วัดพระธาตุลำปางหลวง โดย คุณ moofight ถ่ายราวๆปี 2551 ภาพจาก http://www.pixpros.net/forums/showthread.php?t=25898

Friday, September 19, 2008

เก็บบรรยากาศงานเสวนา "เมืองเก่านครลำปางฯ" มาฝาก


พิธีเปิดโดย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นายดิเรก ก้อนกลีบ
ที่มาภาพ : ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น



บรรยากาศการสัมมนา
ที่มาภาพ : ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น


การบรรยายเรื่อง “เมืองเก่าลำปางกับโจทย์ว่าด้วยวิกฤตความเป็นตัวของตัวเอง”
โดย คุณภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

ที่มาภาพ : ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น


การบรรยายเรื่อง “พระธาตุหลวงเวียงลำพางกับพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์สำนักสีหล”
โดย ศาสตราจารย์สุรพล ดำริห์กุล คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ที่มาภาพ : ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น


การบรรยายเรื่อง “รถไฟ รถม้า รัษฎา นาฬิกา”
โดย คุณชัยวัฒน์ ศุภดิลกลักษณ์ อดีตผู้จัดการสินเชื่อพิเศษจังหวัดลำปาง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)



การบรรยายเรื่อง “วิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุก ลำปาง”
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ที่มาภาพ : ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น



การเสวนาเรื่อง “เมื่อไหร่ลำปางจะมีหอศิลป์ ?” โดย
1. ดร.นิมิตร จิวะสันติการ นายกเทศมนตรีนครลำปาง
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประสงค์ แสงแก้ว คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
3. คุณอนุศิษฏ์ ภูวเศรษฐ ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน กลุ่มที่ 1
4. คุณปรารถนา หาญเมธี ดำเนินรายการ
ที่มาภาพ : ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น



การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่อง "เมื่อไหร่ลำปางจะมีหอศิลป์ฯ"
ในภาพคือ อ.มงคล ถูกนึก จาก โรงเรียนลำปางกัลยาณี

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า จะมีการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง
“เมืองเก่า นครลำปาง : ประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรม”
ในวันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน 2551 เวลา 8.00-16.30 น.

ณ ห้องประชุม 5 ธันวา ชั้น 4 อาคารสำนักการช่างและกองคลัง สำนักงานเทศบาลนครลำปาง จัดโดย ศูนย์วิทยพัฒนา มสธ. ลำปาง ร่วมกับ เทศบาลนครลำปาง และกลุ่มลูกหลานสืบสายสกุลเจ้าเจ็ดตน

ภาพด้านบนเป็นบรรยากาศของงานสัมมนาที่ผ่านมา

ส่วนข้อสรุปของงานสัมมนาครั้งนี้ นอกจากการนำเสนอบทความวิชาการแล้วที่สำคัญก็คือการตั้งคำถามถึงหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง และทำให้เรื่องนี้กลับมาเป็นประเด็นที่ถกเถียงสาธารณะกันอีกครั้ง หลังจากที่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจางหายไป

การสัมมนาครั้งนี้ยังมีคุณูปการที่สำคัญในการที่นำไปสู่การหารือเรื่องนี้อีกครั้งกับผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ที่มีได้นัดประชุมร่วมกับ ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (ที่รับผิดชอบมิวเซียมสยาม) ผ่านการประสานงานโดย คุณอนุศิษฏ์ ภูวเศรษฐ ในวันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม 5 ธันวา เทศบาลนครลำปางนั่นเอง ในวันดังกล่าวนอกจากจะหารือเรื่องความเป็นไปได้ในการจัดตั้งหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปางแล้ว ยังมีการไปเยี่ยมชมบริเวณศาลากลางจังหวัดหลังเดิม และบริเวณศาลาประชาคมด้วย

จากการดำเนินการดังกล่าวมีแนวโน้มที่เชื่อได้ว่า ผู้ว่าฯดิเรก ก้อนกลีบ เห็นด้วยกับการจัดตั้ง หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง ในรายละเอียด ความคืบหน้าเราจะนำมาเสนอต่อไป

อนึ่งงานสัมมนาวิชาการนี้ หัวข้อทั้งหมดได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือ "2ฟากแม่วัง 2ฝั่งนครลำปาง" ที่จะตีพิมพ์แล้วเสร็จประมาณปลายเดือนตุลาคมนี้
.......................
ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง

ศุกร์ 19

กันยา 51

Friday, September 5, 2008

วัดปงสนุก คว้ารางวัล UNESCO ประเภท Award of Merit


วิหารพระเจ้าพันองค์ก่อนบูรณะ ไม่ทราบปีพ.ศ.
ที่มา :
http://intranet.m-culture.go.th/lampang/Information/ancient/bo10.html


โลโก้รางวัล UNESCO Asia-Pacific Heritage for Cultural Heritage Conservation

ขอแสดงความยินดีกับการที่ วัดปงสนุก ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง คว้ารางวัล 2008 UNESCO Asia-Pacific Heritage Award

ข้อความที่ประกาศอยู่ในหน้าเว็บเพจของ UNESCO สาขากรุงเทพฯ มีดังนี้


Wat Pongsanuk, Lampang, Thailand

The restoration of Wat Pongsanuk provides an inspirational model of community-led conservation in saving a unique Lanna temple.

