วัดพระธาตุลำปางหลวง โดย คุณ moofight ถ่ายราวๆปี 2551 ภาพจาก http://www.pixpros.net/forums/showthread.php?t=25898

Thursday, December 28, 2006

พบกับ "สะดวกเสวนา ครั้งที่8 [Party ความคิด มองชีวิตในหนัง] "


ออกแบบโปสเตอร์โดย ศักดิ์สิทธิ์ คำหลวง

เตรียมพบกับกิจกรรมล่าสุดรับ ปีหมู 2550 นี้ ด้วยโปรแกรม สะดวกเสวนาครั้งที่ 8 "Party ความคิด มองชีวิตในหนัง" ณ ตึกเสาจินดารัตน์ 2474 ถนนทิพย์ช้าง ใกล้ไปรษณีย์ ติดร้านของหวาน ตาดูหนัง-หูฟังเสวนา-ปากแลกเปลี่ยนมุมมอง-จมูกกรุ่นกลิ่นเครื่องดื่มอุ่นๆ-ลิ้นรับรสของว่างระหว่างการเดินทางของสารพัดความคิด ทุกวันเสาร์ ตลอดเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ 50 ที่จะถึงนี้

กำหนดการฉายภาพยนตร์
ประจำเดือน มกราคม – กุมภาพันธ์ 2550

วันเสาร์ที่ 6 มกราคม ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด เรื่อง Patch Adams
วันเสาร์ที่ 13 มกราคม ภาพยนตร์ไทย เรื่อง โหมโรง
วันเสาร์ที่ 20 มกราคม ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด เรื่อง Wizard of Oz
วันเสาร์ที่ 27 มกราคม ภาพยนตร์ญี่ปุ่นผลงานของ อาคิระ คูโรซาวา


วันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด เรื่อง Casablanca
วันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ ภาพยนตร์เกาหลี เรื่อง The Bow
วันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด เรื่อง Citizen Kane
วันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ เสวนา “มองชีวิตในภาพยนตร์”

จัดและนำเสวนา โดย : กลุ่ม Neo Film Watcher มหาวิทยาลัยโยนก ลำปาง

กลุ่ม Neo Film Watcher และ กิจกรรม “ปาร์ตี้ความคิด – มองชีวิตผ่านหนัง” คืออะไร ?

Neo Film Watcher หรือ กลุ่ม “คอหนังหน้าใหม่” เป็นกลุ่มนักศึกษาที่ศึกษาวิชา RATV 309 ซึ่งเป็นวิชาที่ว่าด้วย สุนทรียศาสตร์ของภาพยนตร์ วีดีโอ ทฤษฎีและการวิจารณ์ ของคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยโยนก นักศึกษากลุ่มนี้ได้รวมตัวกันโดยมีวัตถุประสงค์จะใช้วิชาความรู้ที่ได้จากการศึกษาเล่าเรียนในศาสตร์ดังกล่าว สร้างคุณประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคม โดยจัดฉาย ภาพยนตร์ทรงคุณค่า ที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสนุกสนานให้แง่คิดที่มีคุณค่าต่อชีวิต ต่อคุณธรรม ส่งเสริมความเป็นมนุษย์ และมีความงามด้วยศิลปของภาพยนตร์ สำหรับผู้สนใจโดยไม่คิดมูลค่า ภายใต้ชื่อกิจกรรม “ปาร์ตี้ความคิด – มองชีวิตผ่านหนัง” ทั้งนี้ได้รับความอนุเคราะห์สถานที่สำหรับจัดกิจกรรมจาก คุณภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ แห่ง “ล้านคำลำปาง” ตลอดจนได้รับความกรุณาร่วมให้ทัศนวิจารณ์โดยนักคิดที่เป็นประดุจพลังเพื่อคนรุ่นใหม่ จากสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำทั้งของภาครัฐและเอกชน

นักศึกษาผู้รับผิดชอบ
น.ส.ธิษณา ตราหทัย
น.ส.พัชริดา กุศลทรัพย์
น.ส.เสาวนิต ปงกาวงศ์
น.ส.ปาริณา ละกะเต็ม
น.ส.เพ็ญภา โสทัด
น.ส.ธัญวรรณ จันทร์อินทร์



