พลิกๆดูหน้าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในลำปาง ยังไม่เห็นสรุปข่าวรอบปี ด้วยความรู้งูๆปลาๆของผม เลยเห็นว่า ถ้าเราหันมาเอาจริงเอาจังกับเรื่องข้อมูล ความเคลื่อนไหวของสังคมลำปางผ่านเวลา 1 ปี น่าจะมีประเด็นอะไรๆเกิดขึ้นตามมาอีกเยอะแยะ และเว็บบล็อกนี้ก็ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานด้านศิลปวัฒนธรรมอยู่พอสมควร จึงปวารณาตัวที่จะจัดทำ "10 ข่าวสะเทือนยุทธจักรฯ" ประจำปี 2549 ที่ผ่านมา โดยการให้น้ำหนักมากน้อยอยู่ที่วิจารณญาณของผมทั้งสิ้น (ผมใช้กรอบการมองของ ภาคสาธารณะ การสร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจ และมีส่วนร่วมของสังคมในระดับต่างๆ ตั้งแต่ไกลโพ้น เขยิบมาเบียดชิดจนหายใจรดต้นคอ)
ไม่ให้ชักช้าเรามาเริ่มกันเลยนะครับ
อันดับที่ 10 "ครบ 90 ปี รถไฟมาถึงลำปาง แต่บรรยากาศหงอยพิลึก"
อันดับที่ 9 "บ้านเก่า100ปีพัง คนรักเมืองเก่าแทบพังตาม"
อันดับที่ 8 "1ปี กาดกองต้า เติบโตด้วยลำแข้ง"
อันดับที่ 7 "เทศบาลหวังกู้หน้า พลิกโฉมเมืองลำปางด้วยงานภูมิทัศน์"
อันดับที่ 6 "ลอยกระทง ซัดกันนัวกับปัญหายอดภูเขาน้ำแข็ง"
อันดับที่ 5 "ถนนทองคำ...ถนนดวงรัตน์"
อันดับที่ 4 "2 ปี คุณพี่ชนสะพาน 2 ครั้ง"
อันดับที่ 3 "ประปา มหาภัย"
อันดับที่ 2 "เริ่มนับ 1 อนุรักษ์เมืองเก่า"
อันดับที่ 1 "วัดปงสนุก เล็กๆแต่ยิ่งใหญ่"
รายละเอียดมีดังนี้
อันดับที่ 10 "ครบ 90 ปี รถไฟมาถึงลำปาง แต่บรรยากาศหงอยพิลึก"
รถไฟขบวนแรกมาถึงลำปาง เมื่อ 1 เมษายน 2459 ปีที่แล้วจึงครบรอบ 90 ปี
[ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ]
บริเวณสถานีรถไฟนครลำปาง เมื่อก่อน
[ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ]
นอกจากข่าวดีที่มีการรื้อ กันสาดบังหน้าอาคารสถานีรถไฟนครลำปางแล้ว ก็ไม่มีข่าวใดๆที่น่ายินดีให้สมกับที่ ครบรอบ 90 ปี การมาถึงของรถไฟเลย ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรถไฟ(หรือแม้กระทั่งรถม้า ที่มีการจัดงานกันทุกปี) ที่จะยกให้เป็นประเด็นสำคัญกลับเงียบสนิท ทั้งที่รถไฟ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของลำปาง ที่ทำให้เมืองขยายตัวออกมาทางทิศตะวันตก เกิดย่านการค้าส่งสำคัญ หากเป็นบ้านอื่นเมืองอื่น เขาพยายามจะหาประเด็น หาเรื่องที่จะนำมาสร้างจุดเปลี่ยนของบ้านเมืองเสียด้วยซ้ำ บ้านเราจึงมีความเก่าแก่ลึกซึ้ง แต่ผู้คนไม่ซาบซึ้งกับมันเอาเสียเลย นี่นับเป็นสัญญาณอะไรบางอย่าง ใช่หรือไม่
มิพักที่จะต้องพูดถึงปีนี้ที่ครบรอบ 90 ปี สะพานรัษฎาภิเศก ในเดือนมีนาคมนี้ ได้มีการคิดอ่านสิ่งใดที่เป็นจริงเป็นจังมากน้อย ผมก็ไม่ทราบได้
........................................................................
อันดับที่ 9 "บ้านเก่า100ปีพัง คนรักเมืองเก่าแทบพังตาม"
บ้านโบราณอายุกว่า 100 ปี ในสภาพที่บันทึกไว้เมื่อ 21 มีนาคม 2548 ก่อนจะพังลงเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2549
บ้านหลังนี้ได้รับการบันทึกลงใน หนังสือแผนที่มรดกทางวัฒนธรรมนครลำปาง(2548) แต่อนิจจังพังลงเพราะโครงสร้างที่หมดสภาพ ผสมโรงเข้ากับฝนที่ตกอย่างยาวนาน ที่น่าเสียดายและเสียใจก็คือว่า ระหว่างที่เราทำการเริ่มต้นที่จะคิดอนุรักษ์ มรดกทางวัฒนธรรม ของเก่าแก่ทั้งหลาย ก็ไม่คอยท่า ทนไม่ไหว ก็เป็นไปตามสภาพธรรมชาติของมัน หากไม่เริ่มแต่วันนี้แล้ว คงจะไม่เหลืออะไร
........................................................................