The project showcases the collective achievements of the monks and the local residents working in close cooperation with traditional craftspersons, local authorities and academic advisors. The restoration works have been thoughtfully and sensitively carried out, with the revival of traditional building and decorative techniques.

The project has also achieved educational aims in teaching local history, as seen in the thoughtful on-site exhibits and the subtle notations of the earlier building footprint.

By empowering the traditional caretakers of the temple, the restoration project ensures that Wat Pongsanuk can continue to be sustained as a vital part of the cultural heritage of Lampang and northern Thailand for many years to come.

ที่มา : 2008 UNESCO Asia-Pacific Heritage Award Winners
http://www.unescobkk.org/index.php?id=8109



หน้าตาเว็บไซต์ UNESCO สาขากรุงเทพฯ ของไทยที่ได้ก็มีอีกสองแห่งคือที่อัมพวา สมุทรสงคราม และอาคารสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ฉะเชิงเทรา

มีเพื่อนชาวลำปางชื่อ คุณณัฐพล โอมอภิญญาณ ช่วยแปลให้ครับ ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ แต่กระนั้นความรับผิดชอบของเนื้อหาทั้งหมดอยู่ที่บรรณาธิการแต่เพียงผู้เดียวครับ

วัดปงสนุก, ลำปาง ประเทศไทย


การบูรณปฏิสังขรณ์ วัดปงสนุก เป็นแบบอย่างหนึ่งของการสร้างแรงจูงใจทางด้านการอนุรักษ์โดยชุมชน ในการรักษาวัดล้านนาโบราณที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

โครงการนี้ได้เสริมสร้างการมีส่วนร่วมเชิงอนุรักษ์ให้กลุ่มบุคคลที่มีหน้าที่ต่างๆในสังคม เช่น พระสงฆ์ และ ชาวบ้านนั้นเอง ซึ่งได้ผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างช่างฝีมือ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และที่ปรึกษาจากสถานศึกษาอย่างใกล้ชิด การบูรณปฏิสังขรณ์ในครั้งนี้ได้ผ่านการไตร่ตรองอย่างดีและคำนึงถึงความละเอียดอ่อนอย่างยิ่งในการฟื้นฟูสิ่งปลูกสร้างทางวัฒนธรรม รวมถึงเทคนิคการตกแต่งประดับประดาอาคาร

โครงการนี้ยังเป็นโครงการที่ตรงกับเป้าหมายทางด้านการศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์วัฒนธรรมท้องถิ่นจากจดหมายเหตุและพงศาวดารที่สืบค้นได้ในปัจจุบัน

อนึ่งจากการร่วมแรงร่วมใจและการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนในวงกว้างในโครงการฟื้นฟูดังกล่าวนั้น ทำให้มั่นใจได้ว่า วัดปงสนุก จะสามารถดำรงอยู่และสำคัญมาก
ขี้นตามลำดับในฐานะที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปางซึ่งเป็นจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย


ภาพงานประเพณีตานข้าวสลากหลวง วัดปงสนุกเหนือ 11 ต.ค.50
ที่มาภาพ :
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=boatboat&month=10-2007&date=25&group=4&gblog=13
...
เรื่องลำปาง ดังก้องโลกอีกครั้งหนึ่ง ใครรู้ข่าวช่วยส่งต่อๆกันไปด้วยนะครับ
จริงๆแล้ว เทศบาล หรือจังหวัดควรมีส่วนร่วมในการแสดงความยินดีกับรางวัลนี้ พวกเราเห็นว่ายังไงครับ
...
ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง

ศุกร์ 05
กันยา 51

Thursday, September 4, 2008

งานใหญ่ว่าด้วยของดีจาก "แม่ทะ" ว่าด้วยการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การอนุรักษ์ศิลปกรรมทางพุทธศาสนาในเขต อ.แม่ทะ จ.ลำปาง


บรรยากาศหน้างาน บริเวณนิทรรศการงานอนุรักษ์ศิลปกรรมพุทธศิลป์ฯในเขต อ.แม่ทะ จ.ลำปาง


บรรยากาศหน้างาน บริเวณนิทรรศการงานอนุรักษ์ศิลปกรรมพุทธศิลป์ฯในเขต อ.แม่ทะ จ.ลำปาง


การเสวนา โดย อ.วิถี พานิชพันธ์ เรื่อง "พุทธศิลป์ลำปาง"

การประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การอนุรักษ์ศิลปกรรมทางพุทธศาสนาในเขต อ.แม่ทะ จ.ลำปาง
ณ วิทยาลัยอินเตอร์เทค จ.ลำปาง โดยศูนย์โบราณคดีภาคเหนือ ม.เชียงใหม่ ร่วมกับ วิทยาลัยอินเตอร์เทคลำปาง

ศูนย์โบราณคดีจัดทำโครงการ "โบราณคดีสัญจรสู่ชุมชน" เรื่อง "การอนุรักษ์ศิลปกรรมทางพุทธศาสนาในเขต อ.แม่ทะ จ.ลำปาง"
เนื่องจากเห็นความสำคัญจากการสำรวจแหล่งโบราณคดีในอ.แม่ทะ แล้วนำไปสู่การค้นพบงานศิลปกรรมที่มีคุณค่าและความสำคัญ
ในแง่ประวัติศาสตร์ศิลปะ โบราณคดี ขณะที่ค้นพบ งานศิลปกรรมมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ขาดการดูแลรักษาที่ถูกวิธี
จึงเห็นว่าควรศึกษารูปแบบและความสัมพันธ์ทางงานศิลปกรรม ที่ควบคู่ไปกับการบริการชุมชนให้พระสงฆ์ เยาวชน
และผู้สนใจในเขตอำเภอแม่ทะมีส่วนร่วมในกิจกรรม เพื่อเน้นความสำคัญกระตุ้นจิตสำนึกในการอนุรักษ์จึงดำเนินโครงการดังกล่าว
นำมาสู่การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการขึ้น

การประชุมครั้งนี้แบ่งเป็นภาคบรรยายและภาคปฏิบัติที่ดึงให้พระสงฆ์ในเขตอ.แม่ทะเข้ามาทำการเรียนรู้การอนุรักษ์เบื้องต้นในอีกโสตหนึ่ง
ในขณะที่การดำเนินงานก็มีการจัดเก็บข้อมูลและทำเป็นระบบทะเบียนและบัญชีโบราณวัตถุที่ส่งมอบให้แก่วัดต่างๆ ทั้งยังทำเอกสาร
ประกอบการประชุมที่มีเนื้อหาที่น่าสนใจ 17 เรื่อง ได้แก่
1. วิหารน้อยแม่ทะ โดย วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์
2. มณฑปปราสาทสถิตสถานแห่งพุทธะ โดย วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ / ฐาปนีย์ เครือระยา*
3. ธรรมาสน์ โดย เธียรชาย อักษรดิษฐ์
4. อาสนะสงฆ์หรือแท่นสังส์ โดย เธียรชาย อักษรดิษฐ์
5. สัตตภัณฑ์ ทิพย์แห่งเขาบริภัณฑ์ทั้ง 7 โดย ฐาปกรณ์ เครือระยา*

6. หีบธัมม์รักษาพระธรรมคำสอน
โดย ฐาปกรณ์ เครือระยา*
7. ผ้าตั้งธรรมหลวง โดย เธียรชาย อักษรดิษฐ์
8.ไม้ประกับธัมม์และไม้บัญชัก โดย จักรพันธ์ ม่วงคร้าม
9. ผ้าห่อคัมภีร์ โดย เธียรชาย อักษรดิษฐ์
10. พระพุทธรูปไม้ โดย เมธี เมธาสิทธิ สุขสำเร็จ
11. จารึกที่ฐานพระพุทธรูปไม้ โดย วีระศักดิ์ ของเดิม*
12. คำจารึกบนพุทธศิลป์แม่ทะ โดย วีระศักดิ์ ของเดิม*
13. ซุ้มไม้แกะสลักประดับบานประตูและหน้าต่าง โดย วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ / ฐาปนีย์ เครือระยา*
14. ซุ้มป่องปิ๋ว สกุลช่างแม่ทะ โดย วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ / ฐาปนีย์ เครือระยา*
15. ขันดอก ในพิธีกรรมทางศาสนา โดย ฐาปกรณ์ เครือระยา*

16. สาเหตุของการเสื่อมสภาพและการอนุรักษ์โบราณวัตถุประเภทต่างๆ
โดย เมธี เมธาสิทธิ สุขสำเร็จ
17. การจัดการภายหลังการอนุรักษ์ โดย ฉัตรแก้ว สิมารักษ์
18. บทสรุป โดย อุษณีย์ ธงไชย
(* คือ ลูกหลานลำปางที่มีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัย)
ซึ่งเอกสารดังกล่าวนับเป็นเอกสารที่แสดงถึงองค์ประกอบของพุทธศิลป์พื้นบ้านได้กว้างขวาง
ในโอกาสต่อไปหากมีโอกาสจะนำเผยแพร่เนื้อหาบางส่วน น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาต่อไป
แต่ในเบื้องต้นคงต้องรอความเห็นชอบจากผู้รับผิดชอบโครงการเสียก่อนครับ
................
ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง

พฤหัส 4
กันยา 51

Monday, September 1, 2008

เรื่องเล่ารถม้าลำปาง "เก็บตกจาก วารสารคนเมือง พ.ศ.2498"