ติดต่อสอบถามและ สำรองที่นั่ง(จำนวนจำกัด 20-25 คนเท่านั้น) ได้ที่ คุณเอิง 086-5119608


ผู้สื่อข่าว on Lampang : เปิดโลกลำปาง


พฤหัส 28 ธันวา 49





ภาพกราฟฟิกแสดงที่ตั้งของ ตึกเสาจินดารัตน์ 2474 สถานที่จัดงานสะดวกเสวนา ครั้งที่ 8 "ปาร์ตี้ความคิด มองชีวิตในหนัง" [ถ่ายเมื่อ 19 ธันวา 49]

Tuesday, December 26, 2006

สรุปข่าวสร้างสรรค์ในลำปางที่พอจะมีอยู่บ้าง (3)


อาคารวัฒนธรรมในสวนเขลางค์ฯ จะได้รับการปรับปรุงจัดทำเป็นแหล่งเรียนรู้ [ภาพโดย ธิดารัตน์ ไชยยาสืบ 27 ธันวา 49]


ภาพหุ่นจำลอง การจัดแสดงภายใน อาคารวัฒนธรรมเดิม ในสวนสาธารณะเขลางค์นคร [ภาพโดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ 25 ธันวา 49]


ภาพหุ่นจำลอง แสดงรายละเอียดภายใน [ภาพโดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ 25 ธันวา 49]


จะปรับปรุงด้านหลัง ด้วยการต่อมุขเพื่อเชื่อมโยงกับถนนด้านข้างสวนเขลางค์ฯ และหอสมุดประชาชนเทศบาลนครลำปาง [ภาพโดย ธิดารัตน์ ไชยยาสืบ 27 ธันวา 49]

"เปลี่ยนอาคารวัฒนธรรมในสวนเขลางค์ฯ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์"

จากการประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา ณ สำนักงานเทศบาลนครลำปาง ทำให้ได้ทราบถึงโครงการ ก่อสร้างแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่เกี่ยวกับความเป็นมา ประวัติศาสตร์ของเมืองลำปาง โดยการปรับปรุงอาคารวัฒนธรรม เดิมที่อยู่ใน สวนสาธารณะเขลางค์นคร ซึ่งรวมอยู่ในแผนการปรับปรุงสวนฯในปีหน้า ที่น่าสนใจก็คือ แนวคิดที่จะเชื่อม หอสมุดประชาชนเทศบาลนครลำปาง กับ แหล่งเรียนรู้ดังกล่าวพร้อมๆไปกับงานสวนฯที่กล่าวมาแล้ว ภายในอาคารจะ ประกอบด้วย
1.ประชาสัมพันธ์
2.นิทรรศการ
โดยแบ่งเป็นส่วนย่อยๆอีก 6 ส่วนก็คือ
2.1 "ภูมิประเทศ"
2.2 "นครลำปางในอดีต"
2.3 "สลุงหลวงและงานประเพณี"
2.4 "ศาสนา"
2.5 "รถม้าเมืองลำปาง"
2.6 "ของดีเมืองลำปาง"

ผลงานการออกแบบ โดย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อนึ่ง เนื่องจากการจัดผังอาคารนี้จำเป็นต้องสัมพันธ์กับอาคารหอสมุดฯ ดังนั้นจึงมีการกลับด้านหน้าด้านหลังของอาคารวัฒนธรรมเดิม กล่าวคือ เปลี่ยนด้านหลังอาคารให้เป็นด้านหน้า เพื่อเชื่อมโยงกับกิจกรรม และผู้คนด้านนอก

อังคาร 26 ธันวา 49
ผู้สื่อข่าว on Lampang : เปิดโลกลำปาง

Friday, December 22, 2006

สรุปข่าวสร้างสรรค์ในลำปางที่พอจะมีอยู่บ้าง (2)


ผู้เข้าร่วมเสวนา (จากซ้ายไปขวา) ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, ศักดิ์สิทธิ์ คำหลวง, สุพจน์ สุขกลัด, ชาติชาย เชษฐสุมน [ภาพโดย ทัศนีย์ ขัดสืบ 21 ธันวา 49]


