ผ่านมุมมอง ศิลปะ/วัฒนธรรม/ประวัติศาสตร์/วรรณกรรม_art/culture/history/literature โดยการบริหารใหม่ของ มูลนิธิน้อย-ลูกซัด เสาจินดารัตน์ อนุสรณ์
Friday, July 27, 2007
ศาลปกครองสั่งคุ้มครองสุสานหอย 13 ล้านปีที่แม่เมาะ
สภาพพื้นที่สุสานหอย 13 ล้านปีที่แม่เมาะ
วารสารวิชาการ Science Asia ที่รายงานการสำรวจ สุสานหอยดังกล่าว
“นี่คือชัยชนะของประชาชน” เสียงจากคนแม่เมาะหลังศาลปกครองสั่งคุ้มครองสุสานหอย 13 ล้านปี
เมื่อวันที่ 26ก.ค.ที่ผ่านมา นายวีระ แสงสมบูรณ์ ตุลาการศาลปกครอง ขึ้นบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีดำกรณี นายเฉลียว ทิสาระ ชาวบ้าน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง และพวก รวม 18 คน ฟ้องร้องคณะรัฐมนตรี(ครม.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานเหมืองแร่(กพร.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เรื่อง อนุรักษ์ซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ 13 ล้านปี ที่เหมืองถ่านหินแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง โดยพิพากษาให้ เพิกถอนมติครม.วันที่ 21 ธันวาคม 2547 ที่กำหนดพื้นที่กำหนดพื้นที่แหล่งหอยขมดึกดำบรรพ์แม่เมาะรวมพื้นที่อนุรักษ์ 52 ไร่ โดยคิดพื้นที่แหล่งหอยขมดึกดำบรรพ์แค่ 18 ไร่ รวมกับพื้นที่อื่นๆอีก 34 ไร่ และมติอื่นๆที่เป็นคำสั่งของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวกับการจัดการซากหอยขมดึกดำบรรพ์
ทั้งนี้ให้รัฐมนตรีว่า การกระทรวงอุตสาหกรรม กพร.ควบคุมสั่งการให้กฟผ.แก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และให้ทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)ในพื้นที่ประทานบัตรเลขที่ 2349/16341 เพื่อสงวนรักษาไว้ซึ่งซากหอยขมดึกดำบรรพ์ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)แร่ พ.ศ.2510 ให้กฟผ.จัดทำสิ่งป้องกันมิให้เกิด การพังทลายของซากฟอสซิลอันเกิดจากการทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ และภัยธรรมชาติให้กพร.เพิกถอนประทานบัตรบริเวณพื้นที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ทั้งหมด 43 ไร่ หรือตามเนื้อที่ที่มีการสำรวจพบทั้ง หมดตามประทานบัตรเลขที่ 24349/16341 ภายใน 30 วัน และให้ครม.สั่งการให้กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนแหล่งซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์เป็นเขตโบราณสถาน โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภาย ใน 180 วัน นับแต่วันถึงคดีสิ้นสุด
หลังคำตัดสินของศาลปกครอง นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขาฯ เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ตัวแทนชาวบ้านแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง กล่าวว่า หลังจากศาลปกครองมีคำพิพากษาในครั้งนี้แล้ว ชาวบ้านแม่เมาะรู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก ซึ่งถือว่าเป็นชัยชนะเบื้องต้นที่ยิ่งใหญ่ของประชาชน ของชาวบ้านตัวเล็กๆ ที่ได้ต่อสู้กับรัฐและ กฟผ.ซึ่งใหญ่คับฟ้า และคำพิพากษาของศาลในครั้งนี้ ทำให้ชาวบ้านมีกำลังใจ และจะใช้เป็นบรรทัดฐานในการต่อสู้ของภาคประชาชนในการปกป้องรักษาทรัพยากรของชาติเอาไว้ต่อไป
“เพราะฉะนั้น หลังจากนี้ รัฐบาลจะต้องทบทวนกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ที่มีมติ ครม.ที่ให้ กฟผ.ทำลายสุสานหอยจนเหลือเพียง 18 ไร่ และต่อไป ก่อนที่รัฐจะมีมติออกมาให้ดำเนินการใดๆ ก็จะต้องคิดให้ถ้วนถี่รอบคอบเสียก่อน เพราะมิเช่นนั้นก็อาจจะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรที่มีคุณค่าอย่างน่าเสียดายอย่างนี้ ซึ่งตนเห็นว่า กรณีสุสานหอยแม่เมาะนี้ เรายังออกมาต่อสู้ช้าเกินไปด้วยซ้ำ เพราะทาง กฟผ.ได้ทำการขุดเหมืองทำลายซากฟอสซิลหอยน้ำจืดไปเป็นจำนวนมา จนเหลือเพียง 18 ไร่”
นางมะลิวรรณ กล่าวต่อว่า การต่อสู้ที่ผ่านมา เราไม่ได้ต่อสู้ด้วยกำลัง แต่ได้ต่อสู้ด้วยข้อมูลความจริง ต่อสู้กันด้วยกฎหมาย โดยชาวบ้านแม่เมาะต้องขอขอบคุณ โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม,กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสภาทนายความ ที่ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือ ให้คำแนะนำแนะนำชาวบ้าน และเป็นธุระในการดำเนินการต่อสู้ทางกฎหมายจนชนะคดีในครั้งนี้