ด้วยภารกิจบางอย่างทำให้ต้องค้นงานทางเน็ตและนับเป็นเรื่องบังเอิญที่น่ายินดีอย่างยิ่ง
ที่ได้เจอบทความและรูปภาพเกี่ยวกับ "รถม้า" ในเว็บไซต์ รถไฟไทยดอทคอม
ซึ่งเป็นเว็บไซต์คนรักรถไฟที่รวมสาระความรู้เกี่ยวกับรถไฟทั่วประเทศไทย

ที่ผมไปเจอเป็นกระทู้สาระวิชาการ, ข้อมูลเทคนิค และประวัติศาสตร์
เป็นการโพสต์ที่ตั้งชื่อหัวข้อกระทู้ว่า "ภาพจากอดีต : รถม้าลำปาง"

ผู้ตั้งกระทู้ คือ black_express
ที่โพสต์ไว้เมื่อ 01/05/2008 2:02 pm

โดยนำข้อมูลมาจาก
วารสาร “ คนเมือง ” ฉบับพิเศษรายเดือน
ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๔ ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๘

ขอขอบพระคุณ คุณ black_express มา ณ ที่นี้ครับ
ด้านล่างต่อไปนี้ ผมคัดลอกมาทั้งหมด จะมีการเน้นข้อความที่ผมจะแก้ไขเพิ่มเติมนิดหน่อยครับ
..........................
สวัสดีครับ...

ช่วงสมัยที่ผมเป็นเด็กโรงเรียนประชาบาลอยู่นั้น ทางพ่อ-แม่ซึ่งเป็นครู ได้บอกรับหนังสือนำมาอ่านหลายหัวชื่อด้วยกัน ทั้งรายเดือน รายปักษ์ พอโตขึ้นมาก็อาศัยหนังสือเหล่านี้แหละครับ เป็นแหล่งหัดอ่าน หัดเขียนนอกเวลาเรียนกันเพลินเชียวล่ะ แต่บางเล่มนั้น ทางบ้านได้บอกรับเป็นสมาชิกตั้งแต่ผมยังไม่เกิด พอย้ายบ้านในภายหลัง หนังสือเหล่านี้ก็พลัดหายไปเป็นเชื้อไฟหุงข้าวไปก็มาก จากฝีมือของยายผม พอหยิบทึ้งเอามาเก็บได้เพียงไม่กี่เล่มเท่านั้น ไม่อยากเก็บเรื่องราวเก่าๆ ที่น่ารู้เอาไว้ดูคนเดียวครับ

โดยเฉพาะเมื่อผมได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ ลุงบุญเสริม สาตราภัย อดีตช่างภาพฝีมือเอกชาวเชียงใหม่ ในเวปไซต์ล้านนา เกี่ยวกับภาพเก่าๆ ฝีมือตนเองที่ว่า ไม่หวงห้ามถ้าใครจะเอาภาพเก่าๆ ลงไปเผยแพร่ จะได้รู้ ได้เห็นกันทั่วๆ ไม่จมอยู่ในลิ้นชักโต๊ะตัวเองเท่านั้น ก็คิดว่าจะเจริญรอยตามลุงบุญเสริมอีกสักคนหนึ่ง

( แต่ถ้าใครเอาไปอ้างจดทะเบียนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หาประโยชน์ใส่ตัวเองล่ะก็ ผมขอแช่งให้เจริญลงๆ สติปัญญามืดทึบทุกชาติๆ ไปด้วย ขอบอก )

สำหรับเรื่องน่ารู้ที่ผมเก็บมาเผยแพร่นี้ จะเป็นสารคดีสั้นประกอบภาพ จากวารสารพิเศษรายเดือน " คนเมือง " ช่วงปี พ.ศ.2497 - 2499 ก่อนผมเกิดด้วยซ้ำไป บางเรื่องก็เคยนำลงในเวปไซต์เราใน version เดิมไปแล้ว เรื่องนี้ก็เช่นกันครับ แต่คิดว่าหลายๆ ท่านอาจเข้ามาเป็นสมาชิกในบ้านนี้ภายหลัง จะได้มีโอกาสได้ชื่นชมอดีตร่วมกันด้วยครับ
.............................
สารคดีสั้นประกอบภาพเรื่องนี้ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ รถม้าลำปาง ซึ่งปัจจุบันนี้ได้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปแล้วครับ

ในฐานะเป็นยานพาหนะรับนักท่องเที่ยวชมตัวเมืองลำปาง จากการโปรโมทของจังหวัดลำปาง ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวต่างๆ ทำให้ต่อชีวิตของรถม้าลำปางซึ่งเกือบจะสูญหายตามกาลเวลานั้น ออกไปได้อีก และเป็นเสน่ห์ที่ใครๆ นึกถึง เมื่อกล่าวถึงจังหวัดลำปาง จะต้องนึกภาพรถม้าลำปางอันเป็นเอกลักษณ์ควบคู่ไปด้วยเสมอ