"โลกของโซฟี(Sopie's world) โดย โยสไตน์ กอร์เดอร์" ที่ อ.ศักดิ์สิทธิ์ คำหลวง กล่าวถึง [ภาพจากhttp://www.tarad.com/kledthaishopping/product.detail.php?lang=th&id=145309#]


"หนังสือชุดของคาลิล ยิบราน" นักเขียนที่ อ.สุพจน์ สุขกลัด กล่าวถึงว่า อ่านให้แรงบันดาลใจในยามที่ท้อแท้ [ภาพจาก http://www.saengdao.com/promotion.html]

พฤหัสบดี 21 ธันวาคม 49 เวลา 17.30 น. "สะดวกเสวนา ครั้งที่7 ...อ่านคน อ่านสื่อ อ่านหนังสือ อ่านชีวิต" โดย กลุ่มล้านคำลำปางและเพื่อน จบลงไปแล้วกับ สะดวกเสวนา ครั้งที่ 7 นำเสวนา ด้วยอาจารย์นักอ่านทั้งสามท่าน 3 สถาบัน คือ อ.ศักดิ์สิทธิ์ คำหลวง LCCT, อ.สุพจน์ สุขกลัด จาก ม.โยนก, ดร.ชาติชาย เชษฐสุมน จาก ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และได้รับเกียรติจาก อ.ปีเตอร์ คอลลี่ย์ อาจารย์ฝรั่งและศิลปิน เพื่อน อ.สุพจน์ มาร่วมตั้งคำถามกันด้วย เริ่มต้นด้วย อ.ศักดิ์สิทธิ์ หรือพี่เชน ชูประเด็น ดวงตาที่เป็นสัญลักษณ์ของ"การเห็น" "การเรียนรู้" ในบริบทสากล ก่อนจะเชื่อมโยงมาถึง การเรียนรู้ในบริบทไทย ที่ผ่าน "บ้าน-วัด-โรงเรียน"อันเป็นที่กังขาว่า ระบบดังกล่าว ตายแล้วหรือไม่ และให้ความสำคัญไปที่ แก่นของศาสนาพุทธ / ขณะที่ อ.สุพจน์ กล่าวถึงความขัดแย้งในตัวเองผ่านประสบการณ์ชีวิต ในเชิงอุดมคติผ่านความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่กลายมาเป็น ความไร้แก่นสารในองค์กรธุรกิจบันเทิง ซึ่งถือเป็น "8ปี ที่ ว่างเปล่าของชีวิต" ขณะที่วีรบุรุษในใจ มาจากการอ่านหนังสือ คือ อับราฮัม ลินคอล์น : Abraham Lincoln (ค.ศ.1809-1865) ประธานาธิบดีอเมริกา, ดังเต้ : Dante Alighieri (ค.ศ.1265-1321) กวีชาวอิตาเลียน/ ดร.ชาติชาย หรือพี่โด่ง มองว่า เราไม่ได้อ่านเฉพาะหนังสือ แต่เราอ่านคน อ่านพฤติกรรม และสิ่งที่เป็นนามธรรม มาก่อนที่เราจะอ่านหนังสือด้วย


"เจ้าชายน้อย โดย อังตวน เดอ แซงเตก ซูเปรี"หนังสือน้อยๆ ที่ ดร.ชาติชาย เชษฐสุมน(พี่โด่ง) แนะนำ แล้ว อ.ศักดิ์สิทธิ์ยังชี้ให้เห็นความลึกซึ้งของปรัชญา เอ๊กซิสฯ ที่แฝงอยู่ด้วย
[จาก http://www.prachatai.com/05web/upload/column/library/20051217_1.jpg]

"เพื่อนสนิท" สร้างจากบทประพันธ์ "ไปรษณีย์สีแดง"ของอภิชาต เพชรลีลา แต่พัวพันกับบทประพันธ์อมตะ "เจ้าชายน้อย"กะเค้าด้วย
[ภาพจาก http://www.bornproject.com/filmclub/review.php?idreview=107010403]


Professor Peter Colley จาก Texas Wesleyan University แลกเปลี่ยนความคิดเห็น [ภาพโดย ทัศนีย์ ขัดสืบ 21 ธันวา 49]