รายละเอียดของฟอสซิลหอยขมเทียบขนาดกับปากกา
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (27 ก.ค.) ทางชาวบ้านแม่เมาะ เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะและเครือข่ายฯ จะได้นัดร่วมประชุมหารือกันอีกครั้ง เพื่อสรุปผลการเรียกร้องต่อสู้ที่ผ่านมา และเพื่อหามาตรการในการที่จะร่วมกันปกป้องดูแลพื้นที่สุสานหอยกันต่อไป โดยประเด็นสำคัญเร่งด่วนหลังจากนี้ เราจะรีบทำหนังสือคัดค้านไม่ให้ฝ่ายรัฐหรือ กฟผ.ได้ยื่นอุทธรณ์ เพราะไม่เช่นนั้น ทุกคนเกรงว่า ต่อไปอาจจะมีการดำเนินการใดๆ ที่จะทำให้สุสานหอยเสียหายได้ในอนาคต แต่อยากให้รัฐและ กฟผ.รับรู้ว่า เราไม่ได้ปกป้องต่อสู้เพื่อตัวเอง แต่เพื่อประเทศชาติส่วนรวม
“ในความเห็นส่วนตัว ตนไม่มั่นใจ กฟผ.เลย เพราะที่ผ่านมา การดำเนินการใดๆ ของ กฟผ.ไม่ได้มีการคำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ได้คำนึงความสำคัญของซากหอยโบราณเลย แต่จะมองเพียงแค่ผลประโยชน์และกำไรเพียงเท่านั้น ซึ่งอาจมีการเปิดเหมืองต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งตอนนี้ ทราบมาว่ามีการขุดเหมืองเฟส 6 ไปแล้ว และมีอีกหลายเฟสที่กำลังดำเนินการอยู่ ดังนั้น จึงฝากไปยังคนไทยทั้งประเทศที่จะต้องช่วยกันออกมาปกป้องดูแลสุสานหอยเอาไว้อย่าให้สูญหายอีกต่อไป” นางมะลิวรรณ กล่าวทิ้งท้าย
ในขณะที่ นายสุรชัย ตรงงาม ผู้ประสานงานโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม, ทนายความผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีปกป้องแหล่งหอยขมดึกดำบรรพ์ ที่เหมืองแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ต่อศาลปกครองกลาง ตามคดีหมายเลขดำที่ 459/2548 เปิดเผยว่า ศาลชั้นต้นตัดสิ้นคดีแล้วให้เราชนะ ซึ่งทางผู้ถูกฟ้องร้องก็อาจยื่นอุทธรณ์ได้ต่อไป แต่ถ้าคดีนี้สิ้นสุดจะทำให้เกิดคุณประโยชน์ใน 2 ประการ คือ 1 เป็นบทเรียนในการต่อสู้รักษาทรัพย์สมบัติ โบราณสถานโบราณวัตถุของชาติ ของคนในท้องถิ่น การทำงานของรัฐที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทำให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนรวม ดังนั้นการตัดสินใจใดๆ ก็ตามต้องไม่ให้รัฐมีอำนาจแต่เพียงฝ่ายเดียว
ประการที่ 2 สิ่งที่สูญเสีย ได้ถูกทำลายไปแล้ว ทำให้เห็นว่าอนาคตการกระทำเช่นนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นบทเรียนที่รัฐต้องตอบว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น รัฐเอง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือองค์กรใด และจะรับผิดชอบอย่างไร ที่ไม่ใช่เพียงแค่การขอโทษ หรือการเยียวยา แต่ต้องหาทางป้องกันในทางกฎหมาย เพื่อสรุปเป็นบทเรียนสำหรับการตัดในสินคดีความต่อๆ ไป
ภาพแสดงชั้นของฟอสซิลหอยขม ขนาดมหึมา
ส่วนการทำงานของชาวบ้านนายสุรชัย แสดงความเห็นว่าชาวบ้านต้องดำเนินงานกันต่อไปเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล ทำการศึกษาว่าพื้นที่ 18 ไร่ที่เหลืออยู่จะต้องมีการจัดการดูแลอย่างไรและจะให้รัฐช่วยเหลือต่อไปได้อย่างไร
ทั้งนี้ หลังจากที่ศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนมติ ครม.ลดพื้นที่สุสานหอย 13 ล้านปี กลางเมืองถ่านหินแม่เมาะ พร้อมให้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุ โดยให้กระทรวงทรัพยากรฯ เข้าดูแลพื้นที่ภายใน 180 วัน นั้น ได้มีหลายฝ่ายตั้งคำถามกันว่า รัฐจะต้องรับผิดชอบหรือไม่ กับกรณีที่มีมติ ค.ร.ม.เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2547 ที่ให้ลดพื้นที่อนุรักษ์ซากหอยขมดึกดำบรรพ์อายุกว่า 13 ล้านปี ในเหมืองถ่านหินแม่เมาะจาก 43 ไร่ เหลือเพียง 18 ไร่ หรือในกรณีที่ กฟผ.ในฐานะที่เป็นฝ่ายเข้าไปไปเปิดหน้าดินจนทำลายซากฟอสซิลหอยโบราณ อายุ 13 ล้านปี จนเหลือพื้นที่แค่ 18 ไร่
ที่มา จากเว็บไซต์ ประชาไท
http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_
ptcms&ContentID=9011&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai
ครับกรณีนี้ก็เคยเป็นข่าวลงหน้าหนึ่งมติชนมาแล้วเมื่อเำกือบสองปีก่อน คงต้องรอดูว่า ฝ่ายจำเลยจะอุทธรณ์กันยังไงต่อไปนะครับ
ผู้สื่อข่าว
on Lampang : เปิดโลกลำปาง
27 กรกฎา 50
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
Keep up the good work.
Post a Comment