เมื่อปี พ.ศ. 2458 สมัยของเจ้าบุญวาทย์มานิต ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 รถยนต์จากยุโรปได้เข้ามามีอิทธิพลในกรุงเทพฯ บรรดาเจ้าขุนมูลนายต่างก็เปลี่ยนจากรถม้าหันมานิยมใช้รถยนต์กันมาก บทบาทของรถม้า รถลากต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ จึงลดน้อยลง รถม้าจึงได้กระจายออกไปสู่เมืองหลักของภาคต่าง ๆ ได้แก่ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ แต่ด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ ผู้ประกอบการรถม้าในเมืองดังกล่าวเลิกกิจการไป คงเหลือแต่จังหวัดลำปางแห่งเดียว

การเข้ามาของรถไฟสายเหนือที่มีจุดหมายปลายทางของการเดินทางสิ้นสุดที่สถานีนครลำปางในขณะนั้น ซึ่งเปิดรับขบวนรถโดยสารครั้งแรก เมื่อเถลิงศก วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2459 หรือวันปีใหม่ไทย ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 ในครั้งนั้น มีรถม้าที่เรียกกันว่า รถม้าแท็กซี่ คอยรับผู้โดยสารจากสถานีรถไฟเข้าสู่ตัวเมืองลำปาง อันเป็นจุดเชื่อมต่อกับถนนขึ้นไปสู่จังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย

กิจการรถม้าได้ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นเป็นระยะเวลาได้ 34 ปี ได้มีผู้ก่อตั้ง สมาคมล้อเลื่อนจังหวัดลำปาง ขึ้นในปี พ.ศ. 2492 โดยขุนอุทานคดี เป็นผู้ริเริ่มและดำรงตำแหน่งนายกสมาคมคนแรก ที่ได้ร่างกฎระเบียบว่าด้วยสมาคมขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2495 เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง เข้ามาบริหารงานและได้เปลี่ยนชื่อสมาคมเป็น สมาคมรถม้าจังหวัดลำปาง ( The Horse Carriage In Lampang Province ) และได้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมคนที่สอง

ในปี พ.ศ.2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ได้มอบเงินให้แก่เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง และได้ขอรับรถม้าเข้าไว้ในความอุปถัมภ์ ให้รัฐบาลช่วยเหลือสมาคมรถม้า และตั้งกองทุนให้สมาคมรถม้าอีก 1 กองทุน

ปัจจุบัน รถม้าลำปางมีประมาณ 70 คัน และวิ่งพานักท่องเที่ยวชมเมือง ทั้งกลางวัน และกลางคืน มีจำนวน 50 คัน และที่พิเศษ คือ รถม้าได้เข้ามีส่วนร่วมในกิจกรรมงาน วันรำลึกประวัติศาสตร์รถม้ารถไฟนครลำปาง พร้อมกับเฉลิมฉลองศตวรรษใหม่ปี ค.ศ.2000 ในวันเถลิงที่ 1 เมษายน พ.ศ.2543 และถือเป็นประเพณีถึงทุกวันนี้ครับ
......................
รถม้าลำปาง*
ภาพและพากษ์โดย วังก์ รัตนานที

[*วารสาร “ คนเมือง ” ฉบับพิเศษรายเดือน ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๔ ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๘]

ห้าแยกพรหมินทร์ นครลำปาง

คุณ ที่รัก

ผมเชื่อว่าภาพชุด “ รถม้าลำปาง ” ที่คุณอยากได้มานานนักหนาแล้ว ก็คงจะสมใจคุณคราวนี้พร้อมๆ กับจดหมายฉบับนี้เอง เพราะผมได้ส่งมาให้คุณ – แยกซองมากับจดหมายฉบับนี้ และเมื่อผนึกซองภาพชุดส่งมาแล้ว ผมก็คิดได้ว่า – ลำพังแต่เพียงคำอธิบายภาพสั้นๆ คงจะไม่ทำให้คุณรู้จัก “ รถม้าลำปาง ” อย่างพอเพียง ผมจึงจดหมายตามมาอีก – และเชื่อว่าคุณคงได้รับพร้อมภาพชุดที่คุณอยากได้

คุณเคยปรารภอยู่เสมอว่า นครลำปางแปลกกว่าจังหวัดอื่นที่คุณเคยได้เที่ยว , ได้เห็นมาทั่วแล้ว... คุณยังฉงนฉงายไม่หายว่าทำไมที่ลำปางจึงยังคงมี “ รถม้า ” อยู่ได้ ท่ามกลางยานยนต์และล้อเลื่อนสมัยใหม่หลากหลายชนิด และ- ตอนนั้น , ผมก็ตอบคุณไม่ได้...

แต่. เดี๋ยวนี้-ผมบอกคุณได้แล้ว...