บรรยากาศงานเสวนา ท่ามกลางความคึกคักของวัยเยาว์(1) [ภาพโดย ทัศนีย์ ขัดสืบ 21 ธันวา 49]


บรรยากาศงานเสวนา ท่ามกลางความคึกคักของวัยเยาว์(2) [ภาพโดย ทัศนีย์ ขัดสืบ 21 ธันวา 49]


บรรยากาศงานเสวนา ท่ามกลางความคึกคักของวัยเยาว์(3) [ภาพโดย ทัศนีย์ ขัดสืบ 21 ธันวา 49]

ยกสอง พี่เชนเริ่มด้วยหนังสือ "Sophies's world หรือ โลกของโซฟี" แต่งโดย โยสไตน์ กอร์เดอร์ / อ.สุพจน์ ยกประสบการณ์ ที่หนังสือของ คาลิล ยิบราลให้แรงบันดาลใจ ด้วยประโยคที่ว่า "ความมืด คือ รุ่งอรุณที่รอการกำเนิด" หรือ คำสอนที่จะทำยังไงให้อยู่กับมิตรไม่ให้เป็นศัตรูที่ว่า "เสาวิหารถ้าใกล้ชิดไปก็ไม่งาม และไม่มีประโยชน์เท่าที่ควรจะเป็น" / พี่โด่ง หยิบ "เจ้าชายน้อย" เล่าถึง จินตนาการที่ปรากฏและซ่อนอยู่ แนะให้อ่านระหว่างประโยค อ่านระหว่างบรรทัด
ยกสาม พี่เชน แบ่งประเภทหนังสือเป็น 3 อย่างคือ ประเภทฮาว-ทู ที่เป็นชุดประสบการณ์ ประเภทตำรา ที่หนักภาษาทางวิชาการ อาจจะแห้งแล้งไปบ้าง และประเภทวรรณกรรม / อ.สุพจน์ ยกสถิติมาให้ดูว่าปีนึง คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยปีละ 5 เล่ม สิงค์โปร์ 17 เล่ม อเมริกา 50 เล่ม และยังชี้ให้เห็นว่า คนไทยชอบฟัง ชอบดูทีวี ทำให้ขาดวิจารณญาณ เชื่อถือในข่าวลือ / พี่โด่ง มองว่า เราไม่สอนให้อ่านสื่อ บางอย่างที่ไม่ดีก็อาจนำมาเป็นประโยชน์ได้ เช่น ในน้ำเน่า เรายังสามารถช้อนลูกน้ำเอามาทำประโยชน์ได้ แต่เราต้องเรียนรู้วิธีช้อน ว่าจะทำอย่างไรด้วย

2 ชั่วโมงผ่านไป เป็นการเปิดเวทีแลกเปลี่ยน อ.ชลาพันธุ์ อุปกิจ แลกเปลี่ยนเรื่องสื่อในฐานะสื่อสารมวลชน มีการพาดพิงถึง พฤติกรรมสีเทาของสื่อในเมืองหลวงไว้อย่างน่าสนใจ / คุณทัดเทพ หมอสมบูรณ์ เสริมพี่โด่งว่า ชอบใจที่พูดถึงการติดปัญญาให้นักศึกษา หากการเสพสื่อเหมือนกับกินข้าว ก็เปรียบได้กับที่ว่า เราจะกินเพื่ออยู่ หรืออยู่เพื่อกิน นอกจากนั้นก็ยังมีเสียงที่หลากหลายจากเยาวชน เข้ามาแลกเปลี่ยนในประเด็นต่างๆ เช่น "เรื่องเจ้าชายน้อย น่าจะเป็นหนังสือที่ให้ผู้ใหญ่อ่านเพื่อรู้ว่าควรจะทำยังไงกับเด็ก" "หนังสือราคาแพงเกินไป" "หนังสือบางคราเนื้อหาก็ไม่ชวนอ่าน" "ห้องสมุดน่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะทางปัญญาให้บ้านเมืองได้มากกว่าที่เป็นอยู่"

การเสวนาจบลงที่เวลาประมาณ 21.00 น. อย่างเต็มอิ่ม อย่างไรก็ตาม อ.ปีเตอร์ ยังทิ้งท้าย ท้าทายได้ว่า น่าจะมีการเสวนาอย่างนี้อีก แต่เปลี่ยนผู้ร่วมเสวนา ให้มี พระสงฆ์ และชาวนาระดับรากแก้ว มาแลกเปลี่ยน ซึ่งน่าจะได้มุมมองที่น่าสนใจแตกต่างออกไป...