อันดับที่ 8 "1ปี กาดกองต้า เติบโตด้วยลำแข้ง"
กาดกองต้าเคยจัดถนนคนเดินมาหลายครั้ง และล้มลุกคลุกคลานมาเรื่อย จนล่าสุดก่อนครั้งนี้ ได้มีการจัดถนนคนเดินในช่วงสงกรานต์ ผู้คนมาเที่ยวกันคึกคักมากหลาย แต่พายุฤดูร้อนก็ไม่ปราณี พัดเอาเสียงานนั้นกระเจิง แต่ด้วยความฮึด และใจสู้ของผู้คนในชุมชน ร่วมกับ การปลุกปั้นของเทศบาลนครลำปาง ก็ช่วยกันทำคลอด "กาดกองต้า ถนนคนเดิน" ขึ้นเมื่อ พฤศจิกายน 2548
กาดกองต้าเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2548 จนถึงวันนี้ยังคงคึกคัก
ถนนคนเดิน กับพื้นที่เชิงศิลปวัฒนธรรม กาดกองต้าเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2548 กับคำถามถึงสัดส่วนระหว่างศิลปวัฒนธรรม และการค้าขายที่เป็นอยู่
มาจนถึงพฤศจิกายนปีนี้ ผู้คนก็ไม่ได้หนีหาย ยังถือเอากาดกองต้าเป็นที่นัดพบ ที่เดินเล่นกันอย่างคึกคัก เบื้องหลังความสำเร็จนี้เอง ก็มีคณะทำงานของชุมชนที่สู้กันอยู่อย่างเข้มแข็ง งานใหญ่ หนัก และยาวนานขนาดนี้ต้องยอมรับถึงความเป็นนักสู้ของชุมชนจริงๆ
........................................................................
อันดับที่ 7 "เทศบาลหวังกู้หน้า พลิกโฉมเมืองลำปางด้วยงานภูมิทัศน์"
[ที่มา : ลานนาโพสต์]
เราจะสังเกตเห็นในโค้งสุดท้าย ของวาระการดำรงตำแหน่งของนายกเทศมนตรี และเทศมนตรีนครลำปาง เปิดนโยบายการเนรมิตเมือง ด้วยโปรเจ็กต์ใหม่ๆมากมายตั้งแต่ ข่วงนคร บริเวณห้าแยกหอนาฬิกา มูลค่ากว่า 76.6 ล้านบาท/การปรับปรุงสวนสาธารณะเขลางค์นคร แบบยกเครื่อง/การทำน้ำพุช้างบริเวณวงเวียน หน้าสถานีรถไฟนครลำปาง/การปิดโรงฆ่าสัตว์เพื่อสร้างสวนสาธารณะ แม้กระทั่งการเปิดถนน J Street ตางคนเตียว เมื่อ พฤศจิกายน 2549 นี้ก็ดี รวมไปถึงความพยายามตกแต่งเมืองในช่วงกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งในส่วนของเนื้อหาและรูปแบบ เป็นที่ชวนสงสัยในความหมายที่จะสื่อ เช่น ต้นไม้บริเวณโรงเรียนเทศบาล 4 นั้น พันผ้าเอาไว้เพื่ออะไร... ทำให้หวนคิดไปถึงโปรเจ็กต์ต่างๆที่ถอยออกมากันยกใหญ่ จะมีทางไหมที่จะช่วยกันไตร่ตรอง หยุดคิด ว่าจะทำให้ดีอย่างไร(ก็เหมือนกันกับ เวลาเราไปตัดผมน่ะครับ หากคุณอยากได้ทรงไหน ก็ต้องบอกช่าง ไม่ใช่ปล่อยให้ช่างทำอะไรกับหัวคุณ ในแบบที่เขาคิดว่าดีอย่างเดียว การออกแบบสถาปัตยกรรม หรือบ้านเมืองก็เช่นกันครับ เราร่วมกันคิด ร่วมกันกำหนดได้)
ผมก็เป็นห่วงในฐานะ ผู้หนึ่งที่รักในความงาม เช่นเดียวกับท่านๆทั้งหลายนั่นแล
........................................................................
อันดับที่ 6 "ลอยกระทง ซัดกันนัวกับปัญหายอดภูเขาน้ำแข็ง"
มีการพูดกันมานานแล้วว่า ลำปางบ้านเรามักแบ่งพรรคแบ่งพวก เป็นฝักเป็นฝ่าย ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ ในโจทย์สำคัญของบ้านเมืองโดยเฉพาะในเรื่องงานประเพณี(ที่ควรจะสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน เป็นวาระมงคลนะครับ)สำคัญ ตื้นลึกหนาบางเป็นเช่นไรเราไม่ทราบ แต่ที่เห็นกันอยู่ตั้งแต่ปีที่แล้วคือ งานลอยกระทงในตัวจังหวัดลำปาง ต้องแบ่งไปจัดกันสองที่ นัยก็คือ อันหนึ่งของเทศบาลนครลำปาง อันหนึ่งของอบจ.ลำปาง
จนถึงปี2548นี้ ก็เห็นว่าตั้งต้นไว้ว่าจะร่วมกันจัด แต่ไม่รู้เป็นเพราะเหตุใด กลายเป็นว่า จัดของใครของมัน สุดท้ายแขกที่ไม่ได้รับเชิญ ก็เข้ามาแก้ปัญหา กล่าวคือ คปค.ก็ได้มีส่วนหนึ่งทำให้ อบจ.ต้องยุติการจัดงานดังกล่าวไป
สุดท้ายก็มีแต่คนเสียกันทั้งนั้นแหละครับ นอกจากงานนี้แล้ว จะมีอะไรที่จะเป็น"เหยื่อ" ต่อไปอีกครับ
........................................................................