“ รถม้าลำปาง ” นั้น เริ่มมีขึ้นเมื่อประมาณ ๔๐ ปีที่แล้วมานี่เอง แต่ที่ยังคงมีอยู่ต่อมาได้จนถึงทุกวันนี้ ผมอยากจะเรียนว่าเพราะการสืบมรดก-และการสนับสนุนคนถิ่นเดียวกันของชาวลำปางมากกว่าอย่างอื่นใด ที่หมู่บ้านพรหมินทร์และสิงห์ชัยริมฝั่งแม่น้ำวัง- ถิ่นกำเนิดพญาพรหมโวหาร รัตนกวีของลานนาไทย หมู่บ้านทั้งสอง- มีครอบครัวของชาว “ รถม้า ” ตั้งอยู่นับร้อยหลังคาเรือน ทุกบ้านทุกครอบครัวยังชีพด้วย “ รถม้า ” เป็นอาชีพหลัก และสีบมรดกติดต่อกันมาไม่ขาดสาย หมู่บ้านทั้งสองนั้น , หากจะเรียกว่า “ นิคมของชาวรถม้าลำปาง ” ก็เห็นจะได้ รถม้าเป็นล้อเลื่อนของชาวลำปางแท้ๆ และก็เพราะเหตุนั้น , ชาวลำปางจึงสนับสนุนคนถิ่นเดียวกันเต็มที่ ลำปาง , ถึงแม้จะมีสามล้อไม่น้อยกว่าจังหวัดอื่นๆ แต่ขณะเดียวกัน , รถม้าลำปางก็ยังป็นที่นิยมของผู้โดยสารอยู่ จะเห็นได้จาก “ ปริมาณ ” ของรถม้าได้มีมากขึ้นตามวันเวลา จากเรือนสิบเป็นเรือนร้อย – ซึ่งขณะนี้มีถึง ๒๐๐ กว่าคันแล้ว จนกระทั่งทุกวันนี้ , ไม่ว่าจะย่างก้าวไปในย่านชุมนุมชนตรงไหน สถานีรถไฟ , ตลาดสด , โรงภาพยนตร์ และอื่นๆ จึงมีรถม้าจอดรอคอยรับผู้โดยสารอยู่เป็นทิวแถว

ขอเสียเถิด , คุณอย่าได้คิดว่าอาชีพกรรมกรขับรถม้าเป็นงานที่ต่ำทรามเลย มันเป็นสัมมาอาชีวะ – เป็นงานสุจริต และเป็นสมบัติของคนท้องถิ่นแท้ๆ “ รถม้า ” ไม่ได้ล้างผลาญเงินตราต่างประเทศเหมือนรถยนต์ หรือสินค้าฟุ่มเฟือยอื่นๆ ขณะเดียวกัน , อาชีพรถม้าก็สามารถมีรายได้เลี้ยงครอบครัวให้มีความสุข และส่งบุตรธิดาเข้าศึกษาชั้นสูงได้ไม่น้อยงานอย่างอื่นใด

เมื่อพูดถึง “ นิคมของรถม้าลำปาง ” ผมก็อยากจะบอกคุณว่า – ที่ผมเรียกเช่นนั้นไม่ได้เกินความจริงแต่อย่างใดเลย คุณคิดดูซี , หมู่บ้านพรหมินทร์และสิงห์ชัยซึ่งอยู่แทบฝั่งแม่วังนั้น สองหมู่บ้านนี้มีบ้านนับร้อยครัวเรือน ทุกบ้าน – อย่างน้อยก็มี “ รถม้า ” คันหนึ่ง – ม้าคู่หนึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัว และด้วยรถคันหนึ่ง – ม้าคู่หนึ่งนั้นเอง ที่ราษฎรสองหมู่บ้านนั้นดำรงชีพอยู่ได้ไม่เดือดร้อน “ นิคมรถม้า ” นอกจากจะเป็นแหล่งรวมของกรรมกรรถม้าแล้ว ที่นั่น , ยังมีโรงงานสร้างและซ่อมส่วนต่างๆ ของรถม้าขึ้นเอง – จากวัตถุซึ่งหาได้จากท้องถิ่นอีกด้วย “ รถม้า ” จึงอาจเรียกได้สนิทปากว่า เป็นผลิตภัณฑ์ของลำปางแท้ๆ

จาก “ โรงงาน ” กลางนิคมของชาวรถม้านั่นเอง ที่ผลิตและสร้างรถม้าออกวิ่งรับส่งผู้โดยสารคันแล้วคันเล่า และจาก – รถคันหนึ่ง ม้าคู่หนึ่งนั่นแหละ ที่ตระเวนหาเงินรายได้มาเลี้ยงครอบครัว – พ่อแม่ , ลูกเมีย , ได้ตลอดมาและตลอดไป

