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ลำปาง
(ต่อไปจะเรียกว่า กลุ่มล้านคำลำปาง)หอการค้าจังหวัดลำปาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง กลุ่มสล่าเขลางค์ กลุ่มนักดนตรีกลุ่มศิลปินอิสระ และผู้สนใจอื่นๆอีก กิจกรรมนี้เปรียบได้ว่า
เป็นการทดลองใช้พื้นที่ กล่าวคือ ได้ใช้พื้นที่ชั้นล่างของอาคารศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม
เป็นพื้นที่จัดนิทรรศการศิลปกรรม โดย กลุ่มสล่าเขลางค์และนิทรรศการประวัติศาสตร์ โดย
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง พื้นที่โถงของอาคารก็มีการแสดงดนตรีสากล
ขณะที่บริเวณรอบนอกอาคาร สนามหญ้าเป็นที่ตั้งของเวทีการแสดง พื้นที่นั่งชมการแสดง และร้านรวงโดยรอบ
ซึ่งเวทีการแสดงก็เปิดกว้าง ให้เยาวชน และผู้มีใจรักทางการแสดงศิลปวัฒนธรรม ได้นำเสนอต่อสาธารณะ
จากการทดลองดังกล่าวทำให้เห็นศักยภาพของพื้นที่ ที่สามารถจะปรับ และดัดแปลงใช้เพื่อกิจกรรม
สาธารณะอันเนื่องมาจากงานศิลปวัฒนธรรม กลุ่มดังกล่าวจึงเห็นเป็นการสมควรที่จะตั้งเป็นกลุ่มเพื่อ
เคลื่อนไหวผลักดันพื้นที่ดังกล่าวร่วมกัน และหาทางเชื่อมโยงกับหน่วยงานราชการระดับจังหวัด ในนาม
คณะทำงานฮอมแฮงเพื่อหอศิลป์นครลำปาง (ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อ คณะทำงานเพื่อหอศิลป์ฯนครลำปาง)
การจัดงานฮอมแฮง...แป๋งข่วงเวียงละกอน(เพื่อหอศิลป์) ครั้งที่ 1
24-26 ตุลาคม 2546 ณ ศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิมอย่างไรก็ตามปรากฏว่า มีการพยายามร่วมมือระหว่างคณะทำงานเพื่อหอศิลป์ฯนครลำปาง กับจังหวัด
ลำปาง มีการเข้าพบ
นายอมรทัต นิรัติศยกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง (ดำรงตำแหน่ง พ.ศ.2546
-2550) เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2547 เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำเสนอ
“หอศิลป์ถิ่นลำปางและข่วงเวียงละกอน”ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่ หลักการและเหตุผลในการจัดตั้งหอศิลป์ฯ ที่เน้นให้เป็น
พื้นที่สำคัญของเมืองเป็นพื้นที่แห่งการรู้จักอัตลักษณ์ ความเป็นตัวตนลำปาง เป็นพื้นที่โอกาสสาธารณะ
ที่มีพื้นฐานเป็นงานศิลปวัฒนธรรมขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ของเยาวชนลำปาง และนำเสนอกระบวนการ
ที่ครอบคลุมการตั้งต้นความเป็นไปได้ ไปจนถึงการบริหารจัดการ ที่อยู่ในการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจ
ของชาวลำปาง ขณะเดียวกันก็เน้นข้อควรระวังโดยมีบทเรียนและกรณีศึกษาจากที่อื่นๆมาประกอบ
"พื้นที่ภายใต้การดูแลของอบจ.ลำปาง"เมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปางทำการย้ายออกไป อาคารดังกล่าวก็ไม่มีหน่วยงาน
รับผิดชอบดูแลอย่างชัดเจน จังหวัดลำปางจึงได้ทำการ "ส่งมอบอาคารศาลากลางจังหวัดลำปาง (หลังเดิม)”
ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง (ต่อไปเรียกว่า อบจ.ลำปาง) “ดูแลและบำรุงรักษา” เพื่อให้อาคารฯ
ดังกล่าวสามารถรองรับการเป็นหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง ดังหนังสือ ที่ ลป 0016.3/2363
ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2547 ลงนามโดย
นายอมรทัต นิรัติศยกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
ตั้งแต่นั้นมาการดำเนินการใดๆในพื้นที่ดังกล่าวก็ต้องผ่านการอนุญาตจาก อบจ.ลำปางมานับแต่นั้น
ในช่วงเวลานั้นอบจ.ลำปาง จะทำการสร้างสำนักงานใหม่ จึงใช้อาคารดังกล่าวไปพลางๆ และได้ทำการเว้นพื้น
ที่ด้านล่างบางห้องไว้เพื่อรองรับกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมที่จะเกิดขึ้น การดำเนินการจึงอยู่ในลักษณะที่
คณะทำงานฮอมแฮงฯ เป็นผู้ประสานงานกลางระหว่างกลุ่มกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม และอบจ.ลำปาง
เพื่อทำการขออนุญาตใช้สถานที่และสื่อสารกับสาธารณะ เพื่อให้ประเด็นหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง
กระจายไปในวงกว้างจึงปรากฏกิจกรรมต่างๆ เช่น
งานฮอมแฮง...แป๋งข่วงเวียงละกอน(เพื่อหอศิลป์)
ครั้งที่ 2 เมื่อ 28 – 30 พฤษภาคม 2547 แฮปปี้คอนเสิร์ตเดย์ โดย เปียโนสตูดิโอ
ธันวาคม 2547 นิทรรศการศิลปกรรม ครูศิลป์ถิ่นล้านนา งานระดับภูมิภาค มกราคม 2548
นิทรรศการศิลปกรรม แต้มสีตีเส้นเล่นดิน โดย วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง 2547 และ 2548
งานแอ่วหอศิลป์กิ๋นข้าวแลง ครั้งที่ 1 (2547) และ 2 (2548) งานหมรับ ประเพณีทำบุญเดือนสิบ
2547 โดย ชมรมชาวปักษ์ใต้ จ.ลำปาง การจัดเสวนา โครงการครอบครัวเข้มแข็ง 2548
โดย สถาบันครอบครัวรักลูก งานนิทรรศการสัปดาห์เมืองเก่าสัญจร 2548
โดย สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง เทศบาลนครลำปาง และล้านคำลำปาง เป็นต้น
อนึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว เทศบาลนครลำปาง ไม่มีบทบาทเท่าใด เนื่องจากว่าติดปัญหาการรับรองผล
การเลือกตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทำให้สูญเสียโอกาสที่องค์กรท้องถิ่นที่น่าจะมีส่วนสำคัญ
ที่จะร่วมผลักดันโครงการนี้ ขณะเดียวกันคณะทำงานฮอมแฮงฯ ก็ตั้งกลุ่มงานย่อยเพื่อดำเนินการ
ต่อภาพหอศิลป์ฯให้สมบูรณ์เท่าที่จะทำได้เช่น กลุ่มงานพัฒนารูปแบบ กลุ่มงานพัฒนาเนื้อหา
กลุ่มงานสร้างสรรค์กิจกรรม เป็นต้นโดยพยายามหากรอบกว้างๆที่จะอธิบายภาพหอศิลป์ฯ
สู่สาธารณะเท่าที่จะทำได้
"จังหวัดลำปางก็สนับสนุน แต่เจ้าภาพยังไม่ชัดเจน"สำนักงานจังหวัดลำปาง เองก็ได้จัดงบประมาณทำการว่าจ้างในการวิจัย 2 ชิ้นเป็นอย่างน้อยได้แก่
วิทยาลัยโยนกทำวิจัย
“โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อตั้งศูนย์ศิลปวัฒนธรรม จังหวัดลำปาง” เมื่อกันยายน 2547 บนฐานการตัดสินใจเลือกให้พื้นที่ดังกล่าว ที่ค่อนข้างเฉพาะ เจาะจงไปที่
การรองรับการแสดงงานศิลปกรรมล้วนๆไม่ได้เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์แต่อย่างใด และ
การว่าจ้างมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์ลำปางให้จัดประชุมแสดงความคิดเห็นขึ้น
ช่วงกันยายน 2548
ขณะที่ปลายปี 2548 จังหวัดลำปางก็ได้ประสานงานกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง
และกลุ่มล้านคำลำปาง ให้งบประมาณในการทำสื่อสาธารณะเพื่อการจัดตั้งหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง
จำนวน 76,250 บาทโดยผลิตสื่อได้แก่ หนังสือจากอดีตสู่อนาคตเมืองนครลำปาง ที่เป็นการสรุป
ภาพรวมความเป็นมาของเมืองลำปางใน 40 หน้ากระดาษ จดหมายข่าว แผ่นพับ โปสเตอร์ คัทเอาท์
และป้ายผ้าทำการประชาสัมพันธ์
ฉะนั้นการสนับสนุนจึงไม่ใช่ปัญหาเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับช่องว่างของการรับเป็น”เจ้าภาพ”เต็มตัว
แม้คณะทำงานฮอมแฮงฯ และหน่วยงานราชการจะผลักดันร่วมกัน จนถึงมีการแต่งตั้ง
คณะกรรมการ
จัดตั้งหอศิลปวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2548ซึ่งมีฐานะเป็น
คณะกรรมการระดับจังหวัด แต่ก็ไม่มีผลใดๆในเชิงรูปธรรมที่จะผลักดันให้สำเร็จ
อย่างไรก็ตามยังมีกลุ่มศิลปินพื้นบ้านในนาม ชมรมอนุรักษ์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง
(ต่อไปเรียกว่า ชมรมฮีตละกอน)
ที่อาสามาเปิดพื้นที่ศาลากลางหลังเดิม เพื่อสอนดนตรีพื้นเมืองในวันเสาร์-อาทิตย์ ให้แก่เยาวชน
และผู้สนใจ มาจนถึงบัดนี้หรือการพยายามสร้างพื้นที่บนอินเตอร์เน็ต เช่นการจัดทำเว็บไซต์ชื่อว่า
“on Lampang :เปิดโลกลำปาง” ใน
http://onlampang.blogspot.com ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล
ประวัติศาสตร์ ศิลปะ ภาพเก่า และข่าวกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมในลำปางที่เกิดขึ้น
ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2549 แม้กลุ่มอื่นๆจะมีบทบาทเกี่ยวกับหอศิลปวัฒนธรรมน้อยลงทุกทีก็ตาม
1.2 ที่เห็นและเป็นอยู่แม้จะเป็นที่น่าดีใจว่า กาดกองต้า ถนนคนเดินจะเป็นกิจกรรมที่สร้างความมีชีวิตชีวาให้กับพื้นที่เมือง
ลำปางได้อย่างน่าชื่นชม แต่อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวขั้นต้นมาแล้วว่า การขาดแคลน “สถาบัน”
ที่จะทำหน้าที่เป็นแนวหน้าในการเป็นผู้ให้ความรู้กับสังคมลำปางในเรื่องศิลปะวัฒนธรรม การเป็นผู้วิจัย
ศึกษา เผยแพร่ ก็ยังไม่มีความชัดเจนโดยเฉพาะในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมีคุณค่าอย่างสูง กลับเกิด
วิกฤตการขาดแคลนฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ของท้องถิ่นลำปางอย่างน่าสังเกต
จะมีเพียงความพยายามของชมรมฮีตละกอน ที่เปิดการสอนดนตรีพื้นเมืองดังที่กล่าวมาแล้ว
ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนและยกระดับอย่างเป็นจริงจัง
ซึ่งก็เนื่องมาจากปัญหาการไม่สามารถหาเจ้าภาพที่จะสถาปนาพื้นที่ดังกล่าวให้อำนวยความสะดวกต่อ
ผู้ที่อาสามาช่วยงานศิลปวัฒนธรรม และผู้ที่อยากจะเข้ามาเรียนรู้
การมีหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง จะเป็นช่องทางใหญ่ จะสถาบันที่เป็นชุมทางการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมนครลำปางเมื่อเรามีต้นทุนที่ดีอยู่ในมือ (ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า) ที่น่าจะเป็นคำถามต่อไปก็คือ
การจัดการสถานที่หลังจากที่ อบจ.ลำปาง ทำการย้ายออกไปแล้ว และน่าสนใจว่าพื้นที่ที่
อบจ.ลำปางใช้อยู่ก่อนหน้าคือ บริเวณอาคาร 2 ชั้น และศาลาประชาคม ในพื้นที่ดังกล่าว
จะเป็นอย่างไรต่อไป?(ต่อตอนที่ 2)
.................................
ผู้สื่อข่าว
on Lampang : เปิดโลกลำปาง
ศุกร์ 7
ธันวา 50