อันดับที่ 5 "ถนนทองคำ...ถนนดวงรัตน์"
ถนนดวงรัตน์กับงบมโหฬาร ตามที่รายงานในหนังสือพิมพ์ว่า ถนน 600 กว่าเมตร ใช้เงินไปถึง13 ล้านบาท โครงการนี้ทำให้เกิดปัญหา และคำถามกับสังคมลำปางอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่งบประมาณที่ไม่สมเหตุสมผล การดั๊มพ์ความเป็น เซรามิ๊ก เซรามิก ลงไปบนถนนระยะสั้น(มีหลายคนเสนอว่า แทนที่จะนำ 13 ล้านไปเฉลี่ยทำทั้งเส้นทาง หรือเป็นจุดๆ ก็น่าจะmake sense กว่า)
ด้วยการที่เงินมาเร็วไปเร็ว ในระบบราชการ ทำให้โอกาสที่จะใคร่ครวญ(ก่อนจะมาคร่ำครวญกันแบบนี้) มีน้อย การร่วมคิดร่วมทำจากหลายฝ่าย ทั้งนักวิชาการ นักออกแบบ สถาปนิก ศิลปิน นักศึกษา และเยาวชน แทบจะปิดประตูตายไปเลย(ทั้งที่ สามารถสร้างโอกาสแตกยอดต่อไปได้อีกมากเช่น การทำworkshop การประกวดแบบจากทั่วประเทศ ที่นอกจากจะได้แบบ และการก่อสร้างแล้ว เรายังได้ประสบการณ์ กระบวนการการทำงานที่หลากหลาย มากไปกว่าการไปจ้างออร์แกไนเซอร์ทำลวกๆอีกด้วย)
........................................................................
อันดับที่ 4 "2 ปี คุณพี่ชนสะพาน 2 ครั้ง"
รถบรรทุกปูนที่เป็นคดี ถูกจับได้เมื่อ 20 พฤศจิกายน 2549
[ที่มา : ลานนาโพสต์]
หากอ่านข่าวต่อเนื่องมาจาก ครบรอบ 90 ปีรถไฟ สะพานรัษฎาภิเศกแห่งนี้เอง ก็จะครบ 90 ปีในปีนี้แล้ว เมื่อปลายปี 49 มีรถบรรทุกปูน วิ่งแหกเมือง และพยายามใช้สะพานรัษฎาภิเศกข้ามจากฝั่งต.หัวเวียง ไปยัง ต.เวียงเหนือ ฝ่าคานคอนกรีตเสริมเหล็กข้างบนไปจนคานโก่งงอ โดนจับเมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 20 พฤศจิกายน 2549 ยิ่งไปกว่านั้น สะพานไก่ขาวนี้ยังโดนชนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2548 ไปพึ่งซ่อมเสร็จไปปีกว่าๆ อะไรกันนักกันหนาครับ
ความมักง่ายไม่อาจอธิบายเหตุการณ์นี้ได้ทั้งหมด สิ่งหนึ่งที่เราลืมกันไปก็คือ ระบบการสัญจรของเมือง ดังที่ทราบกันว่า ลำปางมีโรงงานใหญ่ๆตั้งอยู่รอบๆ และลำปางอยู่ตำแหน่งศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ในบางบริบท ตัวเมืองลำปาง(ซึ่งแทบจะเป็นเมืองเก่าทั้งเมือง) ก็หลีกไม่พ้นที่จะต้องอยู่กับสภาพอย่างนี้ ระบบถนนวงแหวนมีมาเพื่อช่วยระบายการจราจรดังกล่าว
ในกรณีของสะพานรัษฎาภิเศก ก็น่าคิดกันต่อไปว่า จะมีวิธีใดที่จะเลี่ยงการสัญจรดังกล่าว (ซึ่งกฎหมายก็มิให้รถใหญ่ผ่านสะพานอยู่แล้ว) แต่ที่น่าวิตกก็คือ มีปรากฏอยู่ในผังเมืองรวมลำปาง ที่จะมีการตัดถนนจากบริเวณ สามแยกเด่นชัย วิ่งตรงเข้าไปสู่สะพานท่ามะโอ(ซึ่งปัจจุบันเส้นนั้นรถบรรทุกก็วิ่งกันประจำ ซึ่งมันแย่พอตัวอยู่แล้ว) เคยมีการแย้งกันอยู่ครั้งนึง ไม่ทราบว่าผลลัพธ์สุดท้ายจะเป็นอย่างไร
........................................................................