ด้วยเหตุที่ “ รถม้า ” มีมาด้วยน้ำมือของคนลำปางแท้ๆ อย่างผมเล่ามาแล้ว จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ชาวลำปางจะสนับสนุน “ สมบัติพื้นบ้าน ” ของเขาอย่างเต็มภาคภูมิ ซึ่งนั่นย่อมหมายรวมไปถึงว่า – จนกระทั่งทุกวันนี้ “ รถม้า ” จึงยังคงมีอยู่ ท่ามกลางยานยนต์สมัยใหม่ และผิดกับท้องถิ่นอื่นๆ ที่สมัยหนึ่งก็เคยมี “ รถม้า ” มาเหมือนกัน แต่บัดนี้ , ไม่มีเหลืออยู่อีกแล้ว

จดหมายฉบับนี้ , ผมอยากจะเขียนให้ละเอียดกว่านี้ , ยาวกว่านี้ – แต่เมื่อนึกขึ้นได้ว่าอีกไม่นานนัก , คุณก็จะมาลำปางด้วยตัวเอง... มานั่งรถม้าด้วยตนเอง... ผมจึงคิดว่า , เท่าที่เล่ามาพอสังเขปแล้วนี้ อย่างน้อยที่สุดก็คงพอช่วยให้คุณรู้จัก “ รถม้าลำปาง ” ขึ้นมากกว่าเดิมไม่ใช่หรือ ?

ผมจะรอคอยวันที่คุณจะมาถึงอยู่เสมอ และนอกจากนั้น , เป็นอันหวังได้ว่า ทันทีที่คุณเหยียบชานชาลาสถานีนครลำปาง “ รถม้า ” ก็ได้เทียบคอยคุณอยู่ด้วย เพื่อนำเรามาพบกันดังที่ใจเราปรารถนา

เหมือนเคยตลอดไป
เพื่อนสนิทของคุณ
.......................

ที่ลำปางในปัจจุบัน ( หรือเขลางคนครในอดีต ) ทุกหนทุกแห่งบนท้องถนน ทั้งคนท้องถิ่นและอาคันตุกะไม่มีวันจะหลีกรถม้าได้พ้น ไม่ว่าจะเป็นตรอก , ซอก , ซอย , หรือถนนใหญ่ เฉพาะอย่างยิ่งสถานีรถไฟ , ตลาดสด , และโรงภาพยนตร์ อันเป็นย่านชุมนุมชน จะมีรถม้าจอดรอรับผู้โดยสารอยู่เป็นทิวแถว รถม้าจึงได้กลายเป็น “ สัญลักษณ์ “ อย่างหนึ่งของลำปาง เพราะเกือบจะกล่าวได้ว่าในเมืองไทย , ไม่มีรถม้าที่ไหน “ เหลืออยู่ ” อีกแล้ว


ชีวิตประจำวันของคนรถม้าลำปางเป็นชีวิตที่น่าเห็นใจ เพราะต้อง “ ตื่นก่อนและนอนทีหลัง “ ตามแบบฉบับของผู้ที่เกิดมาเพื่อรับใช้ประชาชน ชาวรถม้าที่นำรถออกตระเวนรับส่งผู้โดยสารเป็นประจำวันนั้น ต้องตื่นแต่ก่อนไก่และต้องนึกถึงท้องของสัตว์คู่ยากก่อนท้องของตัวเอง ฉะนั้นม้าทุกตัวก่อนจะนำไปเทียมรถจะต้องป้อนอาหารให้อิ่ม เพราะม้าก็เช่นเดียวกับกองทัพซึ่งนโปเลียนบอกว่าต้อง “ เดินด้วยท้อง ”


ลำปางก็เหมือนจังหวัดอื่นๆ ที่เจริญแล้วทั้งหลาย มีรถยนต์ ( รถเก๋งโอ่อ่าและจิ๊ปหลังสงคราม ) มีสามล้อ , มีจักรยาน ( ทั้งติดเครื่องและล้อถีบ ) อยู่มากมาย แม้กระนั้นแล้ว “ รถม้า ” ก็ยังเป็นที่นิยมของผู้โดยสารอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะว่า , ชาวลำปางรู้อยู่ท่วมหัวใจว่า รถม้าเป็นสมบัติของท้องถิ่น , เป็นอาชีพของชาวลำปางเอง ที่หมู่บ้านพรหมินทร์และสิงห์ชัยแทบฝั่งแม่วังนั้น เป็นศูนย์กลางของรถม้า ผลิตขึ้นที่นั่น , มีโรงงานซ่อมที่นั่น , และพูดได้ว่าเป็นหมู่บ้าน “ รถม้า ” ล้วนๆ ทุกหลังคาเรือนยังชีพอยู่ด้วย “ รถม้า ” ทั้งนั้น


