วัดพระธาตุลำปางหลวง โดย คุณ moofight ถ่ายราวๆปี 2551 ภาพจาก http://www.pixpros.net/forums/showthread.php?t=25898

Thursday, February 7, 2008

80 ปี สักเสริญ(ศักดิ์) รัตนชัยฯ


"อ.สักเสริญ (ศักดิ์) รัตนชัย"
http://saksern.page.tl/




"คู่แท้" ถ่ายคู่กับภรรยา สมัยยังหนุ่มสาว
http://saksern.page.tl/Gallery/pic-8.htm

80 ปี สักเสริญ(ศักดิ์) รัตนชัย

ผู้บุกเบิกงานประวัติศาสตร์ และการสร้างความเป็นลำปาง

เมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว สักเสริญ หรือ ศักดิ์ รัตนชัย ได้รับรางวัล ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม สาขามนุษยศาสตร์ภาคเหนือ พ.ศ.2530 โดย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เพื่อประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ ในปีนั้นมีบุคคลผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมภาคเหนือ 2 ท่าน คือ อาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย (จังหวัดลำปาง) สาขามนุษยศาสตร์ และ พ่อครูไชยลังกา เครือเสน (จังหวัดน่าน) สาขาศิลปะ การสรรหา และคัดเลือกดังกล่าว ต้องผ่านการกลั่นกรองจากหลายขั้นตอน เริ่มจากมติของกรรมการศูนย์วัฒนธรรมจังหวัด มติความเห็นชอบอนุกรรมการวัฒนธรรมจังหวัด และเข้าสู่การพิจารณาของกรรมการคัดเลือก ครานั้นได้มีการจัดทำหนังสือรวบรวมประวัติและผลงาน เป็นอนุสรณ์เมื่อ พ.ศ.2530


"ประวัติโดยย่อ"
เกิดปีมะโรง วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2471 เป็นบุตรนายกิม และนางบัวเกี๋ยง รัตนชัย เกิด ณ บ้านสี่แยกสถานีรถไฟนครลำปาง ต.สบตุ๋ย อ.เมือง ลำปางเชื้อชาติไทย สัญชาติไทย นับถือศาสนาพุทธ คู่สมรสชื่อ นางทองสุข รัตนชัย(เดชะ) สมรสเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2494 มีบุตรธิดารวม 6 คน


อาจารย์สักเสริญ เป็นคนหลายความสามารถ และมีหูตากว้างไกล ดูจากประวัติการศึกษาจะเห็นได้ว่า ได้ไปศึกษาในที่ต่างๆตั้งแต่ลำปาง รัฐฉานในพม่า คุนหมิงในจีน อาจารย์สักเสริญ มีความสามารถทั้งงานเขียนบทความ งานวิชาการ งานศิลปะประยุกต์ งานนาฏศิลป์ ตราบไปจนถึงงานเขียนตัวเมือง และหลายคนอาจไม่ทราบว่า อาจารย์สักเสริญ มีความถนัดในการใช้คอมพิวเตอร์ ขนาดที่ว่าสามารถประดิษฐ์อักษรตัวเมืองให้ใช้ในคอมพิวเตอร์ได้ กล่าวคือ
Font อักขระไทยเมือง สำหรับ WINDOWS โดยสักเสริญ รัตนชัย

"สร้างความเป็นลำปาง"

อ.สักเสริญ ยังเป็นผู้ร่วมบุกเบิกในการ ค้นหาร่องรอยความเป็นลำปาง ที่ระบุไว้ก็คือ การสำรวจทำแผนที่เมืองโบราณนอกบัญชีทะเบียนโบราณสถาน, การแจ้งกรมศิลปากรทำแผนที่ฉบับแรกเมืองเขลางค์อาลัมพางค์ ราวพ.ศ.2510 รวมถึงการนำคณะ อาจารย์ นักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปการ สำรวจซากโบราณสถาน การแจ้งความบุกรุกโบราณสถาน กู่ย่าสุตตา พ.ศ.2511 ทั้งนี้ยังรวมไปถึงการอนุรักษ์โบราณวัตถุต่างๆ เช่น ปืนใหญ่โบราณ พระพุทธรูปสำคัญ เป็นต้น

ลำปาง มีเอกสารโบราณจำนวนมากที่กระจัดกระจายอยู่ตามวัดต่างๆ บางส่วนก็สูญสลายไปตามกาลเวลา หรือถูกทำลายไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อ.สักเสริญ เป็นคนหนึ่งที่รวบรวม และจัดแปลตำนานสำคัญต่างๆไว้ เช่น ตำนานพระธาตุลำปางหลวง, พงศาวดารสุวรรณหอคำมงคล, พงศาวดารเถิน, ตำนานพระธาตุเสด็จ, ตำนานวัดพระธาตุจอมปิงค์, ตำนานวัดกู่คำ, ตำนานวัดพระแก้วดอนเต้า, ตำนานวัดศรีล้อม, ตำนานม่อนคีรีชัย, คัมภีร์วชิรเป๊กสูตร, กฎหมายมังราย ฉบับไฟม้างกัปป์ เป็นต้น