อันดับที่ 3 "ประปา มหาภัย"
ท่านทั้งหลายคงมีคำถามว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา ทำไมในตัวเมืองเทศบาลถึง"ขุด"อะไรกันนักหนา ถนนเส้นนี้ยังไม่เสร็จเลย โน่น เส้นนั้นกำลังจะเจาะถนนทำใหม่แล้ว... บางคนก็ถือโอกาสต่อว่าเทศบาล เพราะไม่รู้ว่า เป็นงานขุดท่อประปา ของการประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.) ผมไม่เข้าใจว่า ทำไม กปภ.แทบจะไม่ชี้แจงทำความเข้าใจกับสาธารณะเลย (อย่าว่าแต่คำขออภัยในความไม่สะดวก) ทั้งยังทิ้งมรดกการขุด และกลบฝังด้วยฝีมือที่แทบไม่ได้มาตรฐาน(คงต้องถามผู้ตรวจรับงานด้วยว่า สามารถตรวจรับงานให้ผ่านได้อย่างไร)ไว้ทั่วเมือง
ร่องรอยการขุดและเศษอิฐ บนถนนป่าไม้ ใกล้ออป. ถ่ายเมื่อ 11 มีนาคม 2548
แต่ที่เกี่ยวข้องอย่างนึงกับเมืองเก่าคือ แนวท่อที่ขุดหลายแห่งเป็นแนวของกำแพงเมืองเก่า ทั้งฝั่งต.เวียงเหนือ และฝั่งต.หัวเวียง ผมมีโอกาสเก็บรูปมาบางส่วน ยังภาวนาอยู่ว่า การขุดดังกล่าวคงจะไม่สร้างความเสียหายกับหลักฐานทางโบราณคดีเท่าใดนัก
ก้อนอิฐขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าเป็นส่วนหนึ่งของกำแพงที่ขุดเจอ ถ่ายเมื่อ 11 มีนาคม 2548
ร่องรอยการขุดและเศษอิฐ บนถนนป่าไม้ หน้ากู่เจ้าย่าสุตตา ถ่ายเมื่อ 11 มีนาคม 2548
........................................................................
อันดับที่ 2 "เริ่มนับ 1 อนุรักษ์เมืองเก่า"
จะเรียกว่านับ 1 ก็คงจะได้ไม่เต็มปากนัก เมื่อการทำงานเรื่องเมืองเก่านั้นได้ริเริ่มกันมานานหลายสิบปีแล้ว แต่ในโอกาสที่เป็นนโยบายเมืองเก่า ที่เทศบาลนครลำปางสนใจที่จะสานต่อ จึงทำให้เกิดคณะกรรมการ และยุทธศาสตร์อนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่านครลำปางขึ้น โครงสร้างของการทำงานนี้ครอบคลุมการทำงานทุกระดับ และเนื้องานค่อนข้างเป็นอิสระต่อกัน จึงปรากฏโครงการต่างๆขึ้นมากมาย
เช่น การบูรณะกำแพงเมือง และประตูม้า โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนช่างแต้ม และชุมชนบ้านใหม่ประตูม้า ที่ล่าสุด นำม้าลงมาจากกำแพงเมือง รอเวลาขุดสำรวจทางโบราณคดี(ตั้งแต่ขึ้นทะเบียนมาเมื่อพ.ศ.2478 ลำปางไม่เคยมีการขุดค้นทางโบราณคดีโดย กรมศิลปากรเลย ยกเว้นบริเวณประตูผา เท่านั้น) รวมไปถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการโดยเทศบาลนครลำปาง การศึกษาดูงานเมืองเก่าที่ต่างๆ เช่น แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร ฯลฯ ขณะที่โครงการจัดทำ แผนที่มรดกทางวัฒนธรรมนครลำปาง ก็สร้างเครือข่ายของผู้คนที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับชาติ และ ระดับท้องถิ่น ชุมชน ประกอบกับเป็นฐานข้อมูลเมืองเก่าลำปาง บริเวณเขตเทศบาลนครลำปางและใกล้เคียง
หนังสือแผนที่มรดกทางวัฒนธรรมนครลำปาง(2548)
เห็นโอกาสและความหวังอยู่รำไร
........................................................................
อันดับที่ 1 "วัดปงสนุก เล็กๆแต่ยิ่งใหญ่"
ขอมอบอันดับที่ 1 ให้กับความพยายามของชุมชน ที่ตั้งต้นด้วยการรู้จักตัวเองก่อน ให้ชาวบ้านและชุมชนได้เข้าใจ และร่วมกันคิด ร่วมกันฝันถึงสิ่งดีๆของตัว ก่อนที่จะนำไปเสนอต่อโลกภายนอก(ในกรณีนี้ตรงกันข้ามกับชุมชนกาดกองต้า ที่เน้นสร้างความตื่นตัวจากภายนอกแล้วมองเข้ามาภายใน ซึ่งเป็นวิธีคิดคนละแบบกัน) ตั้งต้นบนโจทย์ที่จะทำการอนุรักษ์ วิหารพระเจ้าพันองค์ บนม่อนดอยวัดปงสนุกที่มีอายุกว่า 100 ปี
ขณะที่ความเข้มข้นของการมีส่วนร่วมของชุมชนได้ดำเนินไป ที่ไม่ได้ทิ้งเลยก็คือ ความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับสถาบันต่างๆ เช่น คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร ซึ่งนำวิชาการมาเขย่า ผสมผสานกับวิถีของชาวบ้าน ทั้งที่มีอยู่และรื้อฟื้นปัดฝุ่นมาใช้กันอีกครั้ง ออกมาเป็นกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดนิทรรศการตุงค่าวจาวเขลางค์ พิธีบวงสรวงครูบาอาจารย์ก่อนทำการบูรณะวิหารดังกล่าว
วิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุก ที่กำลังได้รับการบูรณะ