ออกจากบ้านแต่อรุณไม่ฉาบขอบฟ้า กลับมาก็ย่ำสนธยา โดยที่ทั้งคนขับและม้าต่างก็เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามาตลอดวัน พอกลับถึงบ้าน , เจ้าของก็จะนำ “ นักวิ่งทนที่ไม่มีวันตับแตกตาย ” เดินวนเวียนไปรอบๆ ลานบ้านอันร่มรื่น เพื่อให้รับลมเย็น – จนเหงื่อแห้งแล้วพาไปอาบน้ำ จากนั้นก็ถึงเวลาอาหารมื้อเย็น – หมดภาระไปวันหนึ่ง รถม้าทุกคันเจ้าของจะมีม้าไว้สองตัวเพื่อสับเปลี่ยนกัน – “ ไอ้ผ่าน ” วิ่งรอบกลางวัน – ตกกลางคืนก็ได้พักและตกเป็นหน้าที่ของ “ ไอ้เมฆ ” ที่จะต้องวิ่งทนแทนบ้าง


ที่บ้านพรหมินทร์และสิงห์ชัย อันเป็นนิคมของชาว “ รถม้า ” ทุกหลังคาเรือนจะมีรถม้าเป็นสมบัติส่วนตัว... มีบ้านแบบไตยวน ( คนเมือง ) เป็นที่พักอาศัย... มีลูกหลานสืบสกุลและรับมรดก “ รถม้า ” ผู้ชายก็ทำหน้าที่สารถี... ผู้หญิงรับภาระทางบ้าน... ที่ยังเด็กและวัยรุ่นก็ช่วยจัดหาอาหารให้ม้า หรือฝึกหัดที่จะรับหน้าที่แทนผู้ใหญ่ต่อไป ด้วยประการฉะนี้เอง , รถม้าลำปางจึงยังคงมีอยู่ – และจะต้องมีอยู่ตลอดไป ผิดกับท้องถิ่นอื่นซึ่งแม้บางครั้งจะเคยมี – แต่บัดนี้แม้แต่ซากก็ไม่มีเหลือแล้ว...

เพราะเหตุที่ “ รถม้า ” ต้องอาศัยแรงม้าจริงๆ ไม่ใช่ “ แรงม้า ” ที่เป็นเครื่องยนต์เยี่ยงรถยนต์สมัยใหม่ ดังนั้น , เมื่อว่างจากงานประจำวันหน้าที่ของ “ คนทางบ้าน ” ก็คือการเตรียมอาหารสำหรับม้าให้พรักพร้อม อาหารประจำอันเปรียบประหนึ่ง “ น้ำมันเชื้อเพลิง ” ของม้ามีฟางแห้งที่หั่นหยาบๆ ผสมกับรำอ่อนคลุกน้ำ เพื่อให้กินสะดวก , ย่อยง่าย , และอิ่มทน งานจัดอาหารม้าประจำวันเช่นนี้ “ คนทางบ้าน ” ซึ่งบางทีก็ลูกหรือหลานก็รับเอาไปจัดเตรียมไว้ไม่มีขาดตกบกพร่อง เพราะเป็น “ หน้าที่ ” อย่างหนึ่งในชีวิตประจำวัน...


กลางหมู่บ้านอันเป็น “ นิคม ” ของรถม้าลำปางนั้น มีโรงงานสร้างและซ่อมรถม้าอยู่เป็นประจำ ส่วนประกอบทุกชิ้นล้วน Made in Lampang ทั้งสิ้น โดยมีนายช่างผู้ชำนาญและผ่านการประกอบอาชีพขับขี่ “ รถม้า ” มาแล้วนับสิบปี เป็นผู้อำนวยการและดำเนินงานสร้าง – ซ่อมส่วนประกอบทุกชิ้นของรถม้าขึ้นมาด้วยมือของเขาเองทั้งสิ้น รถม้าทุกคันที่กระจายอยู่ทั่วเวียงลำปาง รับผู้โดยสารเที่ยวแล้วเที่ยวเล่านับเป็นเวลา ๔๐ ปีเศษมาแล้ว ก็ล้วน “ ผลิต ” จากหมู่บ้านพรหมินทร์และสิงห์ชัยนี่เอง...


เมื่อประกอบเป็นตัวรถแล้ว... มีม้าใหม่ไม่เคยเทียมรถและวิ่งทนมาก่อน ก็จำเป็นต้องฝึกหัดให้มันคุ้นคนและท้องถนนเสียก่อน โดยจัดเทียมรถมีสารถีและผู้โดยสาร ( สมมุติ ) แล้วมีคนจูงบังเหียนพามันออกวิ่งวนเวียนไปตามถนนสายต่างๆ ฝึกกันอยู่เช่นนั้น , วันแล้ววันเล่าจนกว่าม้าจะคุ้นกับ “ งาน ” ของมันและเข้าใจ “ สัญญาณ ” จากนายสารถีเพียงพอ จึงจะออกวิ่งรับส่งผู้โดยสารหากินได้ต่อไป ไม่ใช่ว่ามีม้าเอาเข้าเทียมรถแล้วก็ใช้ได้ ชีวิตของ “ รถม้าลำปาง ” เริ่มต้น และเป็นมาเช่นนี้เอง.
................................
ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง
จันทร์ 1
กันยา 51