วัดพระธาตุลำปางหลวง โดย คุณ moofight ถ่ายราวๆปี 2551 ภาพจาก http://www.pixpros.net/forums/showthread.php?t=25898

Wednesday, June 24, 2009

24 มิถุนา 2475 การปฏิวัติสยาม กับ พานรัฐธรรมนูญในลำปาง


หมุดปฏิวัติสยาม 2475 แสดงจุดที่คณะราษฎรยืนอ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1
ที่มา :
http://prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=8601&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai


นายสรอย ณ ลำปาง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของลำปาง ในปีพ.ศ.2476
ที่มา :
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=34145


อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ที่มา : http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=35


ลวดลายพานรัฐธรรมนูญ บริเวณหน้าแหนบวิหาร วัดปงหอศาล อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ระบุว่าสร้าง 19 มีนาคม 2475 (ปฏิทินใหม่ก็คือ มีนาคม 2476) หลังการปฏิวัติสยามเป็นเวลา 9 เดือน
ที่มา :
เมธี เมธาสิทธิ สุขสำเร็จ


ชิ้นส่วนที่คาดว่าจะเป็นหน้าแหนบวิหาร วัดสบทะ อ.แม่ทะ บริเวณตรงกลางจะมีลักษณะคล้ายพานแว่นฟ้าเทินรัฐธรรมนูญ
ที่มา :
เมธี เมธาสิทธิ สุขสำเร็จ


ดาวเพดานวิหารหลวง วัดนากว้าว อ.แม่ทะ มีลักษณะเป็นพานธรรมดาเทินอะไรบางอย่างที่คล้ายพับธรรม หรืออาจตีความได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญ?
ที่มา :
เมธี เมธาสิทธิ สุขสำเร็จ


ภาพเขียนบนคอสอง วิหารพระเจ้าพันองค์วัดปงสนุก อ.เมือง (เขียนขึ้นมาใหม่จากแบบเดิม)


เครื่องบนหลังคาวิหารหลวงเดิม วัดปงสนุกเหนือ


หน้าแหนบ วิหารหลวง วัดล้อมแรด อ.เถิน


อาจกล่าวได้ว่า ประเด็นที่ได้รับการถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการทั่วไปในเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อ 77 ปีที่ผ่านมาแล้วนั้นได้มีการต่อสู้ช่วงชิงกันมาโดยตลอด และที่เป็นรู้จักกันก็คือ คณะราษฎร (อ่านว่า คะ-นะ-ราด-สะ-ดอน) ผู้ก่อการนั้น ชิงสุกก่อนห่ามและได้มีความพยายามในการดิสเครดิตคณะราษฎรเสมอมา จนทำให้ความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรสูญหายไป ไม่ว่าจะทั้งในระดับชาติ หรือระดับท้องถิ่น

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของลำปาง คือ
นายสรอย ณ ลำปาง ในปีพ.ศ.2476
การจัดตั้งเทศบาลเมืองลำปาง อันเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการออกแบบใหม่โดยคณะราษฎร ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ.2478 (ก่อนหน้านั้นเป็นระบบสุขาภิบาลที่อำนาจและการบริหารอยู่ภายใต้การปกครองส่วนภูมิภาค ซึ่งไม่สู้มีประสิทธิภาพนัก) ที่มีการเลือกตั้งครั้งแรกในช่วงปีพ.ศ.2479-2480 มีขุนมลารักษ์ระบิน (แพ อินทภู่-เคยดำรงตำแหน่งจากการแต่งตั้งมาก่อนในเดือนสิงหาคม-กุมภาพันธ์ 2479 ปฏิิทินเก่า) เป็นนายกเทศมนตรี [1]


ในกระแสการเปลี่ยนแปลงได้มีการต่อสู้ทางสัญลักษณ์เพื่อแทนที่ความรับรู้จากระบอบเดิม และสิ่ง
สำคัญที่คณะราษฎรได้ให้ความหมายอย่างมากก็คือ การให้ความสำคัญกับชาติและประชาชน ดังที่เราจะเห็นวัฒนธรรมประดิษฐ์จำนวนมากถูกผลิตขึ้น เช่น เพลงชาติไทย แต่งครั้งในปีพ.ศ. 2477 (ทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ คำร้องโดยขุนวิจิตรมาตรา ก่อนที่จะถูกปรับเปลี่ยนในเวลาต่อมา) การประกาศให้วันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ (พ.ศ.2481) การเปลี่ยนชื่อจากประเทศสยามมาเป็นประเทศไทย (พ.ศ.2482) รวมไปถึงการยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การให้ความหมายกับรัฐธรรมนูญ ดังเห็นได้จากการที่รัฐบาลสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (พ.ศ.2482) ที่มียอดเป็นพานแว่นฟ้าที่เรียกกันอย่างลำลองว่า พานรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่น เป็นรูปธรรมและเป็นที่เข้าใจง่าย(แม้จะมีอีกสัญลักษณ์หนึ่งที่ถูกนำมาใช้ก็คือ เรื่องหลัก 6 ประการของคณะราษฎร อันได้แก่ เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ สามัคคี เสรีภาพ การศึกษา ได้นำมาใช้เป็นเลขมงคล และองค์ประกอบหลักในงานสถาปัตยกรรม แต่ก็ยากในการจดจำและทำความเข้าใจ) ขณะที่พานแว่นฟ้าก็มีนัยยะถึงสถานะความศักดิ์สิทธิของรัฐธรรมนูญในตัวมันเอง (แต่อย่างไรก็ตามมีเรื่องเล่าว่า ในสมัยที่คนยังไม่รู้จักรัฐธรรมนูญกันถ้วนทั่ว ว่ากันว่าบางคนเข้าใจผิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นลูกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร และนายกรัฐมนตรี)