นิทรรศการ และหุ่นจำลองการบูรณะวิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุก
การสนับสนุนหากไม่นับตัวเงินกฐินที่ได้จาก องค์การเภสัชกรรม และบริษัทเครื่องดื่มยี่ห้อหนึ่งแล้ว ยังได้รับโอกาสให้นำ บทความไปลงในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post แม้กระทั่งนิตยสาร Sawasdee ที่แจกจ่ายอยู่บนเครื่องบินของ การบินไทย ก็ถือเป็นความพยายามที่น่าชื่นชมของชุมชน
พิธีบวงสรวง โดยวิถีชาวบ้าน ณ วัดปงสนุก
ความสามารถที่จะตัดสินใจจะจัดการใดๆกับปัญหาบ้านเมือง จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจกับมันให้ได้ ตราบใดที่เรายังไม่เห็นคุณค่า ของการทบทวน สรุปบทเรียนของอดีตที่ผ่านมา เราก็ยังจะย่ำอยู่ความผิดเดิมนั้นอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า บทความนี้ไม่ได้ต้องการชี้ผิด ชี้ถูก แต่เสนอวิธีคิดและการทำงานเพื่อให้สาธารณะได้รับรู้ และเรียนรู้ ตลอดจนร่วมวิพากษ์ จนเกิดเป็นบทเรียนร่วมกันของสังคม
เพราะเราเชื่อว่า ไม่มีใครสามารถจะมาจัดการทุกอย่างแทนเราได้ โดยเฉพาะในบ้านของเรา หากจะใช้ศัพท์ของ อ.ขวัญสรวง อติโพธิ ก็อาจจะพูดว่า "ก็เพราะว่าบ้านเมืองเป็นเรื่องของเรา" นั่นเอง
ที่มาข้อมูล :
หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นตลอดทั้งปี 2549 ดังนี้
คนเมืองเหนือ -แมงมุม -ลานนาโพสต์ -ลำปางนิวส์
จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย
ผู้สื่อข่าว on Lampang : เปิดโลกลำปาง
อาทิตย์ 7 มกรา 50
ผ่านมุมมอง ศิลปะ/วัฒนธรรม/ประวัติศาสตร์/วรรณกรรม_art/culture/history/literature โดยการบริหารใหม่ของ มูลนิธิน้อย-ลูกซัด เสาจินดารัตน์ อนุสรณ์
Sunday, January 7, 2007
10 ข่าวสะเทือนยุทธจักร ศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง
Saturday, January 6, 2007
สรุปข่าวสร้างสรรค์ในลำปางที่พอจะมีอยู่บ้าง (4)
Patch Adams หนังฝรั่งที่ออกฉายในปี 1998 (พ.ศ.2541)
บรรยากาศ สะดวกเสวนา 8 "ปาร์ตี้ความคิด มองชีวิตผ่านหนัง" คราวนี้เบิกโรงด้วยเรื่อง "Patch Adams"หนังเก่า ที่ยังปัดฝุ่นกลับมาให้มุมมองความคิด พลังใจ ปลอบประโลม ตลอดจนหล่อเลี้ยงอุดมการณ์ที่งดงาม ตัวเอกในร่างของ ชายวัยกลางคน ที่มุมานะมาเรียนแพทย์เพื่อที่จะ "ช่วยคน"มีอะไรให้อ่านระหว่างบรรทัดกันมากมาย
ฉายประเดิมที่วันเสาร์ที่ 6 มกรา 50 ณ ล้านคำลำปาง เริ่มดูกันตั้งแต่ 15.30 น. ไปเสร็จ ราวๆ 19.00 น. เป็นอีกเสาร์ที่อิ่มเอม ด้วยหนังดี และวงพูดคุยขนาดย่อมที่ประเทืองปัญญา แล้วจะหาบรรยากาศดีๆเช่นนี้ได้ที่ไหนอีก....
ผู้สื่อข่าว on Lampang : เปิดโลกลำปาง ก็เลยเก็บบรรยากาศมาฝากกันครับ
สนทนาเปิด ก่อนจะดูหนัง
[ภาพโดย : ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, 6 มกรา 50]
สนทนาเปิดก่อนจะดูหนัง
[ภาพโดย : ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, 6 มกรา 50]
แลกเปลี่ยนความเห็นหลังหนังจบ
[ภาพโดย : ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, 6 มกรา 50]
ในวงเสวนามีการแนะนำให้ดู ให้อ่านต่อยอดหนังเรื่องนี้กันครับ
ถ้าเป็นหนัง หรือละครเกี่ยวกับหมอๆ ก็มี เขาชื่อกานต์(2516 และ 2531), หมอเจ็บ(2547) , คนดีที่โลกรอ...หมอโฮจุน(2549) เฉพาะเรื่องหลังที่เป็นละครเกาหลี หากเป็นหนังสือ ก็มีแนะนำ บทกวีของ ดังเต้ ชาวอิตาเลียน หรือหากเป็นการพิจารณาเกี่ยวกับความตาย ก็ไปหาอ่านหนังสือพุทธศาสนาทางฝั่งทิเบตได้ เช่น คัมภีร์มรณศาสตร์ หรือ แม้กระทั่ง เขาชื่อกานต์(2513) เป็นนวนิยาย โดย สุวรรณี สุคนธา แล้วกลายมาเป็นหนังในเวลาต่อมา
แจ้งให้ทราบทั่วกันว่าจะมีการฉายหนัง และแลกเปลี่ยนเสวนาฟรีๆ ไม่เสียค่าใช้จ่ายอย่างนี้ ทุกเสาร์ ตลอดเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ หากคราวหน้าจะย้ายสถานที่ไปจัดที่บริเวณสวนสาธารณะเขลางค์นคร หรือหอสมุดประชาชนเทศบาลนครลำปาง ก็ยังไม่แน่ใจ ยังไม่คอนเฟิร์มนะครับ ติดต่อสอบถามรายละเอียด และสำรองที่นั่งล่วงหน้า ก่อนจะเต็มได้ที่ คุณเอิง 086-5119608 ติดตามโปรแกรมการฉายได้ ในเว็บบล็อกนี้...