ความเป็นนักหนังสือพิมพ์ และนักประวัติศาสตร์ อาจเป็นตำแหน่งคู่กันในตัวอ.สักเสริญ หากใครที่จะทำงานวิจัย วิทยานิพนธ์ เกี่ยวข้องกับลำปางแล้ว แทบจะร้อยทั้งร้อยต้องเข้ามาสัมภาษณ์อ.สักเสริญ ผู้เสมือนเป็นคัมภีร์เรื่องลำปางที่เคลื่อนที่ได้ แม้ใครไม่สัมภาษณ์ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ต้องใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มีการอ้างอิงถึง ศักดิ์ รัตนชัย ผลงานที่เป็นระบบและโดดเด่นมากของ อ.สักเสริญ ก็คือ หนังสือชุดประวัติศาสตร์ที่ชื่อว่า “ของดีนครลำปาง” (พ.ศ.2512-2513) ที่เป็นงานค้นคว้าเกี่ยวกับ ลำปางในยุคหริภุญไชย เมืองเขลางค์รูปหอยสังข์ ลำปางในยุคล้านนา(อ.สักเสริญ นิยมคำว่า ลานนามากกว่า) ตลอดจนมาถึงยุคเจ้าเจ็ดตน (ร่วมสมัยกับกรุงรัตนโกสินทร์)

นอกจากนั้น ยังเป็นผู้ประดิษฐ์ความเป็นลำปางอย่างหนึ่ง ก็คือ บทเพลงและท่วงท่านาฏศิลป์อันเป็นอมตะจากเพลง “ร่ำเปิงลำปาง” บนฐานความสามารถที่เป็นนักดนตรีที่เล่นได้ทั้งเพลงพื้นเมืองและเพลงสากล เพลงนี้อาจเรียกกันอย่างลำลองได้ว่าเป็น เพลงชาติของนาฏศิลป์ลำปางไปเสียแล้ว

ในระยะหลัง อ.สักเสริญได้เป็นผู้ที่วิพากษ์ความเป็นลำปาง ที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆในสังคมลำปาง และนอกสังคมลำปาง โดยเฉพาะการแต่งกายที่
ฟันธงว่า หม้อฮ่อม ไม่ใช่ชุดของคนเมือง การใช้ภาษาที่ไม่ถูกกาลเทศะ และอื่นๆ ซึ่งบทบาทเชิงบู๊แนวนี้แม้จะสร้างความไม่พอใจต่อผู้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่ในสังคมประชาธิปไตยที่เปิดกว้าง การเห็นแย้งเป็นเรื่องธรรมดาและปกติ การทำงานดังกล่าวจึงเข้ากันได้ดีกับธรรมชาติของนักหนังสือพิมพ์อาวุโสอย่าง อ.สักเสริญ

ผลงานคร่าวๆ ดังกล่าว ของอ.สักเสริญ ก็เรียกได้ว่าทั้งบู๊ ทั้งบุ๋น แกก็สู้ทั้งนั้น ยังมีเรื่องราวอีกมากที่ควรเล่าและประกาศให้สาธารณะทราบถึงคุณูปการของท่าน แต่ในเวลาต่อไปขอให้เป็นท่านผู้อ่านที่รู้จัก และเป็นลูกศิษย์ ส่งข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกันเพื่อบูชาคุณ อ.สักเสริญต่างดอกไม้ ธูปเทียน ในวาระที่ครบรอบ 80 ปีชาตกาล
ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2551 ณ พื้นที่แห่งนี้.

………………………………………………………………………..
ประวัติการศึกษา

2480 จบประถมศึกษาไทยจีน ร.ร.ฮั่วเคี้ยว จ.ลำปาง
2481 ต่อจีนท่าขี้เหล็กรัฐฉาน
2482 ร่วมกลุ่มนักเรียนทุนคุนหมิงต่อที่เชียงตุง กลับไทยด้วยภาวะสงคราม
2485 ม.2 ร.ร.มัธยมราษฏร์วิทยาลัย
2489 จบขั้นมัธยม ร.ร.ประจำจังหวัดนครสวรรค์
เริ่มฝึกทำข่าวและข้อเขียนลง นสพ.ส่วนกลาง ข่าวภาพ เรียนต่อวิชาชีพ ร.ร.การบัญชี บางรัก
กรุงเทพฯ การศึกษานอกระบบทางไปรษณีย์วิชาช่างก่อสร้างแต่งหนังสือแบบเครื่องเรือน
ให้บริษัทโอเดียนสโตร์ สอบวาดเขียนโท
2521 สอบเทียบปริญญาตรีหลักสูตร วิทยาลัยดนตรีทรินินี้ (ลอนดอน) ประกาศนียบัตรวิชา
ประสานเสียง course of Harmony Univercity Extensian Conservatory Chicago Illoinois
2531 รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต(กิตติมศักดิ์)วัฒนธรรมศีกษาสภาวิทยาลัยครูลำปาง
………………………………………………………………………..
ตำแหน่งอื่นๆ