พิธีกรรมที่สำคัญที่สืบเนื่องก็คือ
งานฉลองรัฐธรรมนูญ ที่ผนวกเอาความศักดิ์สิทธิ์ของระบอบใหม่รวมเข้ากับความบันเทิงของคนท้องถิ่นต่างๆ กลายเป็นงานสำคัญของเมือง
ลำปางได้ใช้สนามฟุตบอลโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยในการจัดงาน มีการบันทึกไว้โดย อ.สักเสริญ (ศักดิ์) รัตนชัย ว่า ในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2477 ได้มีขบวนแห่งานฉลองรัฐธรรมนูญจังหวัดลำปาง ในขบวนรถมีการอัญเชิญรัฐธรรมนูญจำลองมา และยังมีพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีร่วมขบวนด้วย[2]

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในจังหวัดลำปางได้ปรากฏสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญในที่ต่างๆ
เช่น หน้าแหนบวัดปงหอศาล อ.แม่ทะ ระบุว่าสร้างเสร็จวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2475 แต่เป็นการนับปฏิทินแบบเก่าที่เริ่มต้น ถ้าแปลงพ.ศ.ก็จะกลายเป็น 15 มีนาคม พ.ศ.2476 หรือวัดอื่นๆในแม่ทะ เช่น ชิ้นส่วนที่คาดว่าจะเป็นหน้าแหนบของวัดสบทะ ดาวเพดานวิหารวัดนากว้าว แต่ลักษณะของพานนี้เป็นพานชั้นเดียว(พานแว่นฟ้าจะเป็นพานสองชั้นซ้อนกัน)ก็อาจตีความได้ทั้งสองอย่างคือสื่อถึงรัฐธรรมนูญ หรือเป็นพานที่รองรับพับสาธรรมะทั่วๆไป

แผงคอสองวิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุก
อ.เมือง ที่ระบุว่าอยู่ในปี พ.ศ.2482 เช่นเดียวกันกับเครื่องบนหลังคาของวิหารหลวงวัดปงสนุก(เหนือ) หลังเก่าที่ถูกรื้อไปแล้ว แต่ยังเก็บชิ้นส่วนนี้ไว้ที่พิพิธภัณฑ์ สันนิษฐานว่าน่าจะถูกสร้างขึ้นมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ส่วนทางใต้ของลำปางก็พบมีการใช้สัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญ บริเวณหน้าแหนบวิหารหลวง วัดล้อมแรด อ.เถิน
และยังมีอีกหลายแห่งที่ยังมิได้การสำรวจอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามปัจจุบัน อ.ชาญคณิต อาวรณ์ กำลังทำการศึกษาค้นคว้าอยู่ เชื่อว่าอีกไม่นานเราจะได้ขยายเพดานความรู้เกี่ยวพานรัฐธรรมนูญในเชิงวิชาการและเกร็ดประวัติศาสตร์เพื่อต่อยอดกันต่อไป


[1]ทำเนียบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง (ตั้งแต่พ.ศ.2476-ปัจจุบัน)” และ "ทำเนียบนายกเทศมนตรีเมืองลำปาง" ใน วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดลำปาง (กรุงเทพฯ : กระทรวงมหาดไทย ; กระทรวงศึกษาธิการ, 2544, น.17 และ 19
[2] ศักดิ์ รัตนชัย. คู่มือประวัติศาสตร์ศึกษายุทธเวหาลำปาง เรื่อง ลำปางกับเหตุการณ์ญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2, 2543, น.47

หนังสือแนะนำเพิ่มเติม

ชาตรี ประกิตนนทการ. การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิย
,กรุงเทพฯ : มติชน, 2547
ชาตรี ประกิตนนทการ.
คณะราษฎรฉลองรัฐธรรมนูญ : ประวัติศาสตร์การเมืองหลัง 2475 ผ่านสถาปัตยกรรม"อำนาจ", กรุงเทพฯ : มติชน, 2548
.......................
ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง

ย่ำรุ่ง
พุธ 24
มิถุนา 52