ผู้สื่อข่าว on Lampang : เปิดโลกลำปาง
เสาร์ 6 มกรา 50
Friday, January 5, 2007
งานพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่บุญชุบ ทินฺนโก 14 มกรา ศกนี้
บรรยากาศโดยรวม ของสถานที่ตั้งปราสาทบุษกบกเทินบนหลังนกหัสดีลิงค์ ลานหน้าโบสถ์ วัดเกาะวาลุการาม
[ภาพโดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, 6 มกรา 50]
ปราสาทบุษบกเทินบนหลังนกหัสดีลิงค์
[ภาพโดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, 6 มกรา 50]
รายละเอียดนกหัสดีลิงค์
[ภาพโดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, 6 มกรา 50]
รายละเอียดปราสาทบุษบก
[ภาพโดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, 6 มกรา 50]
แบบร่างปราสาทบุษบกเทินบนหลังนกหัสดีลิงค์
[ที่มา : เว็บไซต์ วัดเกาะวาลุการาม http://www.watkoh.com/forum/forum_posts.asp?TID=7]
[ที่มา : เว็บไซต์ วัดเกาะวาลุการาม http://www.watkoh.com/forum/forum_posts.asp?TID=7]
[ภาพโดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, 6 มกรา 50]
วัดเกาะวาลุการาม ร่วมกับอาจารย์วิถี พานิชพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญพิธีกรรมและศิลปะล้านนา (มีประสบการณ์การจัดงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าแม่ทิพวรรณ ณ เชียงตุง ที่เป็นประเพณีทางเหนือ อย่างงดงาม) จัดงานพระราชทานเพลิงศพ พระครูสุเวทกิตติคุณ (หลวงปู่บุญชุบ ทินฺนโก) ในวันที่ 14 มกราคม 2550 นี้ ณ วัดเกาะวาลุการาม ต.สวนดอก อ.เมือง จ.ลำปาง ซึ่งวาระเช่นนี้มีไม่บ่อยนัก ในโอกาสนี้ on Lampang จึงเก็บความ เรื่องงานศพพระเถระ จากหนังสือ"วิถีล้านนา"(โดย วิถี พานิชพันธ์ พ.ศ.2548) มาให้ผู้อ่านติดตาม
งานศพบุคคลสำคัญ เช่นเจ้านาย หรือพระภิกษุสงฆ์ งานศพจะเรียกว่า "พิธีส่งสะการ" เมื่อท่านนั้นสิ้นลง ก็จะมีพิธีอาบน้ำศพ เปลี่ยนชุดแต่งกายทรงเครื่องเต็มยศ หรือครองผ้าอาภรณ์ชั้นดี มีการปิดทองคำเปลวหุ้มใบหน้าทั้งหมด ก่อนพิธีรดน้ำศพ และการขอขมาตัวศพจะถูกห่อด้วยผ้าหลายชั้น บรรจุในโลงศพที่ทำขึ้นมาอย่างวิจิตรสวยงาม ชาวล้านนานิยมเก็บศพพระเถระไว้ประกอบพิธีนานแรมปี พิธีเผาศพจริงๆมักจะเป็นฤดูแล้งที่สะดวกสำหรับการจัดงานใหญ่ อีกทั้งเป็นช่วงที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ว่างเว้นจากการทำนาและการเกษตร
งานศพบุคคลสำคัญ เช่นเจ้านาย หรือพระภิกษุสงฆ์ งานศพจะเรียกว่า "พิธีส่งสะการ" เมื่อท่านนั้นสิ้นลง ก็จะมีพิธีอาบน้ำศพ เปลี่ยนชุดแต่งกายทรงเครื่องเต็มยศ หรือครองผ้าอาภรณ์ชั้นดี มีการปิดทองคำเปลวหุ้มใบหน้าทั้งหมด ก่อนพิธีรดน้ำศพ และการขอขมาตัวศพจะถูกห่อด้วยผ้าหลายชั้น บรรจุในโลงศพที่ทำขึ้นมาอย่างวิจิตรสวยงาม ชาวล้านนานิยมเก็บศพพระเถระไว้ประกอบพิธีนานแรมปี พิธีเผาศพจริงๆมักจะเป็นฤดูแล้งที่สะดวกสำหรับการจัดงานใหญ่ อีกทั้งเป็นช่วงที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ว่างเว้นจากการทำนาและการเกษตร