ครูภูมิปัญญาไทย ด้านภาษาและวรรณกรรม พ.ศ.2549
คนดีศรีแผ่นดิน พ.ศ.2549 ตัวแทนจังหวัดลำปาง
สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ พ.ศ.2549
2 เครื่องราชอิสิริยาภรณ์ 4รางวัลพระราชทาน
ผู้เชี่ยวชาญประจำสำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
ผู้บรรยายและอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยโยนก มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และ สถานศึกษาต่างๆ
นายกสมาคมผู้สื่อข่าวภาคเหนือ เจ้าของบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ภาคเหนือนิวส์ เสียงโยนก และ นักเขียนอิสระ
นายกสมาคมเพื่อการรักษาสมบัติและวัฒนธรรมฯ(ประจำจังหวัดลำปาง)
นักวิชาการประวัติศาสตร์ และภาษาศาสตร์โบราณ(คำเมือง)
นายกสมาคมดนตรีนครลำปาง และสมาชิกตลอดชีพสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย
ผู้ก่อตั้งสำนักจุมสะหรีลำปาง (วิถีชีวิตและศิลปะการแสดงพื้นบ้าน)
อดีตประธานสภาสังคมสงเคราะห์ภาค 5
สมาชิกยุวพุทธิกสมาคมฯผู้ก่อตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ แต่งเพลง บรรยายเผยแพร่
กรรมการสมาคมท่องเที่ยวฯ กรรมการก.ร.อ.จังหวัดฯ กรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดฯ และกรรมการอื่นๆอีกคณานับ
………………………………………………………………………..
รางวัลอันทรงเกียรติ

รางวัลโปรดเกล้าพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯรวม 2 ครั้ง
-5 ธค.2542 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่ง ดิเรกคุณาภรณ์
ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสถาบันอุดมศึกษาเกิน 10 ปี คัดเลือกโดยทบวงมหาวิทยาลัย
และการคัดเลือกคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
-5 ธค.2548 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่ง จัตตุถาภรณ์
ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสถาบันอุดมศึกษาเกิน 16 ปี คัดเลือกโดยทบวงมหาวิทยาลัย
รางวัลโปรดเกล้าพระราชทานจากสมเด็จพระรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี 4 ครั้ง
- ครั้งที่ 1 พ.ศ.2527 นักวัฒนธรรมดีเด่นอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทย บทบาท บ.ก.หนังสือพิมพ์ต่อสู้ให้ได้มาซึ่งการรักษาศิลปโบราณสถาน ไว้ได้ โดย นสพ.เสียงโยนก เป็น 1 ใน 4 ฉบับหนังสือพิมพ์คือ มติชน ศิลปวัฒนธรรม และเมืองโบราณ จากการคัดเลือกของสมาคมสยามสถาปัตยกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ฉลอง 50 ปี
- ครั้งที่ 2 พ.ศ.2531 นักอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมไทย วันมรดกไทย 1ใน2ท่านร่วมฯพณฯหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล จากการคัดเลือกของกรมศิลปากร
- ครั้งที่ 3 พ.ศ.2540 นักวัฒนธรรมดีเด่นสาขาสถาปัตยกรรม จากการคัดเลือกครั้งที่สองกรมศิลปากร จากวรรณศิลปเกี่ยวกับศิลปกรรมประวัติศาสตร์เรื่องข้อสังเกตุบางประการโยนกยูนนาน ในวารสารศิลปากร ปี พ.ศ.2535
- ครั้งที่ 4 พ.ศ.2541 รางวัลเสมาธรรมจักร จากผลวรรณกรรมงานเผยแผ่พุทธศาสนา ด้วยโสตทัศนูปกรณ์ตำนานเพลงฯคัดเลือกโดยกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ
อื่นๆ
- รางวัลดีเด่นระดับภาคเหนือของสำนักวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2530
- พ.ศ.2530 นักวัฒนธรรมดีเด่นสาชามนุษยศาสตร์ ด้วยวรรณกรรมนาฏกวีศิลป ..ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ภาคเหนือจากการคัดเลิอกของสหวิทยาลัยครูภาคเหนือ
- พ.ศ.2549 เข็มเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาไทย สาขาภาษาและวรรณกรรม
- พ.ศ.2549 รางวัลคนดีศรีแผ่นดิน

………………………………………………………………………..
ผู้สื่อข่าว
on Lampang : เปิดโลกลำปาง
พฤหัส 7

กุมภา 51

2 comments:

Anonymous said...

ขอชื่นชม ... และจะโอมากหาก มีเรื่องราวและภาพเก่าของวัดศรีชุม ซึ่งม่มีให้เห็นอีกแล้ว

Anonymous said...

ขอบคุณมากๆๆค่ะสำหรับบทความดีๆ