ผู้สื่อข่าว on Lampang : เปิดโลกลำปาง
ศุกร์ 22 ธันวา 49

Tuesday, December 19, 2006

พบกับ "สะดวกเสวนา ครั้งที่7 [อ่านคน อ่านสื่อ อ่านหนังสือ อ่านชีวิต] "


โปสเตอร์ สะดวกเสวนาครั้งที่ 7 [อ่านคน อ่านสื่อ อ่านหนังสือ อ่านชีวิต]
ออกแบบโดย อ.ศักดิ์สิทธิ์ คำหลวง


ล้านคำลำปาง เชิญร่วมรายการ
สะดวกเสวนา ครั้งที่ 7 [อ่านคน อ่านสื่อ อ่านหนังสือ อ่านชีวิต]
ในวาระเร่งด่วนแห่งชาติ

กับคำถาม
"ทุกคนก็รู้ว่าอ่านหนังสือแล้วดี แต่จริงๆไม่ค่อยมี ไม่รู้มันเป็นยังไง"
"เราออกมาจากถ้ำเพื่ออะไร"
"การอ่านเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง"

พบกันที่
สำนักงานล้านคำลำปาง ตึกเสาจินดารัตน์ 2474
ถนนทิพย์ช้าง ใกล้ไปรษณีย์ลำปาง ติดกับร้านของหวาน-ลูกชิ้นปิ้ง

วันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม 49
เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป

ผู้ร่วมรายการ
อ.สุพจน์ สุขกลัด(ม.โยนก)
อ.ชาติชาย เชษฐสุมน(ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง)
อ.ศักดิ์สิทธิ์ คำหลวง (ศูนย์ TIC/Graphic Artist-นักเขียน)
ดำเนินการอภิปราย
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม 054-322463
ผู้สื่อข่าว on Lampang : เปิดโลกลำปาง
อังคาร 19 ธันวา 49

Sunday, December 10, 2006

สรุปข่าวสร้างสรรค์ในลำปางที่พอจะมีอยู่บ้าง (1)

จันทร์ 4 ธันวาคม 49 เวลา 09.00 น. "พิธีบวงสรวงบูรพาจารย์และทำบุญทักษิณานุปทาน เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์วิหารจตุรมุข(วิหารพระเจ้าพันองค์) วัดปงสนุก" โดย ชุมชนบ้านปงสนุก


พระเถระอันเป็นที่นับถือของชาวลำปาง และชุมชนปงสนุก องค์กลางคือ "ครูบาอาโนชัยธรรมจินดามุนี"(พ.ศ.2369-2454) [ภาพจากชุมชนบ้านปงสนุก 4 ธันวา 49]


เครื่องบวงสรวงในงาน [ภาพจากชุมชนบ้านปงสนุก 4 ธันวา 49]


นิทรรศการการบูรณะปฏิสังขรณ์วิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุก โดยความร่วมมือจาก คณาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ [ภาพจากชุมชนบ้านปงสนุก 4 ธันวา 49]



ผู้เข้าร่วมงาน มีชาวบ้านจากชุมชนปงสนุกเป็นหลัก ผศ.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ (เสื้อสีเหลืองขลิบฟ้า) อาจารย์ประจำ ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญอีกท่านหนึ่งก็มาร่วมด้วย [ภาพจากชุมชนบ้านปงสนุก 4 ธันวา 49]
.........................................................................................................................................

พฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม 49 เวลา 17.00 น. "งานฉลองเปิดตัวสำนักงานใหม่ กลุ่มล้านคำลำปาง" เริ่มด้วยแถลงการณ์"ล้านคำลำปางที่ผ่านมา และจะเป็นไป" และ สะดวกเสวนา ครั้งที่ 6 "ลำปางในมุมมองของหมู่เฮา" ณ ตึกเสาจินดารัตน์ 2474 ถ.ทิพย์ช้าง ต.หัวเวียง อ.เมือง จ.ลำปาง โดย กลุ่มล้านคำลำปาง


บรรยากาศตึกเสาจินดารัตน์ 2474 กับงานฉลองสำนักงานใหม่และ สะดวกเสวนา ครั้งที่ 6
[ภาพโดย สุรีรัตน์ ฉัตรอังกูร 7 ธันวา 49]



ผู้เข้าร่วมเสวนา (จากซ้ายไปขวา) เจตน์ อริยะสมบัติ, ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, อนุกูล ศิริพันธุ์, ศักดิ์สิทธิ์ คำหลวง [ภาพโดย สุรีรัตน์ ฉัตรอังกูร 7 ธันวา 49]


ผู้เข้าร่วมฟังสะดวกเสวนา ครั้งที่ 6 "ลำปางในมุมมองของหมู่เฮา" [ภาพโดย สุรีรัตน์ ฉัตรอังกูร 7 ธันวา 49]

.........................................................................................................................................

ศุกร์ 8 ธันวาคม 49 เวลา 15.00 น.
"งานฉลองพัดยศ พระราชธรรมาลังการ" ณ วัดบุญวาทย์วิหาร ต.หัวเวียง อ.เมือง จ.ลำปาง

ผู้สื่อข่าว on Lampang : เปิดโลกลำปาง
อาทิตย์ 10 ธันวา 49
อังคาร 19 ธันวา 49 แก้ไข
พุธ 20 ธันวา 49 แก้ไข(2)

Wednesday, December 6, 2006

'on Lampang' เล่าเรื่องอะไร?

"เล่าเรื่องของวิถีชีวิตของผู้คน บนแผ่นดินลำปาง"
ด้วยใจแล้ว เราพยายามจะเล่าขาน เรื่องลำปางบนมิติทางศิลปะ/วัฒนธรรม/ประวัติศาสตร์/นักคิด/วรรณกรรม ที่ "เคลื่อนไหว" บนฐานข้อมูลในทางนี้ที่เรามีอยู่ (ยังสงสัยอยู่ว่า ถ้าหากตายไปวันนี้พรุ่งนี้ ข้อมูลดังกล่าวน่าจะตายไปด้วย เพราะข้อมูลที่เยอะแล้วไม่ได้แยกแยะให้ดี กับคนอื่นแล้ว ก็เป็นขยะดีๆนี่เอง)
ขาดแคลนข้อมูล...
ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของบ้านเรา ซึ่งความจริงแล้วเป็นปัญหากันทั้งประเทศก็คือ การจัดการข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท้องถิ่นที่ไม่ได้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ความจำเป็น หรือการเห็นความสำคัญของข้อมูล เพื่อใช้ในการตัดสินใจจึงมีน้อยอย่างไม่น่าเชื่อ จากประสบการณ์การทำงาน "โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ- ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ลำปาง" ตลอด 3 ปีที่ผ่าน ทำให้ได้สัมผัสกับข้อมูล จำนวนมาก ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจ และหวังอย่างยิ่งว่าจะนำไปต่อยอดออกไปได้อีก

ประเภทของข้อมูลที่จัดเก็บ...
ข้อมูลดังกล่าวขอกล่าวแยกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ โดยมี เว็บบล็อก on lampang สื่อสาร เจ๊าะแจ๊ะ อัพเดทข่าวคราวลำปาง โดยเฉพาะในด้านศิลปะ/วัฒนธรรม/ประวัติศาสตร์/นักคิด/วรรณกรรม ตลอดจนเชื่อมโยง link ของ on lampang ซึ่งมีดังนี้

1.on Lampang art เป็นแหล่งสะสมงานศิลปะทั้งในอดีต และศิลปะร่วมสมัย
2.on Lampang article เป็นแหล่งรวบรวมฐานข้อมูลของบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับลำปาง
3.on Lampang book หนังสือ และเอกสารเกี่ยวกับลำปาง ในเรื่องประวัติศาสตร์-ศิลปวัฒนธรรมจะได้รับการลงบัญชีไว้
4.on Lampang history ถือเป็นการรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ แสดงยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านของบ้านเมืองลำปาง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเกี่ยวข้องไปถึงกับเอกสาร หลักฐานชั้นต้น ตลอดจนหนังสืออ้างอิงต่างๆด้วย
5.on Lampang picture จัดการรวบรวมฐานข้อมูลเกี่ยวกับภาพลำปางทั้งภาพเก่า และภาพปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรม

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ไม่ได้มีการจัดการก็ไม่สามารถจะยังประโยชน์ในการแก้ไขปัญหา หรือสร้างสรรค์ความสามารถใหม่ๆขึ้นมาได้ หากขาด"สติ" "วิจารณญาณ"และ"อิสรภาพ"ตลอดจนถึงพุทธิปัญญา ไม่เช่นนั้นแล้วข้อมูลที่มหาศาลก็เป็นแต่กระแสความคิดที่จมอยู่เบื้องลึกต่อไปแสนนาน กว่าจะมี"ใคร" ฉุกคิดได้และเก็บมันขึ้นมา ในเวลาที่เหมาะสม

อังคาร 5 ธันวา 49
ศุกร์ 8 ธันวา 49 ปรับปรุงแก้ไข
อาทิตย์ 10 ธันวา 49 ปรับปรุงแก้ไข(2)

Tuesday, December 5, 2006

'on Lampang' ทำไม?

"ภาพเก่าๆ ความรู้เก่าๆ ที่ต้องนำมาแลกเปลี่ยนรู้และเข้าใจให้มาก"
รหัสภาพ ก001_หอคำนครลำปาง
[ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
]


'on Lampang'เดิมตั้งใจจะมีไว้เพื่อจัดทำฐานข้อมูลเรื่อง ศิลปะ/วัฒนธรรม/ประวัติศาสตร์/วรรณกรรม บนแผ่นดินลำปาง ซึ่งการจัดการฐานข้อมูล เพื่อการตัดสินใจ หรือเอาไปทำงานอื่นนับเป็นความอ่อนด้อยที่สุดในโลก ของคนไทย (โดยเฉพาะลำปางที่แทบจะไม่มีสถาบันไหนสนใจเก็บข้อมูลพื้นฐานอย่างเป็นจริงเป็นจัง เอาแค่ในรอบ 1 ปี เกิดข่าวใหญ่ๆอะไรขึ้นบ้าง เราก็ลืมไปแล้ว) พอคิดไปคิดมา เห็นว่า ไหนๆเราก็จะเปิดเข้าไปดูของๆตัวเอง และจัดเรียง จัดเก็บมันให้เป็นระบบแล้ว มันต้องเอามาเผยแพร่ แลกเปลี่ยน เจอกับคนบ้าง ไม่งั้นคงไม่ต่างกับชะตากรรมงานวิจัยต่างๆ ที่เปื้อนฝุ่นอยู่บนหิ้งราคาแพง

พื้นที่นี้จึงทำการสื่อสาร ผ่าน"ตัวตน" บางอย่าง ไปถึงท่านผู้รับทั้งที่เป็น"คนลำปาง" และ "ผู้มาเยี่ยม" ผ่านชุด 'on Lampang' ในหลายกรณี หน้าหลักจะทำหน้าที่โยง และโยนประเด็น ตั้งคำถาม กับ สถานการณ์ต่างๆที่เข้ามากระทบ "ลำปาง" หากจะกล่าวคำพูดเดิมๆที่เคยใช้ก็คือ พื้นที่ตรงนี้ก็เพื่อให้เราๆ ท่านๆ "ฮู้คิง" เสียที การจะทำอะไรกับบ้านกับเมือง ต้องลึกซึ้งกับที่มา ที่ไป เหตุปัจจัยอย่างยิ่ง ไม่อย่างนั้น แทนที่จะเป็นการสร้างผลงาน แต่กลับกลายเป็น เพาะปัญหาหน้าใหม่ๆ มาชวนกันปวดหัวเล่นๆ กันเปล่าๆ

อังคาร 5 ธันวา 49
ศุกร์ 8 ธันวา 49 ปรับปรุงแก้ไข(1)
อาทิตย์ 10 ธันวา 49
ปรับปรุงแก้ไข(2)