ในอดีตมีการจัดเตรียมสร้างปราสาทบุษบกเทินบนหลังนกหัสดีลิงค์ขนาดใหญ่ ปราสาทนิยมสร้างด้วยไม้งิ้ว ไม้ไผ่สาน กระดาษสีเงินทองอย่างวิจิตรพิสดาร บนแพซุงไม้ตาล ไม้มะพร้าวเรียกว่า แม่เรือ เป็นแพเลื่อนแม่สะดึงที่ใช้ชุดลากไปบนพื้นดินได้ ตัวปราสาทนิยมสร้างทรงจตุรมุข หลังคาซ้อนใส่ยอดฉัตร กี่ยอดกี่ชั้นก็แล้วแต่ฐานะของผู้วายชนม์
ตัวนกหัสดีลิงค์นิยมทำกลไกให้ส่ายหัวไปมาได้เหมือนช้างจริง ขยับปีก กระดิกหู กระพริบตา พร้อมงวง งาที่สามารถตวัดโปรยข้าวตอกดอกไม้ได้อีก ปราสาทนกหัสดีลิงค์ที่สยงามถือเป็นเกียรติยศของผู้ตาย อีกทั้งยังมีการเปรียบเทียบฝีมือของงานแต่ละสายสกุลช่างแห่งสำนักต่างๆ
นกหัสดีลิงค์เป็นสัตว์ในอุดมคติ ผสมระหว่างช้างและหงส์ ตัวใหญ่โตมโหฬาร อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ มีความสามารถที่จะนำดวงวิญญาณของผู้ที่มีบุญบารมีเดินทางผ่านป่าแห่งอุปสรรค ป่าแห่งกิเลสกรรม ไปยังเชิงเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นเส้นทางไปสู่พระนิพพาน ส่วนปราสาทจตุรมุขก็คือ ชั้นวิมานของภพภูมิต่างๆ ที่เทวดาสถิตย์อยู่ รอกาลเวลาที่จะขึ้นไปสู่ความเป็นพรหม และบรรลุนิพพานในขั้นสุดท้าย
ด้านล่างเป็นภาพพิธีงานศพของคหบดีชาวลำปาง เมื่อ พ.ศ.2529 คือ ย่าแดง พานิชพันธ์ (พ.ศ.2433-2528) นำมาแสดงให้เห็นบรรยากาศที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และน่าจะเกิดขึ้นอีกในวันที่ 14 มกราคม นี้
สวดอภิธรรม ย่าแดง พานิชพันธ์ หน้าบ้านแม่แดง บริเวณถนนตลาดเก่า เมื่อ พ.ศ.2529
[ที่มา : หนังสืออนุสรณ์ คุณย่าแดง พานิชพันธ์, เชียงใหม่ : ดารารัตน์การพิมพ์, 2531]
ขบวนแห่ศพ ย่าแดง พานิชพันธ์ บริเวณถนนตลาดเก่า เมื่อ พ.ศ.2529
[ที่มา : หนังสืออนุสรณ์ คุณย่าแดง พานิชพันธ์, เชียงใหม่ : ดารารัตน์การพิมพ์, 2531]
ขบวนแห่ศพ ย่าแดง พานิชพันธ์ บริเวณถนนตลาดเก่า เมื่อ พ.ศ.2529
[ที่มา : หนังสืออนุสรณ์ คุณย่าแดง พานิชพันธ์, เชียงใหม่ : ดารารัตน์การพิมพ์, 2531]
เตรียมประชุมเพลิง ย่าแดง พานิชพันธ์ บริเวณริมแม่น้ำวัง เมื่อ พ.ศ.2529
[ที่มา : หนังสืออนุสรณ์ คุณย่าแดง พานิชพันธ์, เชียงใหม่ : ดารารัตน์การพิมพ์, 2531]
ประชุมเพลิง ย่าแดง พานิชพันธ์ บริเวณริมแม่น้ำวัง เมื่อ พ.ศ.2529
[ที่มา : หนังสืออนุสรณ์ คุณย่าแดง พานิชพันธ์, เชียงใหม่ : ดารารัตน์การพิมพ์, 2531]
กำหนดการ
งานบำเพ็ญกุศลศพ – พระราชทานเพลิงศพพระครูสุเวทกิตติคุณ (หลวงปู่บุญชุบ ทินฺนโก)
อดีตเจ้าอาวาสวัดเกาะวาลุการามและอดีตเจ้าคณะตำบลสวนดอก ณ วัดเกาะวาลุการาม ต.สวนดอก อ.เมือง จ.ลำปาง
ระหว่างวันที่ ๗ - ๑๔ มกราคม ๒๕๕๐
วันที่ ๗ - ๑๓ มกราคม ๒๕๕๐
๑๙.๓๐ น.
- พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๘ รูป สวดพระอภิธรรม
- แสดงพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์
ตัวนกหัสดีลิงค์นิยมทำกลไกให้ส่ายหัวไปมาได้เหมือนช้างจริง ขยับปีก กระดิกหู กระพริบตา พร้อมงวง งาที่สามารถตวัดโปรยข้าวตอกดอกไม้ได้อีก ปราสาทนกหัสดีลิงค์ที่สยงามถือเป็นเกียรติยศของผู้ตาย อีกทั้งยังมีการเปรียบเทียบฝีมือของงานแต่ละสายสกุลช่างแห่งสำนักต่างๆ
นกหัสดีลิงค์เป็นสัตว์ในอุดมคติ ผสมระหว่างช้างและหงส์ ตัวใหญ่โตมโหฬาร อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ มีความสามารถที่จะนำดวงวิญญาณของผู้ที่มีบุญบารมีเดินทางผ่านป่าแห่งอุปสรรค ป่าแห่งกิเลสกรรม ไปยังเชิงเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นเส้นทางไปสู่พระนิพพาน ส่วนปราสาทจตุรมุขก็คือ ชั้นวิมานของภพภูมิต่างๆ ที่เทวดาสถิตย์อยู่ รอกาลเวลาที่จะขึ้นไปสู่ความเป็นพรหม และบรรลุนิพพานในขั้นสุดท้าย
ด้านล่างเป็นภาพพิธีงานศพของคหบดีชาวลำปาง เมื่อ พ.ศ.2529 คือ ย่าแดง พานิชพันธ์ (พ.ศ.2433-2528) นำมาแสดงให้เห็นบรรยากาศที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และน่าจะเกิดขึ้นอีกในวันที่ 14 มกราคม นี้
สวดอภิธรรม ย่าแดง พานิชพันธ์ หน้าบ้านแม่แดง บริเวณถนนตลาดเก่า เมื่อ พ.ศ.2529
[ที่มา : หนังสืออนุสรณ์ คุณย่าแดง พานิชพันธ์, เชียงใหม่ : ดารารัตน์การพิมพ์, 2531]
ขบวนแห่ศพ ย่าแดง พานิชพันธ์ บริเวณถนนตลาดเก่า เมื่อ พ.ศ.2529
[ที่มา : หนังสืออนุสรณ์ คุณย่าแดง พานิชพันธ์, เชียงใหม่ : ดารารัตน์การพิมพ์, 2531]
ขบวนแห่ศพ ย่าแดง พานิชพันธ์ บริเวณถนนตลาดเก่า เมื่อ พ.ศ.2529
[ที่มา : หนังสืออนุสรณ์ คุณย่าแดง พานิชพันธ์, เชียงใหม่ : ดารารัตน์การพิมพ์, 2531]
เตรียมประชุมเพลิง ย่าแดง พานิชพันธ์ บริเวณริมแม่น้ำวัง เมื่อ พ.ศ.2529
[ที่มา : หนังสืออนุสรณ์ คุณย่าแดง พานิชพันธ์, เชียงใหม่ : ดารารัตน์การพิมพ์, 2531]
ประชุมเพลิง ย่าแดง พานิชพันธ์ บริเวณริมแม่น้ำวัง เมื่อ พ.ศ.2529
[ที่มา : หนังสืออนุสรณ์ คุณย่าแดง พานิชพันธ์, เชียงใหม่ : ดารารัตน์การพิมพ์, 2531]
กำหนดการ
งานบำเพ็ญกุศลศพ – พระราชทานเพลิงศพพระครูสุเวทกิตติคุณ (หลวงปู่บุญชุบ ทินฺนโก)
อดีตเจ้าอาวาสวัดเกาะวาลุการามและอดีตเจ้าคณะตำบลสวนดอก ณ วัดเกาะวาลุการาม ต.สวนดอก อ.เมือง จ.ลำปาง
ระหว่างวันที่ ๗ - ๑๔ มกราคม ๒๕๕๐
วันที่ ๗ - ๑๓ มกราคม ๒๕๕๐
๑๙.๓๐ น.
- พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๘ รูป สวดพระอภิธรรม
- แสดงพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์
วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๐ วันพระราชทานเพลิงศพ
๐๙.๓๐ น.
- พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๒๐ รูป สวดธรรมนิยาม
๐๙.๓๐ น.
- พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๒๐ รูป สวดธรรมนิยาม
- พิจารณาผ้าบังสุกุล
๑๐.๐๐ น.
- แสดงพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์ โดย พระมหาโพธิวงศาจารย์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๖ วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร จ.แพร่
- เจ้าภาพถวายจตุปัจจัยไทยธรรม
- พระสงฆ์อนุโมทนา - ถวายภัตตาหารเพล
๑๐.๐๐ น.
- แสดงพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์ โดย พระมหาโพธิวงศาจารย์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๖ วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร จ.แพร่
- เจ้าภาพถวายจตุปัจจัยไทยธรรม
- พระสงฆ์อนุโมทนา - ถวายภัตตาหารเพล
๑๓.๐๐ น.
- พระสงฆ์..๑๐๐ รูป สวดมาติกาบังสุกุล
- ผู้มีจิตศรัทธา , เจ้าภาพทอดผ้าบังสุกุล
- เจ้าภาพถวายจตุปัจจัยไทยธรรม
- พระสงฆ์อนุโมทนา
๑๔.๓๐ น.
๑๔.๓๐ น.
- พิธีทอดผ้าบังสุกุล และมหาบังสุกุล บริเวณเมรุ (พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ จำนวน ๑๐ รูป เป็นผู้พิจารณา)
๑๕.๓๐ น.
- ประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ
ข้อมูลจาก : เว็บไซต์ วัดเกาะวาลุการาม http://www.watkoh.com/forum/forum_posts.asp?TID=7
ข้อมูลจาก : เว็บไซต์ วัดเกาะวาลุการาม http://www.watkoh.com/forum/forum_posts.asp?TID=7
วัดเกาะวาลุการาม ต.สวนดอก อ.เมือง จ.ลำปาง โทร. 054-217528 หรือ เว็บไซต์ www.watkoh.com
ผู้สื่อข่าว on Lampang
ศุกร์ 5 มกรา 50
เสาร์ 6 มกรา 50 เพิ่มเติม
ผู้สื่อข่าว on Lampang
ศุกร์ 5 มกรา 50
เสาร์ 6 มกรา 50 เพิ่มเติม
Subscribe to:
Posts (Atom)